นายสตีฟ ทรีกัสต์ ผู้อำนวยการด้านอุตสาหกรรมการเงิน การบริหารทรัพยากรมนุษย์และการวางกลยุทธ์ บริษัท ไอเอฟเอส
บล็อกเชน (Blockchain) ถือกำเนิดขึ้นเพื่อรับรองความถูกต้องให้กับบิทคอยน์ (Bitcoin) ระบบสกุลเงินที่สร้างปรากฏการณ์ให้กับอุตสาหกรรมการเงินอย่างมากเมื่อปี 2008 (พ.ศ. 2551) แกนหลักของเทคโนโลยีนี้คือการกำจัดระบบควบคุมแบบเบ็ดเสร็จจากส่วนกลางด้วยการนำเสนอเครือข่ายแบบกระจายที่มีข้อกำหนดและกฎระเบียบในแบบฉบับของตัวเอง นอกจากนี้ยังสามารถสร้างประโยชน์ทางธุรกิจได้อย่างคาดไม่ถึงด้วย จริงๆ แล้วสองสิ่งนี้ไม่ได้มีอะไรที่เหนือกว่ากัน แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะนำสิ่งไหนไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่า
บล็อกเชนคืออะไร
BitcoinBlockchain เป็นบัญชีแยกประเภทระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความปลอดภัย โดยเชื่อมต่อกับหลายภาคส่วนบนเครือข่ายที่มีความน่าเชื่อถือและไว้ใจได้ ทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกในการถ่ายโอนสินทรัพย์และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดังกล่าวด้วย โดยเบื้องต้นแล้ว เทคโนโลยีนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือของบิทคอยน์ในการรับรองความถูกต้องของสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ครั้งใหญ่ในโลกการเงินจนนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินระดับโลกเมื่อปี พ.ศ. 2551
ทุกธุรกรรมในระบบดิจิทัลจะได้รับการเก็บบันทึกอย่างปลอดภัยในห่วงโซ่ (เชน) ที่เชื่อมต่อกันด้วยคีย์ดิจิทัลที่มีการเข้ารหัสไว้สำหรับใช้แสดงความถูกต้องเมื่อได้รับการตรวจสอบจากเครือข่าย การสร้างสำเนา การแก้ไข หรือการลบธุรกรรมจะได้รับการป้องกันโดยเชนซึ่งมีอยู่ในคอมพิวเตอร์ของแต่ละคนบนเครือข่าย ยิ่งบล็อกเชนยาวมากเท่าไรและเครือข่ายกว้างไกลมากเพียงใด คีย์ดิจิทัลก็ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นบล็อกเชนจึงมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นไปอีก
แพลตฟอร์มการค้าขายแลกเปลี่ยนแบบใหม่
โดยปกติแล้วรูปแบบของการค้าขายแลกเปลี่ยนจะเป็นการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ระหว่างกันอย่างน้อยสองคนขึ้นไป (ยกเว้นการแลกเปลี่ยนแบบใช้สินค้าแลกกัน) และมักจะต้องมีคนกลางในการทำให้ข้อตกลงบรรลุผล ตลอดจนช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับกระบวนการซื้อขายโดยแลกกับค่าตอบแทนในการทำหน้าที่คนกลางดังกล่าว (ซึ่งค่าตอบแทนดังกล่าวมีมูลค่ามากถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2014 จากข้อมูลของนักเศรษฐศาสตร์)
บล็อกเชนได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบค้าขายดังกล่าวด้วยการนำแต่ละคนหรือกลุ่มต่างๆ มารวมเข้าด้วยกันบนเครือข่ายที่เชื่อถือได้และไม่มีบุคคลที่สามเป็นตัวกลาง ทั้งยังสามารถบันทึกการทำธุรกรรมแต่ละรายการได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย โดยภาพรวมการทำงานของบล็อกเชนสามารถดูได้จากคลิปวิดีโอของ MIT ความยาว 2 นาทีที่มีชื่อว่า Blockchain – A short introduction
ข้อดีทางธุรกิจ
การใช้ระบบค้าขายแลกเปลี่ยนแบบใหม่นี้สามารถสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจได้อย่างมากมาย แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมุ่งเน้นไปที่ความสามารถอย่างน้อย 1 ใน 6 อย่างดังนี้:
ข้อดีที่ 1: ประสิทธิภาพ
การทำธุรกรรมระหว่างบุคคลหรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องสามารถเสร็จสมบูรณ์ได้โดยตรงและไม่ต้องมีคนกลาง ทั้งยังสามารถใช้ข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล จึงทำให้การดำเนินธุรกรรมเป็นไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังสามารถใช้ ‘สัญญาอัจฉริยะ’ (Smart Contract) เพื่อผลักดันให้การดำเนินการด้านการค้าเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าว แนวทางนี้ช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพให้กับกระบวนการทำงานได้อย่างมาก อีกทั้งยังช่วยกำจัดเวลาและต้นทุนในการทำธุรกรรมด้วย บทความเรื่อง “How Utilities Are Using Blockchain to Modernize the Grid” โดย Oliver Wyman Consulting มีรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์แนวทางนี้ในอุตสาหกรรมพลังงาน
ข้อดีที่ 2: ความพร้อมที่จะให้ตรวจสอบบัญชี
เนื่องจากธุรกรรมแต่ละรายการได้รับการเก็บบันทึกอย่างต่อเนื่องและไม่มีกำหนด ดังนั้นจึงสามารถดำเนินการตรวจสอบได้ตลอดทั้งวงจรชีวิตของสินทรัพย์ สิ่งนี้จะยิ่งมีความสำคัญอย่างมากหากข้อมูลต้นฉบับเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในการตรวจสอบความถูกต้องของสินทรัพย์ และข้อดีดังกล่าวนี้ได้รับการยืนยันแล้วจากบริษัท Everledger ในการติดตามตรวจสอบเพชรตามที่มีข้อมูลสรุปไว้ในบทความเรื่อง “How the blockchain is helping stop the spread of conflict diamonds” ในนิตยสาร Wired
ข้อดีที่ 3: ความสามารถด้านการติดตาม
การติดตามสินค้าในซัพพลายเชนจะได้รับประโยชน์หากต้องการติดตามตรวจสอบว่าตอนนี้ชิ้นส่วนต่างๆ อยู่ที่ใดบ้าง โดยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนดังกล่าวจะถูกส่งไปยังหรือได้รับจากเจ้าของใหม่เพื่อดำเนินการในด้านอื่นๆ ต่อไป ข้อดีนี้มีรายละเอียดในบทความของ Harvard Business Review เรื่อง “Global Supply Chains Are About to Get Better, Thanks to Blockchain”
ข้อดีที่ 4: ความโปร่งใส
ในบางครั้งการขาดความโปร่งใสทางการค้าอาจนำไปสู่ความล่าช้าในการดำเนินธุรกิจและสามารถทำลายความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ ซึ่งการให้รายละเอียดของการทำธุรกรรมอย่างชัดเจนจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับกระบวนการค้าขาย ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้มั่นคงยิ่งขึ้นตามระดับความโปร่งใสที่มีอยู่ด้วย
ข้อดีที่ 5: ความปลอดภัย
ธุรกรรมแต่ละรายการจะได้รับการตรวจสอบภายในเครือข่ายโดยใช้การเข้ารหัสลับที่ซับซ้อนและได้รับการตรวจสอบอย่างอิสระ ดังนั้นจึงสามารถมั่นใจในความถูกต้องของข้อมูลได้ และข้อมูลที่น่าเชื่อถือดังกล่าวเป็นหนึ่งในพื้นฐานสำคัญของการใช้ประโยชน์จากแนวทางอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงค์ (Internet of Things: IoT) ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานเชื่อมโยงสินทรัพย์ที่ใช้งานอยู่ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่มีการควบคุมในระบบปิด แนวทางนี้กำลังได้รับการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมด้านกลาโหมสำหรับการตรวจสอบความถูกต้องของคำสั่งและการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสามารถดูรายละเอียดได้ในบทความของ Ascent เรื่อง “Securing 3D-Printing: Could Blockchain be the Answer?”
ข้อดีที่ 6: ความเห็น
ด้วยความสามารถในการติดตามสินทรัพย์ครอบคลุมทั้งวงจรชีวิต ผู้ออกแบบและผู้ผลิตสินทรัพย์จึงสามารถปรับรูปแบบการบริหารจัดการสินทรัพย์ตลอดวงจรชีวิตได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยข้อมูลในด้านต่างๆ ไมว่าจะเป็นการจัดส่ง การติดตั้ง การบำรุงรักษา และการรื้อถอน