เคพีเอ็มจี เผยทีมสโมสรฟุตบอลจากประเทศโปรตุเกส คว้าอันดับสูงสุด ไร้ทีมจากพรีเมียร์ลีกติดอันดับ ค่าตัวยิ่งนับวันยิ่งสูง “นักเตะดาวเด่น” เป็นส่วนหนึ่งของวงการบันเทิงระดับโลกไปแล้ว การดึงดูด “ดาวเตะมืออาชีพ” จึงเป็นกลยุทธ์ของทีมฟุตบอล เพื่อเพิ่มข้อได้เปรียบทางการแข่งขันกับคู่แข่งทั้งในและนอกสนาม รวมทั้งสร้างฐานแฟนคลับทั่วโลก
หลังจากตลาดการซื้อขาย “นักเตะ” ของ “ศึกฟุตบอลลีกยุโรป” ในช่วงฤดูร้อนปิดฉากลง เคพีเอ็มจี ผู้ตรวจสอบบัญชี ภาษีและกฎหมาย และให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ได้จัดทำรายงาน “The Player Trading Game” เกี่ยวกับการปฏิบัติทางบัญชีในการซื้อขายนักฟุตบอลกว่า 150 สโมสร ตั้งแต่ฤดูกาล 2014/15 และ 2015/16 (ตามข้อมูลงบการเงินล่าสุด)
โดยจะพิจารณาจากข้อมูลดังนี้
(+/-) ผลกำไร/ขาดทุนจากการจำหน่ายตัวผู้เล่น
(-) ค่าตัดจำหน่าย
(+/-) รายได้/ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการให้ยืมตัวผู้เล่น
(-) การด้อยค่า
=ดุลการซื้อขายนักฟุตบอลมืออาชีพ
– สโมสรฟุตบอลยุโรป 20 อันดับสูงสุดที่เป็น “ผู้ขายสุทธิ (Net Seller)” มาจากประเทศฝรั่งเศส อิตาลี สเปน โปรตุเกส และเยอรมัน
โดย เบนฟิก้า และ ปอร์โต้ สโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่จากประเทศโปรตุเกส ขึ้นแท่นเป็นอันดับ 1 และ 2 ด้วยดุลการซื้อขายนักเตะรวมอยู่ที่ 65 ล้านยูโร และ 58.2 ล้านยูโร ตามลำดับ ในฤดูกาล 2014/15 และ 2015/16 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทำการศึกษาข้อมูลในครั้งนี้
ลีกเอิง ฝรั่งเศสมีสโมสรมากที่สุดถึง 6 แห่ง ที่อยู่ในการจัดอันดับ 20 สโมสรฟุตบอลยุโรปที่มีการซื้อขายตัวผู้เล่นสูงสุดขณะที่พรีเมียร์ลีกซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกบิ๊กไฟว์ แต่กลับไม่มีรายชื่อในการจัดอันดับในครั้งนี้
ในจำนวน “ผู้ขายสุทธิ (Net Buyer)” แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (171.9 ล้านยูโร), ปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง (179.4 ล้านยูโร) และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (238.9 ล้านยูโร) มีดุลการซื้อขายผู้เล่นติดลบสูงสุด
ไม่มีพรีเมียร์ลีกติดเพราะไม่ต้องพึ่งพารายได้จากขายนักเตะ
แอนเดรีย ซาโตรี ประธาน ฝ่ายกีฬา และผู้จัดทำรายงาน กล่าว “ไม่น่าแปลกใจนักที่ไม่มีสโมสรฟุตบอลจากประเทศอังกฤษ ติดอับดับในการจัดอันดับ 20 สโมสรที่มีสถิติการซื้อขายตัวผู้เล่นสูงสุดในยุโรป (European Top 20) อาจเป็นผลสืบเนื่องมากจากชื่อเสียงและรายได้มหาศาลจากการถ่ายทอดสดของพรีเมียร์ลีก รวมทั้งข้อได้เปรียบทางธุรกิจอื่นๆ อีกมากมายเมื่อเทียบกับสโมสรจากภาคพื้นทวีปยุโรป ทำให้ทีมจากพรีเมียร์ลีกมีบทบาทเป็นผู้ซื้อเป็นหลัก และในบางกรณีก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการสร้างรายได้จากการซื้อขายนักเตะแต่อย่างใดทั้งนี้ สโมสรฟุตบอลจากประเทศเนเธอร์แลนด์ก็ไม่ติดการจัดอันดับดังกล่าวเช่นกันทั้งที่เต็มไปด้วยดาวเตะมืออาชีพมากมาย
ทีมทุ่มซื้อดาวเตะ สร้างฐานแฟน-ข้อได้เปรียบในการแข่งขัน
เคพีเอ็มจี รายงานอีกว่า ค่าตัวผู้เล่นได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง “ผู้ขายสุทธิ” ที่มีทั้งระบบการฝึกสอนนักฟุตบอลเยาวชน และเครือข่ายแมวมองดาวรุ่งที่ยอดเยี่ยมอาจจะใช้จุดแข็งนี้ให้เกิดประโยชน์ได้มากขึ้น
ในทางกลับกัน สำหรับสโมสรฟุตบอลยุโรปที่ใหญ่ที่สุดหลายแห่ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของวงการบันเทิงระดับโลก การดึงดูด “ดาวเตะมืออาชีพ” จึงเป็นกลยุทธ์ที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเพิ่มข้อได้เปรียบทางการแข่งขันกับคู่แข่งทั้งในและนอกสนาม พร้อมทั้งสร้างฐานแฟนคลับทั่วโลก
“แม้คาดการณ์ว่า มูลค่าการซื้อขายนักเตะจะยังไม่ลดลงในระยะสั้น แต่ต้องดูว่า การยอมทุ่มสุดตัวเพื่อซื้อผู้เล่นที่มีค่าตัวสูงทุบสถิติจะคุ้มค่าในระยะยาวหรือไม่” ซาโตรี กล่าวเสริม
ในการจัดอันดับ 20 สโมสรที่มีการซื้อขายตัวผู้เล่นสูงสุดในยุโรป (European Top 20) มีทีมเบนฟิก้า (อันดับ 1), ปอร์โต้ (อันดับ 2) และสปอร์ติ้ง ลิสบอน (อันดับ 20) ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกบิ๊กไฟว์
สโมสรที่เป็นตัวแทนจาก ลีกเอิง ฝรั่งเศส ได้แก่ โอลิมปิก มาร์กเซย และ อาแอส โมนาโก ซึ่งทั้ง 2 จัดให้เป็นทีมปั้นและหมั่นขายนักเตะ ร่วมกับ โอลิมปิก ลียง, มงต์เปลลิเยร์, แซงต์-เอเตียน และ ล็อสก์ลีล
เซเรีย อา อิตาลี มีทีมผู้เล่นทั้งหมด 5 สโมสร และมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในการจัดอันดับในครั้งนี้ โดยมีทีมซามพ์โดเรีย (28.7 ล้านยูโร) อยู่ที่อันดับ 10 สูงสุดในบรรดาสโมสรอิตาลี
ลาลีกา สเปน มีทีมผู้เล่นติดอันดับในครั้งนี้ ทั้งหมด 4 สโมสรซึ่งทีมเซบีย่า (อันดับ 6) จัดเป็นกูรูของตลาดซื้อขายผู้เล่น ด้วยกิจกรรมการซื้อขายมูลค่าเกือบ 40 ล้านยูโร
อย่างไรก็ดี สโมสรที่โชว์ฟอร์มที่ดีที่สุดในการซื้อขายผู้เล่นไม่ได้หมายถึงทีมฟุตบอลที่ท็อปฟอร์มที่สุดในทวีปยุโรป ทั้งนี้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้, ปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีดุลการซื้อขายนักฟุตบอลมืออาชีพติดลบสูงสุดในช่วงฤดูกาล 2014/15 และ 2015/16 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการวิเคราะห์ข้อมูล และเมื่อประเมินจากกิจกรรมการซื้อขายตัวผู้เล่นช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา คาดการณ์ว่า ฟอร์มการซื้อขายนักเตะของทั้ง 3 ทีมนี้ ยังคงรั้งท้ายในฤดูกาลถัดไป
หมายเหตุ
*รายงานฉบับนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินที่เปิดเผยต่อสาธารณะของสโมสรฟุตบอล 150 แห่ง จากฤดูกาล 2014/15 และ 2015/16 ดังนั้น การวิเคราะห์ดังกล่าวไม่จัดเป็นการซื้อขายนักฟุตบอลล่าสุด ที่จะนำมาใช้กับข้อมูลงบการเงินในฤดูกาล 2016/17 และ 2017/18