“เอดูเคชั่น ออน วิลส์ บาย ซีจีเอช” โครงการความรู้ติดล้อ เปิดโอกาสสู่การสร้างอาชีพอย่างยั่งยืนให้กับเยาวชนไทย

ลองจินตนาการดูว่า หากเด็กสิบขวบสามารถซ่อมคอมพิวเตอร์ได้เอง หรือปลูกผักขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว แถมมีความรู้ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้ตนเองได้ ประเทศชาติจะเดินหน้าไปในทิศทางใด?

  • ข้อหนึ่ง – ประเทศไทยมีแรงงานที่มีประสิทธิภาพสู่ตลาดมากขึ้น พร้อมรองรับโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะเข้ามาในอนาคต
  • ข้อสอง – เด็กไทยรุ่นใหม่มีศักยภาพที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว
  • ข้อสาม – ประเทศเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เกิดการส่งต่อจากชุมชนสู่ชุมชนในทุกตารางนิ้ว

เหล่านี้คือความมุ่งหมายของ บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีจีเอช” ต่อเศรษฐกิจของไทย ผ่านการผลักดันโครงการ “เอดูเคชั่น ออน วิลส์ บาย ซีจีเอช” (Education on Wheels by CGH) โครงการพัฒนาความรู้และทักษะสายอาชีพให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ภายใต้แนวคิด “การลงทุนเพื่อการศึกษาอย่างยั่งยืน” หรือ Sustainable Education Investment ที่ไม่เพียงสนับสนุนเงินทุน แต่ยังพัฒนาหลักสูตรที่ช่วยค้นหาประกายแห่งความสามารถและดึงศักยภาพที่แท้จริงของเยาวชนไทย ให้แตกหน่อออกมาจากเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังของประเทศชาติต่อไป

จากวิสัยทัศน์ของ คุณทอมมี่ เตชะอุบล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) หรือ ‘ซีจีเอช’ ที่มองหาโอกาสในการลงทุนเพื่อสร้างความเจริญงอกงามให้กับบริษัทฯ และสังคมอยู่เสมอ ได้ก่อกำเนิดโครงการลงทุนเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนภายใต้ชื่อ ‘เอดูเคชั่น ออน วิลส์ บาย ซีจีเอช’ (Education on Wheels by CGH) โดยคุณทอมมี่เล่าให้ฟังถึงที่มาของโครงการนี้ว่า “ด้วยความที่บริษัทของเราเป็นบริษัทลงทุนที่เน้นการสร้างผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความต้องการที่อยากจะตอบแทนสังคม ซึ่งเรามองเห็นว่า “การศึกษา” จะสามารถช่วยสร้างรายได้ได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พร้อมทั้งยังต้องการสนับสนุนนโยบายภาครัฐในเรื่องแผนการศึกษาแห่งชาติโดยเฉพาะโรงเรียนในโครงการไอซียูและโครงการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เราจึงได้คิดริเริ่มในการจัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมการศึกษาสายอาชีพแก่เยาวชนไทย โดยเฉพาะนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญต่อการเรียนรู้ที่ยังขาดแคลนโอกาส โครงการ ‘เอดูเคชั่น ออน วิลส์ บาย ซีจีเอช’ (Education on Wheels by CGH)จึงได้ถือกำเนิดขึ้น ด้วยความร่วมมือของเราและหน่วยงานภาครัฐ คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อทำงานร่วมกันในลักษณะภาคีภาครัฐและเอกชนที่แข็งแกร่งในการพัฒนาหลักสูตร คัดเลือกโรงเรียนประถมศึกษาที่เหมาะสม ตลอดจนคัดเลือกนักเรียนอาชีวศึกษาในพื้นที่เพื่อฝึกอบรมพัฒนาทักษะการสอนให้พร้อมเป็น ’คุณครู’ ถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา ภายใต้หลักสูตรทั้งหมดที่ถูกพัฒนาเนื้อหาให้เหมาะสมกับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ประกอบด้วย 1. งานด้านคอมพิวเตอร์ ที่เริ่มตั้งแต่การปูพื้นฐาน เรื่องส่วนประกอบและหน้าที่ในแต่ละส่วนของคอมพิวเตอร์ ก่อนจะเจาะลึกรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีถอด-ประกอบ การสังเกตอาการและซ่อมแซมเบื้องต้น รวมถึงวิธีการใช้งาน การลงโปรแกรมต่างๆ และการดูแลรักษา 2. งานด้านการเกษตร ที่เน้นเรียนรู้เรื่องการปลูกผักบุ้งและเห็ดฟาง ซึ่งเป็นผักที่ดูแลง่าย มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน ใช้พื้นที่ในการปลูกน้อย เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไว และเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้สามารถต่อยอดปลูกได้ที่บ้านและสร้างรายได้ในครอบครัวในระยะยาว รวมถึงเรียนรู้พื้นฐานการปลูกพืชชนิดอื่นๆ และ 3. งานช่างทั่วไป เน้นงานช่างพื้นฐาน ทั้งงานซ่อมก๊อกน้ำ การซ่อมแซมเก้าอี้ รวมถึงการประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุเหลือใช้”

โครงการ “เอดูเคชั่น ออน วิลส์ บาย ซีจีเอช” (Education on Wheels by CGH) ได้เดินหน้านำความรู้ติดล้อสัญจรไปยัง 50โรงเรียนที่ประสบวิกฤติทางการศึกษาหรือโรงเรียน ICU ที่ทาง สพฐ. เห็นว่ายังขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอนหรือขาดแคลนครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยล่าสุด ได้ลงพื้นที่ถ่ายทอดความรู้สายอาชีพให้แก่เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนบ้านนากอก อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนรวมทั้งหมดเพียง 28 คน ซึ่ง อาจารย์ ศรีเนียร พันธุ์คำวัง ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ กล่าวว่า “ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของโรงเรียนบ้านนากอก ที่มีกิจกรรมส่งเสริมความรู้และความสามารถเข้ามาถ่ายทอดถึงในโรงเรียน ทำให้นักเรียนของเราได้รับการเรียนวิชาสายอาชีพอย่างเหมาะสม โดยได้นำเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 เข้ารับการอบรม เรียนรู้และฝึกทักษะด้านงานซ่อมคอมพิวเตอร์และการเกษตร เพราะเล็งเห็นว่าทั้งสองวิชาสามารถต่อยอดความรู้และความชำนาญจนพัฒนาเป็นอาชีพในอนาคต ท่ามกลางสังคมที่ต้องการแรงงานฝีมือสายอาชีวศึกษาในการขับเคลื่อนความเจริญของประเทศอย่างยั่งยืน”

อีกหนึ่งจุดเด่นของหลักสูตรภายใต้โครงการ ‘เอดูเคชั่น ออน วิลส์ บาย ซีจีเอช’ คือ การเรียนการสอนแบบ “พี่สอนน้อง” ที่นักเรียนอาชีวศึกษาในพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งทาง สอศ. จะคัดเลือกนักศึกษาที่เหมาะสมมาทำหน้าที่เป็น ‘คุณครูชำนาญการท้องถิ่น’ ถ่ายทอดความรู้แก่เด็กๆ ในภาษาถิ่นเดียวกันและเป็นกันเอง เกิดเป็นบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกสนานและกระตุ้นให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้ ซักถาม และลงมือปฏิบัติอย่างไม่เขินอาย ผลลัพธ์คือความเข้าใจอย่างถ่องแท้และสามารถนำไปแก้ไขปัญหาต่างๆ เบื้องต้นได้ด้วยตนเอง โดยนางสาวทัศนีย์ จอมหล้า หนึ่งในนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดน่าน หน่วยงานการศึกษาที่เข้าร่วมถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรในครั้งนี้ กล่าวว่า “พวกเรากำลังศึกษาด้านพืชกันอยู่แล้ว การลงพื้นที่ในครั้งนี้จึงนับเป็นทบทวนความรู้ไปในตัว โดยความท้าทายของการสอน คือ การสรุปข้อมูลและหาวิธีในการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้ง่ายและเหมาะสมกับวัย รวมถึงเทคนิคการสอนเชิงจิตวิทยาในการดึงความสนใจเด็กๆ ให้อยู่กับบทเรียนตลอดเวลา แม้ว่าตอนแรกจะมีความกังวลอยู่บ้าง แต่เมื่อเห็นน้องๆ ทุกคนตั้งใจและสนุกกับการเรียนรู้จนสามารถลงมือทำได้เอง พวกเราก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้แบ่งปันความรู้และพัฒนาชุมชนของเราให้พัฒนามากยิ่งขึ้น”

สอดคล้องกับคำตอบของ เด็กหญิงณัชชา จินดาศรี และ เด็กหญิงพัชริสา กันตา นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านนากอก จังหวัดน่าน ที่ช่วยยืนยันคำบอกเล่าได้เป็นอย่างดีว่า “ตอนแรกพวกเราคิดว่าการเพาะเห็ดฟางจะเป็นเรื่องยาก แต่พอได้ฟังพี่ๆ อธิบาย และได้ลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งพี่ๆ ก็คอยแนะนำไปด้วย พวกเราก็เกิดความมั่นใจจนสามารถทำได้สำเร็จ และคิดว่าน่าจะสามารถเอาไปทำที่บ้านได้เอง เพราะแค่ซื้อหัวเชื้อเห็ดที่หาซื้อง่าย ราคาไม่แพงเพียงแค่ 10 บาท และวัสดุอุปกรณ์ในท้องถิ่นอย่างเช่น ตะกร้าหรือเข่งขนผัก ฟาง ขี้วัว แป้งข้าวเหนียว แล้วก็เศษพืชผักเหลือใช้ที่มีเยอะในท้องที่ โดยนำเอาฟางไปแช่น้ำไป 1 คืน แล้วก็เอามารองก้นเข่ง กดให้แน่นหนา 1 ฝามือ แล้วนำขี้วัว ปุ๋ย เศษผัก มาโรยรอบตระกร้า จากนั้นเอาหัวเชื้อขยี้เป็นฝอยผสมกับแป้งข้าวเหนียวเพื่อเร่งการเติบโต มาโรยรอบตระกร้าอีกที ทำอย่างนี้ทั้งหมด 3 ชั้น แต่ในชั้นสุดท้ายเราจะไม่โรยแค่รอบตระกร้าแต่จะโรยให้เต็มหน้าแล้วคลุมด้วยฟางบางๆ เพราะเห็ดจะได้แทงยอดออกมาทั้งด้านบนและรอบๆ ตะกร้าอย่างสวยงาม จากนั้นคลุมด้วยพลาสติกแล้วก็คอยดูแลความชื้นกับความร้อนช่วง 5 วันแรกจนแตกดอก พอเข้าวันที่ 10 ก็สามารถเก็บเห็ดนำมากินหรือนำไปขายได้”

ไม่เพียงเท่านั้น โครงการนี้ยังมีส่วนช่วยจุดประกายแห่งความสามารถและความสนใจด้านอาชีพภายในตัวนักเรียนผู้เข้าร่วมโครงการ ดังเช่น เด็กชาย ธีรพันธ์ ตันต๊ะ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านนากอก จังหวัดน่าน ที่เล่าถึงความรู้สึกหลังเข้าร่วมกิจกรรมด้านช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ว่า “ผมรู้สึกสนุกมากที่ได้เรียนคอมพิวเตอร์ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้เรียนถอดและประกอบคอมพิวเตอร์และได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ได้เห็นภายในคอมพิวเตอร์ว่ามีชิ้นส่วนชิ้นไหนบ้างและแต่ละส่วนทำงานอย่างไร อย่างเช่น ซีพียู (CPU) หรือหน่วยประมวลผลกลางที่มีหน้าที่ในการประมวลผลข้อมูล ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดเวลาทำก็ต้องระมัดระวังเวลาถอดหรือประกอบ นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้วิธีดูอาการเสียและแก้ไขซ่อมแซมเบื้องต้น พอผมได้ลงมือทำจริงก็สนใจ รู้สึกว่าการซ่อมคอมพิวเตอร์มันง่ายกว่าและเป็นสิ่งที่ตัวเองเข้าใจได้ ซึ่งการที่ได้เรียนรู้เรื่องนี้ตั้งแต่เด็กๆ ก็ทำให้เรารู้ตัวเองเร็วว่าเราชอบอะไร และทำให้เรามีเวลาในการหาความรู้เพิ่มเติม ถ้าเป็นไปได้ในอนาคตก็อยากเป็นนักซ่อมคอมพิวเตอร์”

นอกจากนี้ ทางโครงการฯ ยังมีการวัดผลที่มีประสิทธิภาพ โดยนักเรียนประถมศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนจะต้องผ่านการทดสอบที่ทางโครงการฯ เป็นกำหนดไว้ ซึ่งหากไม่ผ่าน ทางนักศึกษาอาชีวศึกษาจะกลับเข้ามาอบรมความรู้เพิ่มเติมจนเกิดความเข้าใจและผ่านการทดสอบในที่สุด จึงมั่นใจได้ถึงประสิทธิผลที่จะเกิดขึ้นกับผู้เข้าร่วมโครงการอย่างแน่นอน

คุณทอมมี่ กล่าวปิดท้ายว่า “เราหวังว่าโครงการ “เอดูเคชั่น ออน วิลส์ บาย ซีจีเอช” (Education on Wheels by CGH)จะเป็นอีกหนึ่งโครงการส่งเสริมความรู้ที่ช่วยเพิ่มพูนความสามารถและทักษะความชำนาญสายอาชีพให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษา ตลอดจนช่วยกระจายโอกาสทางการศึกษาสายอาชีพที่จะถูกส่งต่อจากนักเรียนรุ่นหนึ่งสู่รุ่นน้องรุ่นต่อไปอย่างไม่รู้จบ ซึ่ง‘ความรู้’ และ ‘ทักษะ’ เหล่านี้ จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนสามารถประกอบอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัวอย่างยั่งยืน ทั้งนี้หลังจากจบโครงการฯ ใน 50 โรงเรียนนำร่องระยะแรกนี้แล้ว ทาง ‘ซีจีเอช’ จะประเมินประสิทธิผล ก่อนจะเดินหน้าขยายโอกาสไปยังโรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน”