พลิกกลยุทธ์ “ช้อปปี้” มาเพื่อตีตลาด Social Commerce

ดูเหมือนว่าปีนี้จะเป็นปีทองของตลาดอีคอมเมิร์ซอีกปีหนึ่ง เพราะตั้งแต่ต้นปีมาได้เห็นการเคลื่อนไหวในตลาดโดยตลอด ทั้งการทำตลาดของแบรนด์ใหม่จากเกาหลี การบุกตลาดหนักขึ้นของผู้เล่นเดิมในตลาด ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าผู้บริโภคคนไทยให้การตอบรับกับการช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้นแล้ว

ช้อปปี้ ถือเป็นอีกแบรนด์ที่ออกตัวแรง เพราะมีการทุ่มงบการตลาดชนิดที่ว่าไม่น้อยหน้าไปกว่ารายใหญ่ในตลาดอย่างลาซาด้า และอีเลฟเว่นสตรีทเลย จัดชุดใหญ่ไฟกะพริบใช้เครื่องมือการตลาดแบบครบสูตร พร้อมกับพรีเซ็นเตอร์ระดับซุปตาร์อย่างณเดชน์ญาญ่า

ช้อปปี้เป็นอีคอมเมิร์ซสัญชาติสิงคโปร์ ที่อยู่บ้านหลังเดียวกันกับการีน่า บริษัทเกมออนไลน์แห่งใหญ่ ได้เริ่มก่อตั้งในปี 2558 และเข้าทำตลาดในไทยในปีเดียวกัน ปัจจุบันมีการทำตลาดใน 7 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไต้หวัน

ที่จริงแล้วช้อปปี้ไม่ใช่แบรนด์ใหม่แต่อย่างใด แต่มีการทำตลาดในไทยมาแล้วเป็นเวลาปีกว่า หรือตั้งแต่ปี 2558 แต่เพิ่งมาบุกตลาดอย่างจริงจังเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีการโหมกระหน่ำสื่อโฆษณา สื่อนอกบ้าน รถไฟฟ้าบีทีเอส และสื่อออนไลน์ ได้ใช้งบการตลาดสำหรับแคมเปญใหญ่ Shopee 9.9 Mobile Shopping Day ถึง 200 ล้านบาท เหตุผลที่เพิ่งมาบุกตลาดในตอนนี้เพราะเป็นช่วงที่มีความพร้อมในทุกด้าน ที่ผ่านมาเป็นช่วงดึงผู้ขาย และผู้ซื้อให้สนใจก่อน

เทอเรนซ์ แพง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ช้อปปี้ บอกว่า ช้อปปี้ วางโพสิชั่นไว้ว่าเป็น mCommerce หรือช้อปปิ้งผ่านมือถือ เพราะยุคนี้เข้าสู่ยุค Mobile First หมดแล้ว และมีการวางให้เป็นลูกผสมของ Social Commerce ด้วย ประกาศชัดเจนว่าคู่แข่งหลักคือเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม

เพราะในช่วงหลายปีมานี้การซื้อขายผ่านช่องทางโซเชียลคอมเมิร์ซเติบโตมาก ทั้ง 2 แพลตฟอร์ม จึงพัฒนาฟีเจอร์สำหรับลูกค้า SME และก็ดันมาเข้ากับจริตคนไทยที่ชอบโซเชียลมีเดียพร้อมกับช้อปปิ้งโซเชียลคอมเมิร์ซจึงเป็นที่นิยมในไทย

ใส่ฟีเจอร์อย่างพูดคุยกับร้านค้า ที่สามารถสอบถามสินค้าได้ในแอป ไม่ต้องแอดไลน์ไปคุยเพิ่มเติม และสามารถกดติดตามร้านค้าได้ กดไลค์สินค้าที่สนใจได้ ถือว่าเป็นจุดแข็งที่รายอื่นไม่มี

ด้วยความที่ท้าชนโซเชียลคอมเมิร์ซ โมเดลธุรกิจของช้อปปี้คือเป็นมาร์เก็ตเพลส ให้ร้านค้ารายย่อยเข้ามาจำหน่ายสินค้า ส่วนใหญ่ก็เป็นร้านค้าจากเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมเช่นกัน โดยมีทีมงานเข้าไปเชิญชวนบ้าง และมีร้านมีมาเปิดเองบ้าง แต่ตอนนี้เริ่มมีแบรนด์ใหญ่นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายเพิ่มขึ้น เช่น บิ๊กซี, เนสท์เล่, ซาบีน่า, JIB, Vivo, ลอรีอัล และ JBL เป็นต้น

ส่วนการรายได้ในไทยนั้น ผู้บริหารบอกว่า ยังไม่ถึงเวลา เพราะต้องการสร้างฐานให้แข็งแกร่งก่อน เพราะตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเพิ่งมาบูมไม่กี่ปีมานี้ ต้องสร้างการรับรู้ให้ตลาดก่อน

แต่ในประเทศไต้หวันมีการหารายได้แล้ว มี 2 รูปแบบด้วยกันก็คือ เก็บค่าธรรมเนียมจากร้านค้าและค่าโฆษณาสำหรับร้านค้าที่ต้องการดันร้านตนเองให้อยู่หน้าแรกๆ

ด้วยความที่เป็นบริษัทครอบครัวเดียวกับการีน่า ทำให้มีการทำแคมเปญร่วมกัน เช่น เกม ROV เป็นเกมยอดนิยมของวัยรุ่นในตอนนี้ และมีการขายสินค้าตุ๊กตา ROV ในช้อปปี้ด้วย สามารถช่วยดึงลูกค้าจากเกมมาได้พอสมควร ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น

เทอแรนซ์ ได้บอกว่าสิ่งที่ท้าทายที่สุดในตอนนี้ของตลาดไทย นอกจากการแข่งขันที่ดุเดือดแล้ว ยังมีเรื่องบุคลากรที่สำคัญที่สุด เพราะในไทยยังขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซโดยตรง จึงได้มีการลงทุนจัดฝึกอบรมพนักงานเรื่องอีคอมเมิร์ซอยู่ตลอดเวลา

ปัจจุบันภาพรวมของช้อปปี้มีจำนวนดาวน์โหลดรวม 50 ล้านครั้ง มีผู้ขาย 3 ล้านราย มีสินค้า 100 ล้านรายการ มีพนักงานรวมทุกประเทศกว่า 2,000 คน

ส่วนในประเทศไทยมียอดดาวน์โหลด 8 ล้านครั้ง ผู้ขาย 400,000 ราย มีสินค้า 6 ล้านรายการ มีพนักงาน 250 คน

หมวดหมู่สินค้าที่ขายดีเป็น ความงาม มือถือ และแฟชั่น ส่วนสินค้าที่ขายดีเป็นเครื่องสำอาง เสื้อยืด และสายชาร์จมือถือ.