ดัชนีชี้วัดการเชื่อมโยงสื่อสารทั่วโลกของหัวเว่ย ประจำปี 2017 ชี้ความไม่เท่าเทียมกันด้านดิจิทัลกลายมาเป็นช่องว่างด้านดิจิทัลแล้ว

หลายประเทศทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศด้วยระบบเศรษฐกิจดิจิทัลยังคงเติบโตต่อเนื่องจากการลงทุนขนาดใหญ่และการปรับใช้เทคโนโลยีทางด้านไอซีที ขณะเดียวกัน ประเทศที่กำลังเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลก็พยายามเร่งผลักดันให้เกิดการเติบโตด้วยการทุ่มงบลงทุนเชิงยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศทางด้านไอซีทีและการพัฒนาเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล กระนั้นแล้วช่องว่างหรือความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัลก็ยังคงขยายตัวกว้างออกไปอีก

จากรายงาน Huawei Global Connectivity Index (GCI) ประจำปี 2017 ที่เปิดเผยออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ มีข้อค้นพบหลายประการที่แสดงให้เห็นว่าประเทศต่างๆ มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวผลักดัน โดยวัดจากข้อมูลตัวชี้วัดจำเพาะ 40 ตัว ซึ่งครอบคลุมเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนหลัก 5 ตัว อันได้แก่ บรอดแบนด์, ดาต้าเซ็นเตอร์, คลาวด์, บิ๊กดาต้า และอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ การลงทุนในห้าเทคโนโลยีนี้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตขึ้น การวางนโยบายจากภาครัฐจะสามารถยกระดับระบบการเชื่อมโยงสื่อสารให้มีศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และความพรั่งพร้อมทางด้านไอซีทีก็สามารถรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในทิศทางบวกของประเทศได้เป็นอย่างดี

จากรายงาน GCI 2017 ความก้าวหน้าในการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลทั่วโลกกำลังรุดหน้าไปเรื่อยๆ โดยตั้งแต่ปี 2015 คะแนน GCI ของทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ทั้งนี้รายงานเผยว่า เทคโนโลยีไอซีทีได้กลายเป็นกลไกที่คอยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในบรรดา 50 ประเทศที่นำมาวิเคราะห์ในครั้งนี้ พบว่ามี 16 ประเทศจัดอยู่ในกลุ่ม Frontrunner 21 ประเทศจัดอยู่ในกลุ่ม Adopter ส่วนอีก 13 ประเทศจัดอยู่ในกลุ่ม Starter โดยการแบ่งกลุ่มนี้สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศไปสู่ยุคดิจิทัล สำหรับประเทศกลุ่ม Frontrunner ซึ่งมีค่า GDP เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและยังคงมีการยกระดับการใช้งานดิจิทัล บิ๊กดาต้า และ IoT อย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนสู่สังคมอัจฉริยะอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับกลุ่ม Adopter เป็นประเทศที่มีค่า GDP เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ และให้ความสำคัญกับการเพิ่มปริมาณการใช้งานด้านไอซีทีเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับอุตสาหกรรมและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ ประเทศกลุ่ม Starter ซึ่งมีค่า GDP เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที และเน้นไปที่การจัดหาเทคโนโลยีไอซีทีเพิ่มเติมเพื่อให้คนเข้าถึงโลกดิจิทัลได้มากยิ่งขึ้น

รายงานยังระบุว่า นักวางแผนเศรษฐกิจควรคำนึงถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันที่กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นอันดับแรก โดยชี้ให้เห็นว่า “ความไม่เท่าเทียมกันด้านดิจิทัลได้กลายมาเป็นช่องว่างด้านดิจิทัลแล้ว” รายงานยังระบุด้วยว่า จากการตรวจสอบข้อมูล GCI ในช่วงสามปี เรามองเห็นความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น เป็นเหมือนปรากฏการณ์แมทธิว ทฤษฎีสังคมมานุษยวิทยาในเวอร์ชั่นของไอซีที ที่ระบุไว้ว่า ‘คนรวยมีแต่จะรวยขึ้น แต่คนจนกลับยิ่งจนลง’ ทฤษฎีนี้ยังชี้ให้เห็นว่า กลุ่มคนหรือปัจเจกบุคคลที่สะสมความได้เปรียบไม่เพียงแต่จะประสบความสำเร็จ แต่ยังสามารถนำข้อได้เปรียบในเบื้องต้นมาสร้างแต้มต่อที่เหนือกว่าจนทิ้งห่างคู่แข่ง ผู้กำหนดนโยบายจึงต้องเข้าใจก่อนว่าช่องว่างด้านดิจิทัลที่ขยายกว้างออกไปนี้ จะส่งผลต่อทุกภาคส่วนของสังคมและเศรษฐกิจ ประเทศที่ไม่สามารถสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้น อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านความเป็นอยู่ การศึกษา และโอกาสในการมีงานทำของคนในชาติด้วย”

ประเทศกลุ่ม Frontrunner มีค่า GCI เพิ่มขึ้น 4.7 คะแนนตั้งแต่ปี 2015-2017 อันเนื่องมาจากการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ บิ๊กดาต้า และ IoT ขณะที่ประเทศกลุ่ม Adopter มีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.5 คะแนน กลุ่มประเทศ Starter ที่ช้ากว่านั้นรั้งท้ายในด้านขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้นเพียง 2.4 คะแนนของคะแนนโดยรวม

เมื่อลงรายละเอียดในแต่ละประเทศ พบว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านอันดับตัวเลข GCI โดยในปีนี้ ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 33 จาก 50 ประเทศกลุ่มตัวอย่าง

และเมื่อวิเคราะห์อย่างรอบด้าน เราพบว่าประเทศไทยมีทั้งจุดแข็งและโอกาสในด้านต่างๆ

ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่ม Adopter ระยะเริ่มต้น มีคะแนนโดดเด่นในการประเมินผลด้านบรอดแบนด์ โดยได้คะแนนเต็มในด้านความครอบคลุมในการให้บริการเครือข่ายโมบายบรอดแบนด์ สำหรับความครอบคลุมด้านการให้บริการ 4G ไทยมีคะแนนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจาก 2 เป็น 4 คะแนนในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลพวงมาจากการอนุมัติแผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งตั้งเป้าติดตั้งสัญญาณบรอดแบรนด์ให้ครอบคลุม 24,700 หมู่บ้าน โดยจะติดตั้งทั้งไฟเบอร์ออพติกและ Free Wi-Fi นอกจากนี้ รัฐบาลยังเตรียมติดตั้งฟิกซ์ไลน์บรอดแบรนด์ความเร็วสูงในราคาถูกแก่ประชาชนตามหมู่บ้านแนวชายขอบ เพื่อช่วยลดปัญหาช่องว่างทางดิจิทัล ครอบคุลม 3,920 หมู่บ้าน และ Free Wi-Fi ฮอตสปอทอีก 5,229 จุด รวมถึงศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะใน 62 จังหวัด ภายในกลางปี 2018 อีกด้วย

รัฐบาลได้ริเริ่มแผนที่จะนำบริการต่างๆ มารวมไว้ด้วยกันบนพอร์ทัลเดียวของรัฐ โดยเริ่มจากการจดทะเบียนธุรกิจ ซึ่งประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางเพื่อนำเอกสารจากสถานที่ราชการแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งเพื่อเดินเรื่องขอทำธุรกิจ แต่จะใช้สมาร์ทการ์ดในการทำธุรกรรมระหว่างหน่วยงานต่างๆ และเข้าสู่บริการทั้งหมดเพื่อขอเปิดและดำเนินธุรกิจผ่านทางเว็บไซต์เดียว การพัฒนาที่ก้าวไปอีกขั้นนี้จะนำไปสู่การนำร่องการใช้งานบิ๊กดาต้า เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆ สามารถนำข้อมูลมาใช้ประกอบการตัดสินใจ พร้อมผลักดันให้เกิดการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์และบริการคลาวด์ให้เติบโตต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์ที่มีศักยภาพในการแข่งขัน ประเทศไทยยังเป็นรองเรื่องตัวขับเคลื่อนเทคโนโลยีอีกสี่ด้าน โดยเฉพาะการใช้งานดาต้า ทั้งนี้ สิ่งที่ควรทำในขั้นต่อไปคือ การสร้างดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์สตอเรจให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อสะดวกต่อการเชื่อมโยงข้อมูล

ประเทศไทยได้อนุมัติแผนเพื่อพัฒนา G-Cloud และ Software as a Service (SaaS) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสถาบันทางการเงินของไทยได้เริ่มการใช้คลาวด์คอมพิวติ้ง และคาดว่าจะขยายขอบเขตการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นดิจิทัลอินฟราสตรัคเจอร์ฮับ ซึ่งเห็นได้จากความมุ่งมั่นของรัฐบาลเพื่อผลักดันให้เกิดการเติบโตด้านดิจิทัล ที่สะท้อนเป็นรูปธรรมผ่านทางหลายโครงการด้านไอซีทีและ IoT รวมถึงแผนการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในเมืองต่างๆ อาทิ ภูเก็ต เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ควบคู่กับการรณรงค์ส่งเสริมอย่างจริงจัง ประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะสร้างชุมชนผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Tech startup) เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยให้กลายเป็นดิจิทัลฮับในอนาคต และดึงคนเก่งให้มารวมกัน

ผลการศึกษา GCI 2017 เผยว่ารัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมต่างยอมรับว่าการลงทุนด้านไอซีทีและการเพิ่มขึ้นของ GDP โดยทั่วไปนั้นมีความสัมพันธ์กัน จากการศึกษาข้อมูล GCI 2017 ที่มีโมเดลการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจหลากหลายรูปแบบระบุว่า ประเทศที่มีอัตราการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2017-2025 นั้น จะส่งผลเป็นเท่าทวีคูณ “เราพบว่า ทุกๆ มูลค่าการลงทุนด้านไอซีทีที่เพิ่มขึ้น 1 ดอลลาร์สหรัฐ จะสามารถให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 3 ดอลลาร์สหรัฐ จากตัวเลข GDP ในปัจจุบัน และเพิ่มขึ้นเป็น 3.70 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 และผลตอบแทนที่จะกลับคืนมาถึง 5 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2025”

50 ประเทศที่ได้รับการประเมินโดย GCI 2017 มีมูลค่า GDP คิดเป็นร้อยละ 90 ของมูลค่า GDP รวมทั่วโลก และมีประชากรคิดเป็นร้อยละ 78 ของประชากรโลก

หัวเว่ยเผยแพร่รายงาน GCI บนมินิไซต์ของบริษัท หากต้องการดูข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติม สามารถคลิกไปที่ http://www.huawei.com/minisite/gci/en/

จบ