สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา จัดงานสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัย ประจำปี 2560“ITD Research Forum 2017: ร่วมขับเคลื่อนนโยบายการค้าและการพัฒนาสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD กำหนดจัดงานสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัยและการอภิปรายของผู้ทรงคุณวุฒิในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยประจำปี 2560 ภายใต้ชื่องาน “ITD Research Forum 2017: ร่วมขับเคลื่อนนโยบายการค้าและการพัฒนาสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 20 – 21 กันยายน2560 เวลา 9.00-16.00 น. ณ ณ  ห้อง Meeting Room 3 – 4  ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ เพื่อเป็นเวทีสื่อสารผลงานวิจัยไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจทั่วไป อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงวิชาการและนโยบายในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

ดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) เปิดเผยว่า“ด้วยพันธกิจของ ITD ที่จัดตั้งขึ้นโดยความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาด้านการค้าระหว่างประเทศ การเงิน การคลัง และการลงทุน และกิจกรรมอื่นๆ ที่สอดคล้องกับความความตกลงที่เกิดขึ้น รวมถึงการสนับสนุนการดำเนินการศึกษาวิจัย โดยในช่วงปีงบประมาณ 2560ทาง ITD ได้สนับสนุนการดำเนินการศึกษาวิจัยภายใต้แนวคิดการเสนอกรอบเชิงนโยบายและแนวทางเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมบทบาทภาคการค้าระหว่างประเทศและภาคการเงินให้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยและประเทศในภูมิภาค เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน ซึ่งภายในงานสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัย ประจำปี 2560 ครั้งนี้ ก็จะเป็นการนำเอาผลการวิจัยมาต่อยอด เปิดเวทีสนทนาระหว่างผู้ดำเนินการวิจัยและภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำผลการวิจัยมาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น”

โดยในช่วงปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา ทาง ITD ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยทั้งหมด 4 โครงการสำคัญ ได้แก่

(1) การศึกษาวิเคราะห์บทบาทภาคการเงินเพื่อสนับสนุนเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืนในอาเซียน ซึ่งจะนำเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาบทบาทและความเข้มแข็งของภาคการเงิน เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและภูมิภาคอาเซียนสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในการพัฒนาบทบาทภาคการเงิน จำเป็นต้องมองเป็นองค์รวม และมุ่งเน้นความสอดคล้องในเชิงนโยบาย การสร้างสมรรถภาพของประเทศ และการมีระบบติดตามและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ และสามารถทำให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้จริง ในส่วนของประเทศไทย ยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับการพัฒนาภาคการเงินเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วยยุทธศาสตร์การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ยุทธศาสตร์การสร้างสมรรถภาพและความสามารถในการแข่งขัน และยุทธศาสตร์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

(2) การพัฒนาการค้าระหว่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนประเทศกำลังพัฒนาสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กรณีศึกษากลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับนัยสำคัญของการใช้นโยบายการค้าเพื่อส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาค โดยเนื้อหาหลักจะครอบคลุมทั้งกรณีศึกษาการดำเนินนโยบายการค้าทั้งรายสาขาการผลิต และรายประเทศ รวมถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะนำไปสู่การพัฒนานโยบายการค้าที่มีคุณลักษณะเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด กล่าวคือ นโยบายการค้าของอนุภูมิภาคจะต้องนำไปสู่การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ สร้างโอกาสให้แก่กลุ่มบุคคลต่าง ๆ ในสังคมได้อย่างเสมอภาคกัน และมีส่วนช่วยในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและชุมชน

(3) การวิเคราะห์ผลกระทบและการใช้ประโยชน์ความตกลงและกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศในประชาคมอาเซียน โดยการนำเสนอผลการวิเคราะห์แนวทางการใช้ประโยชน์ความตกลงและกรอบความร่วมมือ รวมถึงประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องของอาเซียนในส่วนที่มุ่งเน้นและเชื่อมโยงกับมิติด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน(ASEAN Single Window) การอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดน (ASEAN Transportation Facilitation) กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origin) การระงับข้อพิพาท (Settlement of Disputes) รวมถึงประเด็นเร่งด่วนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของภูมิภาค เช่น การพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chains: GVCs) การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และทรัพย์สินทางปัญญา

(4) การพัฒนากลไกเชิงสถาบันของประเทศไทยเพื่อรองรับพันธกรณีตามความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ จะครอบคลุมผลการศึกษาโครงสร้างเชิงสถาบัน เพื่อรองรับพันธกรณีตามกรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิก รวมถึงเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นสมาชิกความตกลงฯ ที่มีมาตรฐานสูงในการปฏิบัติตามพันธกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนของพันธกรณีและข้อบทที่มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวพันระหว่างกันในเชิงบูรณาการ และมีความซับซ้อนค่อนข้างมาก เช่น สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพย์สินทางปัญญา อุปสรรคการค้าทางเทคนิค การลงทุน และบริการทางการเงิน เป็นต้น  ก็ยิ่งทำให้เกิดความจำเป็นของประเทศที่จะต้องพัฒนากลไกเชิงสถาบันที่มีประสิทธิภาพและพลวัตสูงในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกำหนดยุทธศาสตร์ และแผนที่นำทาง (Roadmap)สำหรับการเจรจาและการดำเนินการในระยะข้างหน้าต่อไป

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดงานสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัย ประจำปี 2560 “ ITD Research Forum 2017: ร่วมขับเคลื่อนนโยบายการค้าและการพัฒนาสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ตามหัวข้อดังกล่าวข้างต้น จะนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและพัฒนาองค์ความรู้ที่ทั้งภายในประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย ให้สามารถปรับตัวเข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์และกระบวนการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถในการจัดการกับประเด็นด้านการค้าและการพัฒนาต่าง ๆ ทั้งระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน