ทำตลาดในประเทศไทยได้ครึ่งปีแล้ว สำหรับอีเลฟเว่นสตรีท อีคอมเมิร์ซน้องใหม่จากแดนกิมจิที่เข้ามาทำตลาดเต็มตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ พร้อมโหมการตลาดแบบจัดเต็ม เหมาสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้ง 3 สถานี พร้อมพงษ์ ชิดลม และสยาม สร้างทั้งกระแสดราม่า และสามารถสร้างการรับรู้
การเข้ามาของอีเลฟเว่นสตรีทเป็นที่น่าจับตามองอยู่ไม่น้อย เพราะตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น มีการเติบโตสูง ทำให้มีผู้เล่นหลายรายลงมาตะลุมบอนทั้งรายใหญ่ในประเทศที่เป็นธุรกิจค้าปลีก และผู้เล่นจากต่างประเทศ ทำให้การแข่งขันร้อนระอุ
สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึง “ลาซาด้า” ในฐานะผู้นำตลาดในไทย ซึ่งได้เข้ามาทำตลาดมาแล้ว 5 ปีแล้ว มีฐานลูกค้าอยู่พอสมควร และเป็นชื่อแรกๆ ที่แบรนด์ต่างๆ นึกถึงเมื่อต้องการเป็นพันธมิตรช่องทางอีคอมเมิร์ซ
ซึ่งอีเลฟเว่นสตรีทมีประวัติในการล้มยักษ์ในประเทศเกาหลีมาแล้ว บริษัทได้ก่อตั้งมาเป็นเวลา 8 ปี แต่ใช้เวลาราว 3-4 ปี สามารถเขี่ยเบอร์หนึ่งอย่าง Gmarket ลงได้ ปัจจุบันทั้ง 2 แบรนด์ได้เบียดกันมาตลอด ผลัดกันขึ้นที่หนึ่งลงที่สองกันบ้าง ขึ้นอยู่แต่ละช่วงเวลา
ยุน ชาง ซอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเซลล์ อีเลฟเว่นสตรีท ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า “ตลาดประเทศไทยมีความคล้ายคลึงกับประเทศเกาหลีอยู่เยอะ ตอนนี้ไทยเหมือนกับยุคที่อีคอมเมิร์ซกำลังบูมใหม่ๆ ในเกาหลี หลังจากนั้นก็จะเติบโตแบบก้าวกระโดด และปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดโตคือพฤติกรรมการใช้มือถือช้อปออนไลน์ที่มีการเติบโตสูงขึ้น มองว่าโตได้ถึงปีละ 20% แต่การแข่งขันก็สูงเช่นกัน ต้องมีการลงทุนเพื่อสร้างตลาด”
กลยุทธ์หลักที่เลือกใช้ในช่วงแรกเป็นการโหมทำการตลาดอย่างหนักเพื่อสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภคเพื่อให้คนจดจำแบรนด์ได้ เรียกว่าเป็นการสร้างกระแสก่อน จากนั้นปูด้วยโปรโมชั่น มีสินค้าที่แตกต่าง และคอนเทนต์สนุกสนาน พร้อมกับมีพรีเซ็นเตอร์
อีเลฟเว่นสตรีทได้เลือกกลยุทธ์นี้ในทุกประเทศที่ทำตลาด ปัจจุบันมี 4 ประเทศนอกเหนือจากเกาหลี ได้แก่ ไทย ตุรกี มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในตุรกีสามารถขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งได้แล้ว ส่วนที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทยยังเป็นรองลาซาด้า
แต่ในตลาดต่างประเทศได้พ่วงกลยุทธ์พาร์ตเนอร์เข้ามาอีกหนึ่ง ในทุกประเทศจะจับมือกับพาร์ตเนอร์ที่เป็นโอเปอเรเตอร์ค่ายมือถือในการทำตลาด เพราะอีเลฟเว่นสตรีทเป็นบริษัทในเครือ SK telecom โอเปอเรเตอร์รายใหญ่ในเกาหลี เติบโตมาจากธุรกิจนี้ แต่ในประเทศไทยอีเลฟเว่นสตรีทเข้ามาลงทุนด้วยตนเอง 100% ยังไม่มีการร่วมทุนกับบริษัทใด เพราะโอเปอเรเตอร์ในไทยล้วนมีอีคอมเมิร์ซเป็นของตัวเองอยู่แล้ว จึงต้องเจรจาหาพาร์ตเนอร์อื่นๆ มาข่วย
การหาพาร์ตเนอร์ร่วมลงทุนจะเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดประเทศไทย เพราะการได้พาร์ตเนอร์โลคอลในประเทศเข้ามาจะช่วยให้เข้าถึงผู้บริโภคได้เร็วขึ้น และมีงบทุนมากขึ้นในการติดสปีดทำตลาด เพราะธุรกิจนี้ต้องอาศัยสายป่านที่ยาวมาก เมื่อดูงบลงทุนที่บริษัทได้ลงทุนเองก็ถือว่ามหาศาล โดยตั้งแต่ต้นปีได้ตั้งงบลงทุนรวมที่ 1,000 ล้านบาท รวมทั้งงบการตลาด และการจัดการต่างๆ มองว่าในอนาคตอาจจะเพิ่มเติมได้อีก
เดือนกันยายนได้นำร่องอัดแคมเปญใหญ่ Shocking Deals…Shocking Days ลดราคาสินค้า และร่วมกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นการจัดเพื่อดึงลูกค้าใหม่ๆ ให้เข้ามาทดลองใช้ และเปลี่ยนเป็นลูกค้าประจำได้ ตั้งเป้าจะทำให้เติบโตกว่าปกติ 20-30%
อีกสิ่งหนึ่งที่ทางอีเลฟเว่นสตรีทมองว่าได้เปรียบคู่แข่งก็คือ โมเดลธุรกิจเป็นมาร์เก็ตเพลส 100% ให้ร้านค้ารายย่อยเข้ามาจำหน่ายสินค้า หรือเป็นรูปแบบ C2C (Customer to Customer) ทำให้ไม่ต้องลงทุนเรื่องคลังสินค้าที่ต้องสต็อกสินค้าเอง อาจจะได้ส่วนต่างจากรายได้จากร้านค้าที่น้อย แต่เน้นจำนวนมากๆ แต่ก็ต้องมีทีมงานคอยตรวจร้านค้าว่าได้มาตรฐาน และเป็นของจริงหรือไม่
ต่างจากลาซาด้าที่เป็นรูปแบบ B2C มีการดีลกับแบรนด์ใหญ่ ทำให้ได้สินค้าเยอะ ราคาถูกลง แต่ต้องแบกสต็อกสินค้าในคลัง ต้องลงทุนสร้างคลังสินค้า ทำให้เสียงบลงทุนด้านการจัดการตรงนี้มากกว่า
- ปัจจุบันอีเลฟเว่นสตรีทมีสมาชิกแอคทีฟ 580,000 ราย ตั้งเป้าเป็น 1 ล้านรายในสิ้นปีนี้ มีผู้ขาย 18,000 ร้านค้า ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 20,000 ร้านค้าในสิ้นปี มีจำนวนสินค้าที่ขาย 5.1 ล้านรายการ
- มีจำนวนทราฟฟิกการเข้าเว็บไซต์ครบ100 ล้านครั้งในเดือนกรกฎาคม เติบโต 614% จากเดือนกุมภาพันธ์
- สินค้าที่ขายดีเป็นกลุ่มสมาร์ทโฟน ดิจิทัล31% คอมพิวเตอร์พีซี 16% แฟชั่น 9.7% เครื่องใช้ไฟฟ้า 9.2% ของใช้ในบ้าน 8.8%
- ลูกค้ามีการใช้จ่ายเฉลี่ย 2,000 บาท/ครั้ง