‘วีโก’ แบรนด์เล็กๆ แต่เป้าหมายไม่เล็ก

สมาร์ทโฟน วีโก” (Wiko) เป็นแบรนด์หน้าใหม่ ที่เพิ่งเข้ามาเปิดตลาดมือถือระดับล่างในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา (2557-2560) สิ่งที่ วีโก ดูต่างออกไปจากคู่แข่งขันด้วยกัน คือการเป็นมือถือสัญชาติฝรั่งเศส ที่ถูกรายล้อมด้วยแบรนด์จากฝั่งเอเชีย แต่ความสามารถในการเกณฑ์รายได้ 1,300 ล้านบาทปีที่ผ่านมา ก็สะท้อนให้เห็นว่า ยังมีช่องว่างในตลาดสมาร์ทโฟนอีกมาก แม้ในภาพใหญ่ของตลาดเมืองไทยจะถูกซัมซุงครอบครองแล้วก็ตาม

ทุกวันนี้สมาร์ทโฟนเป็นปัจจัย 1 ใน 3 ไม่ใช่ 1 ใน 5 เราเน้นทำตลาด โดยเจาะความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคเป็นสำคัญอาณัติ วัดจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีโก โมบาย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

อาณัติ วัดจินดา

วีโกแจ้งเกิดในตลาดสมาร์ทโฟนด้วยระดับราคาเริ่มต้น 1,990 บาท ขนาดจอ 5 นิ้ว ในยุคที่สมาร์ทโฟนเป็นสินค้าอุปโภคที่ใครๆ ก็ซื้อหาได้ จุดที่ทำให้วีโกมีพื้นที่ยืนคือ การวิจัยหาความต้องการของผู้บริโภค (consumer insight) เช่น ผู้บริโภคอยากได้มือถือจอใหญ่เห็นได้มากกว่าแต่ต้องถือง่าย สะดวก ถือมือเดียว ขณะเดียวกันก็ต้องมีราคาจับต้องได้ง่าย บริษัทจึงวางกลยุทธ์สินค้าให้เข้าถึงลูกค้าทุกคน เน้นขายสินค้าที่มีมูลค่าตรงกับคุณสมบัติการใช้งาน กำหนดกลยุทธ์ราคาให้คนกลุ่มใหญ่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ด้วยงบฯ ไม่มาก โดยเฉพาะฐานลูกค้าต่างจังหวัดเป็นตลาดใหญ่ของวีโกซึ่งคู่แข่งอย่างออปโป้และวีโว่ไม่ลงไปเล่น ขณะเดียวกันเป็นฐานที่เฮาส์แบรนด์ของค่ายโอเปอเรเตอร์มือถือก็ยังเข้าไม่ถึงลูกค้าได้มากเท่า

วีโกเริ่มต้นยอดขายช่วงแรก 40,000 เครื่อง ขยับมาเป็น 200,000 เครื่องในปีถัดมา และใช้เวลาสองปีครึ่ง (2557-2559) ทำยอดขายรวมกันได้ 1 ล้านเครื่อง ในตลาดระดับราคา 2,000-3,000 บาท เมื่อแน่ใจว่าตลาดเริ่มตอบรับ ปลายปี 2560 บริษัทจึงเปิดตัวรุ่นใหม่ view series ราคา 4,990-7,490 บาท จำนวน 3 รุ่น เพื่อขยับขึ้นไปเปิดตลาดสมาร์ทโฟนราคาสูงกว่า 4,000 บาท ซึ่งเป็นฐานใหญ่ที่คู่แข่งขัน อย่าง ซัมซุง ออปโป้ และหัวเว่ย ปักหลักอยู่

ปีนี้บริษัทตั้งเป้าจำหน่ายมือถือทุกรุ่นรวมทั้งรุ่นที่เพิ่งเปิดตัวไปให้ได้ 1 ล้านเครื่อง คิดเป็นยอดขาย 2,500 ล้านบาท โดยผ่านมา 3 ไตรมาส วีโกสามารถทำยอดขายไปได้แล้ว 1,000 ล้านบาทปลายๆ หรือประมาณ – 7 แสนเครื่อง คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 3.5% จากตลาดรวมมือถือ 17 ล้านเครื่อง

ในระยะสองปีจากนี้ วีโกตั้งเป้าจะมีส่วนแบ่งตลาด 5% ภายในสิ้นปี 2560 และเพิ่มเป็น 10%ในครึ่งปีแรกของ 2561ประกาศจุดยืนในสมาร์ทโฟนตลาดล่างว่าเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญที่กำหนดกลยุทธ์ส่วนแบ่งตลาดจากการมองภาพรวมและประเมินศักยภาพของแบรนด์

คิมเบอร์ลีในงานวีโก

ปีนี้ วีโก จึงทุ่มงบการตลาด  120 ล้านบาท ดึงนางเอกช่อง 3  คิมเบอร์ลี แอน เทียมศิริ เป็นพรีเซ็นเตอร์ เพื่อสร้างการรับรู้ผ่านสิ่งพิมพ์ วิทยุ และสื่อนอกบ้าน (Out of Home) ควบคู่ไปกับทางออนไลน์ ช่วยให้ลูกค้ามั่นใจ และจดจำแบรนด์ได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนสมาร์ทโฟนรุ่น view series เป็นสินค้าเรือธงที่ วีโก ตั้งใจชนกับแบรนด์รุ่นพี่เต็มตัว โดยเพิ่มความฮึกเหิมกับสโลแกนใหม่ game changer ที่หมายความถึง โอกาสของแบรนด์เล็ก ที่จะเข้าไปเปลี่ยนประวัติศาสตร์ ในตลาดมือถือตั้งแต่ 4,000 บาทขึ้นไป

ฟอเรนซ์ คอร์เดียร์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและวางแผนกลยุทธ์สินค้า วีโก โมบาย ประเทศฝรั่งเศส บอกว่า ปีที่แล้วถือเป็นปีที่ดีของวีโก เพราะสามารถขายได้ทั่วโลก 10 ล้านเครื่อง คิดเป็นสองเท่าจากปี 2557

ปัจจุบันวีโกมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับสอง 17% รองจากซัมซุงที่นำมาอันดับหนึ่ง 31% ขณะที่แอปเปิลตามมาเป็นอันดับสาม 14% สำหรับตลาดรวมสมาร์ทโฟนในยุโรปวีโกขายได้เป็นอันดับสองรองจากแอปเปิลและซัมซุงนำมาเป็นอันดับสาม

ความสำเร็จของวีโกในตลาดยุโรปทำให้บริษัทแม่เบนเข็มมาเปิดตลาดเอเชียโดยไทยเป็นประเทศที่มียอดขายสูงสุดในเอเชีย และก่อนหน้านี้บริษัทเพิ่งเปิดตลาดในญี่ปุ่นและวางแผนขยายตลาดในอีกหลายประเทศ

วีโก โมบาย ฝรั่งเศส ตั้งเป้าหมายขายให้ได้ 15 ล้านเครื่องภายในปี 2560 นี้ และกำหนดยุทธศาสตร์ 2560-2563 เป็นผู้ค้ามือถือหลักในตลาดโลก

ถึงแม้ตลาดสมาร์ทโฟนจะถูกครอบครองโดยแบรนด์ใหญ่อย่างไอโฟนและซัมซุง แต่ความอิ่มตัวทางเทคโนโลยีทำให้ความสามารถของสมาร์ทโฟนไม่ได้ทิ้งห่างไปกว่ากัน สำหรับมือถือรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่ยักษ์ใหญ่ชิงกันเปิดตัว ยิ่งราคาถูกกำหนดขึ้นไปสูงลิ่วมากเท่าไหร่ช่องว่างของการใช้งานจริงกับการใช้งานเพื่อภาพลักษณ์ก็ยิ่งถ่างกว้างขึ้น ทำให้กลุ่มคนไม่น้อยหันไปหาสินค้าตลาดรองมากขึ้น เป็นจุดเปลี่ยนทำให้แบรนด์นอกสายตาอย่างหัวเว่ย เสี่ยวมี่ (Xiaomi) เหม่ยซู (Meizu) วีโว่ และ วีโก เข้ามาอยู่ในกระแส และได้รับการยอมรับมากขึ้น.