กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) แถลงผลงานตรวจจับองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ครึ่งแรกของปี 2560 จำนวน 110 ราย ทั้งธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ พบการติดตั้งใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ บนคอมพิวเตอร์ จำนวนกว่า 1,380 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 190 ล้านบาท
โดยมากกว่าร้อยละ 90 ของบริษัทที่ถูกดำเนินคดีฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมานั้น ยังคงอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมด้านชิ้นส่วนรถยนต์ ด้านการออกแบบ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้ซอฟต์แวร์เป็นเครื่องมือหลักในการทำงาน ทั้งภาคการผลิตและบริการ กลุ่มซัพพลายเออร์ ก่อสร้าง ตัวแทนจำหน่าย และธุรกิจบันเทิง เป็นต้น ทั้งบริษัทที่มีขนาดใหญ่ ตลอดจนบริษัทขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี เหล่านี้ต่างอยู่ในกลุ่มที่เจ้าหน้าที่ฯ ได้รับเบาะแสและดำเนินคดีไปแล้วในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ฯ กำลังเร่งเดินหน้าร่วมมือกับเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในการสืบสวนเพิ่มเติมจากเบาะแสที่ได้
ทั้งนี้ พื้นที่ในการตรวจจับไม่ได้จำกัดเฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑลเท่านั้น แต่ยังดำเนินการกับองค์กรที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ปราจีนบุรี สมุทรสาคร สงขลา และภูเก็ต สำหรับซอฟต์แวร์ที่มีอัตราการละเมิดสูงสุด ประกอบด้วยซอฟต์แวร์ของบริษัทไมโครซอฟต์ ออโต้เดสก์ รวมถึงซอฟต์แวร์ของบริษัทไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์
ปัจจุบัน อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 69 แม้ว่าอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ฯ ในประเทศไทยจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงสูงกว่าอัตราการละเมิดโดยเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 61 ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเพียงหนึ่งในมาตรการปราบปรามเท่านั้น ที่ผ่านมายังมีมาตรการป้องปราม ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแสดงออกในรูปแบบของการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการได้เห็นถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น ความเสี่ยงด้านภัยไซเบอร์ที่มาพร้อมกับการใช้งานซอฟต์แวร์เถื่อน
พ.ต.อ.วินัย วงษ์บุบผา รอง ผบก.ปอศ. กล่าวว่า ในยุคที่รัฐบาลสนับสนุนการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ยิ่งมีความต้องการใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บก. ปอศ. ขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการธุรกิจได้กรุณาตรวจสอบซอฟต์แวร์ที่ติดตั้ง ใช้งานกับคอมพิวเตอร์ในองค์กร หากว่าเป็นซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ที่เข้าข่ายเป็นการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิดำเนินคดีในทางอาญาและทางแพ่งกับองค์กรธุรกิจที่ทำการละเมิดฯ ได้ ก็ขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการธุรกิจได้ดำเนินการแก้ไขหรือขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ ความร่วมมือจากภาคธุรกิจจะเป็นส่วนสำคัญยิ่ง ที่จะช่วยลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยได้