หาชีวิตจากความตาย

โฆษณาทางโทรทัศน์ของไทยประกันชีวิตชิ้นนี้ ที่พยายามบอกเล่าให้คนตระหนักถึงคุณค่าของการมีชีวิต ถือเป็นกรณีคลาสสิกที่ช่วยกระตุ้นเตือนจิตใจผู้คนที่กำลังกระวนกระวายกับชีวิตประจำวันในโลกอันแห้งแล้งของผลประโยชน์เฉพาะหน้าได้ดี

หลายคนอาจจะวิจารณ์ว่า ดูออกจะยัดเยียดกันมากไปสักนิด แต่หากพิจารณากันด้วยใจเป็นธรรม เรื่องราวสอนใจผู้คนทั้งหลายก็มักเป็นอย่างนี้แหละ จะให้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติได้ยังไง ต้องมีการชี้นำเพื่อกระชากสติกลับมาคิดถึงเรื่องที่มักจะถูกมองข้ามไป

แกนกลางหลักของชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเผ่าพันธุ์หรือสัญชาติไหน ล้วนวนเวียนอยู่กับความตายและการมีชีวิตทั้งสิ้น

บทเรียนของมนุษย์นับแต่มีการบันทึกประวัติศาสตร์ หรือบอกเล่าในรูปปรัมปราคติ ล้วนวนเวียนไปมาว่า การมีชีวิตนั้นมีคุณค่า และต้องสร้างความหมายให้กับคุณค่าดังกล่าวพร้อมกันไป

การหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นในโฆษณาของไทยประกันชีวิตจึงมีสารัตถะที่เป็นสากลอย่างยิ่ง แตกต่างไปจากโฆษณาบางชิ้นก่อนหน้านี้ที่เน้นไปที่ความเป็นไทย หรือการโฆษณาบริการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลชีวิต ที่อย่างไรเสียก็ยึดติดกับสินค้าหรือภาพลักษณ์บริษัทที่แยกไม่ออก

โฆษณาชิ้นนี้มีความแตกต่างออกไป เพราะแม้ในตอนท้าย จะมีเสียงบอกว่า “ไทยประกันชีวิต รู้คุณค่าของชีวิต” ก็ถือเป็นการเชื่อมโยงแต่เพียงบางเบา เพราะเนื้อหาของโฆษณาที่บอกเล่ามานั้น แรงมากพอที่จะสลัดทิ้งความเชื่อมโยงดังกล่าวออกไปได้

แน่นอน หลายคนอาจจะ “อิน” จนถึงกับยิ้มทั้งน้ำตาไปกับความซาบซึ้งกินใจของบทบาทของ “แม่ต้อย” (ตัวละครสมมติ หรือบุคลาธิษฐาน ที่อาจจะเอาตัวอย่างจากใครบางคนที่พบเห็นได้ หากต้องการจะสืบค้น)

แม่ต้อย เป็นมะเร็งซึ่งจะมีชีวิตอยู่ไปได้อีกไม่นานเกิน 2 ปี แต่ก็ไม่ได้ซึมเศร้า หรือจมปลักอยู่กับความเศร้า หากใช้ช่วงชีวิตที่เหลืออยู่อย่างเกินกว่าคุณค่า ด้วยการให้เส้นทางชีวิตใหม่แก่เด็ก 3 คน ที่หลงเดินทางผิดและกำลังจะกลายเป็นปัญหาสังคม แต่แม่ต้อยกลับพาเด็กๆ เหล่านั้นมาอุปการะเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ราวกับเป็นลูกของเธอเอง แม้เธอจะป่วยเป็นมะเร็ง และมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียงแค่ 2 ปี แต่เธอก็ยังสามารถเล่นกีตาร์ร้องเพลงสนุกไปกับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเด็กๆ

ตราบจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต

แม้ภาพยนตร์จะไม่ได้บอกต่อไปอีกว่า หลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้น แต่นั่นก็มากเพียงพอสำหรับสร้างจินตนาการให้ผู้คนที่ได้ชมภาพยนตร์โฆษณาชิ้นนี้ ได้คิดต่อล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น

เปิดโอกาสให้กับการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ

ถือเป็นการเล่นเกมทดสอบความคิดในเรื่องชีวิตและความตายได้อย่างสะเทือนอารมณ์ อย่างน้อยที่สุดก็ทิ้งประกายปัญญาให้เราได้คิดต่อไปอีกว่า สถานการณ์เลวร้ายที่คาดไม่ถึงนั้น เราควรแสดงปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง

ดูภาพยนตร์โฆษณาชิ้นนี้แล้วอดทำให้คิดถึงนวนิยายระดับโลกที่นำเสนอเนื้อหาทำนองเดียวกันในอดีต 2 เรื่องที่สุดแสนประทับใจ

เรื่องแรก The Death of Ivan Illych โดยนักเขียนรัสเซีย ลีโอ ตอยสตอย ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง The Fall โดยอัลแบร์ กามูส์ นักเขียนฝรั่งเศส

แถมท้ายด้วยนิยายเรื่องยาวยุคหลังของ’รงค์ วงศ์สวรรค์ (หนุ่ม) เรื่อง แดง รวี ที่ดูเหมือนจะไม่ได้รับความนิยมมากนัก ทั้งที่มีสาระดีเยี่ยม

เอาเรื่องแรกก่อน ผู้พิพากษาอีวาน อิลลิช กำลังมีชื่อเสียงและการงานที่ก้าวหน้าในกรุงเซนต์ ปีเตอร์เบอร์ก พร้อมกับสนุกสนานไปกับการแก่งแย่งเพื่อไต่บันใดทางสังคมสู่การเป็นชนชั้นสูงแข่งกันคนรอบข้าง

วันหนึ่ง เขาลื่นล้มกับพื้นถนนโดยบังเอิญ และเจ็บปวดอย่างมาก จึงไปเรียกแพทย์มาตรวจร่างกาย ซึ่งหลังการตรวจปรากฏข่าวร้ายอย่างยิ่งว่า เขากำลังจะตายภายในเวลาแสนสั้นจากโรคร้ายที่รักษาไม่หาย

ช่วงเวลารอความตายนี้เอง อีวาน อิลลิชได้มีโอกาสทบทวนถึงการใช้ชีวิตที่ผ่านมาของตนเอง และชะตากรรมที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าพร้อมกันไป ทำให้เขาตัดสินใจในท้ายสุดว่า จะต้องใช้ชีวิตที่เหลือให้คุ้มค่าที่สุดอย่างไร ก่อนที่จะจากไปอย่างมีความสุข

ส่วนเรื่องที่สอง ทนายความหนุ่มชาวฝรั่งเศส ผู้ซึ่งกำลังรุ่งโรจน์ในอาชีพที่เต็มไปด้วยเล่ห์เพทุบายในการว่าความในศาล เกิดได้ยินเสียงหญิงคนหนึ่งกระโดดน้ำตายใต้สะพานดังกล่าว โดยที่เขาไม่ได้คิดจะทำอะไร

คืนต่อมา เขาเดินผ่านสะพานเดียวกันอีกครั้ง คราวนี้ ได้ยินเสียงหัวเราะประหลาดใต้สะพาน ซึ่งตามมาหลอกหลอนจิตสำนึกของเขา ให้ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างรุนแรง และหลบหนีไปอยู่ในเมืองอัมสเตอร์ดัมซึ่งมีเครือข่ายของคลองในเมืองที่เขาบอกว่ามีลักษณะคล้าย “วัฏจักรของนรกภูมิ” พร้อมกับทำตัวเป็น “นักสารภาพผิด” กับใครต่อใครที่เขาค้นพบ เพื่อที่จะระบายความทุกข์ที่ได้เผชิญมา

เรื่องสุดท้าย เศรษฐีใหญ่จอมอิทธิพลแห่งกรุงเทพฯ ได้รับทราบว่า เขาจะต้องตายภายในเวลาที่คอมพิวเตอร์กำหนดล่วงหน้า ทำให้เขาต้องการกระทำสิ่งสุดท้ายในชีวิต นั่นคือ ค้นหาความลับของเมียลับคนล่าสุดที่มีประวัติโลดโผนและลึกลับที่ชื่อ แดง รวี เพื่อที่จะพบในท้ายที่สุดว่า ความจริงที่เขาต้องการค้นหานั้น ไม่เคยมีอยู่

แก่นแกนเรื่องว่าด้วยความตายและชีวิตที่มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งเช่นนี้ เป็นสารัตถะที่มนุษย์ทุกคนต้องประสบมา เฉกเช่นเดียวกันกับความรักและการพลัดพราก หรือการแสวงหาที่ไร้ขอบเขตของความเป็นมนุษย์ที่ไม่เคยสมบูรณ์

เราสามารถค้นหาความหมายของชีวิตได้จากความตาย และในทางกลับกัน เราก็ต้องไม่ประเมินความตายต่ำจนเกินไปในระหว่างดำรงชีวิตประจำวัน

การนำเสนอสารัตถะเช่นนี้ เป็นการ “กลับคืนสู่ฐานราก” ของชีวิตที่มีความหมายและต้องย้อนกลับมาเพื่อมิให้มนุษย์ล่องลอยไปกับสถานการณ์ต่างๆ เสียจนกระทั่งหาความหมายของชีวิตไม่เจอ

ถือเป็นคุณูปการสำคัญของผู้จ่ายเงินผลิตโฆษณาชิ้นนี้ ที่พยายามรื้อสติของผู้คนในสังคมให้กลับมาสู่สามัญลักษณ์อย่างแท้จริง

ไทยประกันชีวิตทำดีอีกครั้งสำหรับภาพยนตร์โฆษณาชิ้นนี้ ภาพลักษณ์มีเท่าใด ก็คงต้องชื่นชมกันให้มากๆ

เจ้าของผลิตภัณฑ์ : บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด
ผลิตภัณฑ์ : บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด
ภาพยนตร์โฆษณา : Melody of Life
ความยาว : 180/120/45 วินาที
วันเริ่มออกอากาศ : 2 พฤศจิกายน 2551
เอเจนซี่ : โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ แอ็ดเวอร์ไทซิ่ง

ทีมงานสร้างโฆษณา
Creative Team : กรณ์ เทพินทราภิรักษ์ Excusive Creative Director
TV Producer : ยุทธพงษ์ วรานุเคราะห์โชค
Film Director : ธนญชัย ศรศรีวิชัย
Production House: Phenomena

แนวความคิด
“ชีวิตที่มีค่า คือ การทำให้ชีวิตผู้อื่นมีค่า”