กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โชว์นวัตกรรมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในเชิงพื้นที่

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โชว์ผลการสนับสนุน เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานไทยอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานทดแทน ตามแผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน และในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้เปิดเผยว่า ในปัจจุบันกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนแผนงานด้านการอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของประเทศมากว่า 25 ปี โดยมีเจตนารมณ์ในการส่งเสริม และช่วยเหลือการดำเนินงานการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้มีการผลิตและใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ปี 2558 – 2579 (Energy Efficiency Plan : EEP 2015) ตั้งเป้าหมายที่จะลดความเข้ม การใช้พลังงาน (Energy Intensity) ลง 30% ในปี 2579 ที่ผ่านมา ซึ่งกองทุนฯ ได้สนับสนุนโครงการ ด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเป็นจำนวนมาก และสร้างผลงานเชิงประจักษ์ไว้มากมายในทุกภาคส่วน โครงการที่สำคัญๆ ที่เห็นผลดำเนินงานของกองทุนฯ ชัดเจน ได้แก่

1. โครงการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านโนนรัง เป็นหนึ่งในผู้ได้รับการเสนอชื่อ เข้าร่วมการประกวด “พลังงานชุมชนระดับจังหวัด” ในสาขาวิสาหกิจลดใช้พลังงานยอดเยี่ยม ด้วยวิสัยทัศน์ของชุมชน ที่กว้างไกลต้องการให้ชุมชนมีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพไว้ใช้อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง และเป็นศูนย์กลาง ในการพัฒนาชาวนาได้เข้าร่วมโครงการเพิ่มสมรรถนะด้านการบริหารและจัดการพลังงานครบวงจรในชุมชนระดับตำบล และวิสาหกิจชุมขน (SMEs) เมื่อปี พ.. 2556 ชุมชนกลุ่มวิสาหกิจ OTOP ส่งเสริมโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ และมีการต่อยอดโครงการ ในปี 2557 ด้านพลังงาน ปั้นเตาเศรษฐกิจแบบประยุกต์ร้อยเอ็ดและเตาซุปเปอร์อังโล่ ให้แก่ชุมชน และมีการอบรมการอนุรักษ์พลังงาน ในแผนพัฒนาท้องถิ่น เพื่อผลิตข้าวฮางงอก, ข้าวเหนียวดำ(ข้าวกํ่า), ข้าวฮางงอก(ลืมผัว), เส้นมะกะโรนีทำจากแป้ง ข้าวฮางงอก, ผงชงดื่มจมูกข้าวฮางงอก, ผงขจัดสิวเสี้ยนบำรุงผิว, ไอศกรีมทำจากข้าวฮางงอก และกาแฟข้าวฮาง ผสมหมามุ่ย จากการเข้าร่วมโครงการทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน

2. โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง สนับสนุนเทคโนโลยีการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมที่เคยประสบปัญหาภัยแล้ง ให้มีอีกทางเลือกหนึ่งในการบริหารจัดการน้ำ ไม่ให้พืชที่เพาะปลูกเสียหายจากการขาดแคลนน้ำจากภัยแล้ง และช่วยลดต้นทุนจากการทดแทนการใช้น้ำมัน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ จำนวน 846 ระบบ ในพื้นที่ภัยแล้ง 56 จังหวัด การช่วยเหลือเกษตรกรจำนวน 9,571 ราย (ครัวเรือน) ทั่วประเทศ พื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 40,750 ไร่ เพิ่มกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นจำนวน 2,115 กิโลวัตต์ ทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,796 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e)/ปี ทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้มากถึง 199.04 ล้านบาท ซึ่งในจังหวัดขอนแก่นมีพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุน จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 20 แห่ง แบ่งเป็น เพื่อการเกษตร จำนวน 19 แห่ง และประปา จำนวน 1 แห่ง

3. โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน ดำเนินงานโดย บริษัท ยูเอซี แอนด์ ทีพีที เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น โดยมีพื้นที่ในการผลิตไฟฟ้า 30 ไร่ และใช้พื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ประมาณ 2,000 ไร่ สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 15,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน/1 โรง เพียงพอสำหรับนำไปผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาด 3.12 เมกกะวัตต์ โดยในระบบนี้จะใช้หญ้าเนเปียร์สด (พืชพลังงาน) อายุประมาณ 60 วัน เมื่อทำการเก็บเกี่ยว และผ่านกระบวนการหมัก จะเกิดการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic Digestion และ Gas Engine) ได้ผลผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ โดยหญ้าเนเปียร์สด 1 ตัน สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 90 ลูกบาศก์เมตร เปลี่ยนเป็นพลังงาน ไฟฟ้าประมาณ 170 กิโลวัตต์ชั่วโมง/วัน การทำงานของระบบเริ่มจากการนำหญ้าเนเปียร์ ที่ทำการย่อยขนาดแล้ว ส่งเข้าบ่อหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งภายในถังจะมีการควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม เมื่อผลิตก๊าซชีวภาพแล้ว สิ่งที่เหลือจากการผลิต จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของแข็ง ซึ่งสามารถนำไปทำเป็นวัสดุปรับปรุงดินได้ และส่วนของเหลวอาจถูก แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ทำเป็นวัสดุปรับปรุงดิน 2. ใช้ไหลเวียนไปเก็บในถังเพื่อใช้สำหรับ การหมักหญ้าเนเปียร์ในรอบต่อไป

4. โครงการ “Khon Kaen Smart City” 1 ใน 7 ผู้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุน การออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities – Clean Energy) ตามแผนพัฒนาจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีเป้าหมาย ที่จะผลักดันให้จังหวัดขอนแก่นเป็น Smart City นำเทคโนโลยี IoT มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมือง ภายใต้นโยบาย Smart Cities และ Thailand 4.0 ของประเทศไทย เพื่อวิเคราะห์ภาพรวมปัจจัยต่างๆ ในจังหวัดขอนแก่นที่เอื้อต่อ การเป็นจังหวัดนำร่อง ในการนำเทคโนโลยี IoT มาใช้งาน โดยภาคีเครือข่ายภาคเอกชนในจังหวัดขอนแก่นที่มี ความเชี่ยวชาญในโครงการ SMART CITIES โดยมี Smart Parking อำนวยความสะดวกในการจอดรถ Smart Pollution สำหรับตรวจสอบมลภาวะทางอากาศ โดยจะมีเซ็นเซอร์ไปติดที่รถซิตี้บัส 10 คัน รถที่วิ่งไปจะเก็บรวบรวมข้อมูล ในขณะนี้พื้นที่ไหนของเมืองขอนแก่นที่มีค่าฝุ่นละอองของตัวเลขที่สูง การแก้ไขป้องกันน้ำท่วมจะมีเซ็นเซอร์ไปติดอยู่ ในท่อระบายน้ำ บ่งบอกถึงพื้นที่เสี่ยงที่เป็นปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เมื่อน้ำขึ้นมาในระดับนี้จะต้องเตรียมการป้องกันน้ำท่วม ชุดปฏิบัติงานก็จะลงพื้นที่ ซึ่งการขับเคลื่อนเรื่องนี้ จะส่งผลให้นักธุรกิจมีความสนใจจังหวัดขอนแก่นก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อมีระบบดังกล่าวรองรับ ผู้ที่จะมาลงทุน ก็จะเลือกเมืองที่มีพื้นฐานเรื่องนี้ทำให้ส่งผลดีในแง่ของเศรษฐกิจ ดังนั้น จังหวัดขอนแก่นจะดำเนินการขับเคลื่อนเรื่อง Smart city อย่างสมบูรณ์แบบ

และอีกโครงการ KST (KKU Smart Transit) หรือ รถโดยสารขนส่งมวลชนมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นรถขนส่งมวลชนที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยระบบ NGV (Natural Gas Vehicle) โดยการ นำเชื้อเพลิงใหม่ ได้แก่ CBG (Compressed Bio Gas) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงมาจากการอัดก๊าซชีวภาพ ข้อดี คือ เป็นพลังงานชีวภาพและมีการเผาไหม้สมบูรณ์ ให้มลพิษต่ำ โดยเฉพาะปริมาณฝุ่นละออง (Particulate) และควันดำ สะดวก ปลอดภัย ไร้มลพิษ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีระบบ Wi-Fi พร้อมทั้งมี GPS ติดตามรถทุกคัน ซึี่งผู้ใช้บริการ สามารถทราบได้ว่ารถถึงจุดใด ผ่านทาง Application บนมือถือ ความจุผู้โดยสาร 40 คน ด้วยรถยนต์ปรับอากาศ ในชั่วโมงเร่งด่วนจะมีรถบริการ ทุก 5 นาที เริ่มให้บริการในช่วงเวลา 07.00 – 21.30 . ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ โดยมีเส้นทางการเดินรถแบ่งออก เป็น 5 เส้นทาง วิ่งไปกลับในเส้นทางเดิม และที่สำคัญบริการฟรี สำหรับประชาชนทั่วไปทุกคน

กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีบทบาทในการพัฒนาด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ของประเทศมายาวนานกว่า 25 ปี เป็นกลไกสำคัญที่สนับสนุนเป้าหมายของแผนอนุรักษ์พลังงานและแผนพัฒนา พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกให้มีความก้าวหน้าและบรรลุผลสัมฤทธิ์ และมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ ไปสู่ทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการรับรู้ถึงความคุ้มค่า การนำเม็ดเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ไปสนับสนุนแต่ละโครงการ เพื่อให้การใช้พลังงานของประเทศเกิดผลประหยัดและมีประสิทธิภาพ อย่างเป็นรูปธรรมดร.ทวารัฐ กล่าวเพิ่มเติม

ติดตามข้อมูลโครงการและผลงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้ที่ www.enconfund.go.th และ Facebook Enconfund Thailand