หลังจากที่ได้คัมแบ็กในการทำตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทยเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา สำหรับแบรนด์ “โมโตโรลา” ภายใต้บ้านหลังใหม่ในเครือ “เลอโนโว” ที่ได้เข้าซื้อกิจการเมื่อปี 2557 แล้วได้ทำการรีแบรนด์เปลี่ยนชื่อเหลือแค่ “โมโต” เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ
แต่ด้วยการแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนที่ยังดุเดือดขึ้นทุกปี ยิ่งการเข้ามาตีตลาดของสมาร์ทโฟนแบรนด์จีนที่เข้ามากินส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ โมโตจึงตัดสินใจกลับมาใช้ชื่อแบรนด์ “โมโตโรลา” เช่นเดิม เริ่มเปลี่ยนได้ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หวังอาศัยความเก๋าเกมในตลาดที่มีอายุยาวนาน 89 ปี สู้ศึกสมาร์ทโฟนยุคใหม่
โมโตโรลาได้วางจุดยืนเป็นสมาร์ทโฟนในระดับกลาง–พรีเมี่ยม ในช่วงเปิดตัวได้นำร่องด้วยรุ่น Moto Z เป็นตระกูลระดับพรีเมี่ยม เพื่อสร้างแบรนด์ หลังจากนั้นก็ได้เติมพอร์ตด้วยเซ็กเมนต์อื่นๆ ทั้งระดับกลาง และระดับล่าง โดยเน้นในกลุ่มกลางราคา 7,000-10,000 เป็นหลัก เพราะเป็นตลาดใหญ่ในประเทศ มีการเติบโตสูง
ในปีนี้โมโตโรลาจึงใส่หมัดฮุคในตลาดเซ็กเมนต์ระดับกลางเป็นตัวกระตุ้นตลาด ได้มีตระกูล Moto g เป็นตัวหลักในเซ็กเมนต์นี้ ล่าสุดได้เปิดตัว 2 รุ่น ได้แก่ Moto g5s และ Moto g5s plus เน้นเรื่องดีไซน์และกล้องถ่ายรูปมีกล้องคู่เป็นรุ่นแรกของโมโตโรลา
อาวิทธ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟน ประจำภูมิภาคอาเซียน เลอโนโว ประเทศไทย กล่าวว่า “หลังจากกลับมาทำตลาดไทยได้หนึ่งปีก็ได้รับผลตอบรับดี ทำให้ตอนนี้ลูกค้าของโมโตโรลาแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มแฟนดั้งเดิมที่ใช้มานาน และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบแกดเจ็ตมองหานวัตกรรมใหม่ๆ ยังคงเจาะ 2 กลุ่มนี้เป็นหลัก แต่จะเน้นกลุ่มเจนวายมากขึ้น เพราะกลุ่มนี้โตมากับเทคโนโลยี“
อาวิทธ์ ได้ประเมินการแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนในไทยว่า มีการแข่งขันดุเดือดตลอดแต่ก่อนมีแบรนด์หลักไม่กี่แบรนด์ตอนนี้มีแบรนด์จีนเข้ามาเพิ่มทำให้โจทย์ใหญ่ของโมโตโรลาในปีนี้คือ ต้องพลิกเกมหาจุดแตกต่างในตลาดจึงเน้นที่การสื่อสารต่างจากคู่แข่งและเป็นเหตุผลหลักที่นำชื่อแบรนด์โมโตโรลากลับมาใช้ดังเดิม เพราะชื่อแบรนด์ยังมีประวัติศาสตร์ให้คนนึกถึงอยู่เป็นชื่อที่ทุกคนจำได้
สำหรับรุ่น Moto g5s ยังคงใช้กลยุทธ์พรีเซ็นเตอร์อยู่ เลือก “ว่าน ธนกฤต” นักร้องจากบ้าน AF เพราะเป็นยูสเซอร์ที่ใช้งานจริงและมีคาแร็กเตอร์ที่ตรงกับโมโตโรลา
สำหรับประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญอันดับที่ 3 ของโมโตโรลาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รองจากอินเดีย และอินโดนีเซีย ในอินเดียสามารถขึ้นเป็นเบอร์ 2 ในตลาดสมาร์ทโฟน ส่วนที่อินโดนีเซียอยู่เบอร์ 3 แต่ในประเทศไทยอาวิทธ์มองว่าต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพราะเพิ่งกลับมาทำตลาดไม่นาน
ที่ผ่านมาประเทศไทยโมโตโรลามียอดขายเฉลี่ย 1 ล้านเครื่อง/เดือน กลุ่มหลักเป็นเซ็กเมนต์ระดับกลาง–ล่าง ราคา 3,000-5,000 บาท จำนวนกว่า 4 แสนเครื่อง และเซ็นเมนต์กลาง–บน ราคา 7,000-10,000 บาท จำนวน 2 แสนเครื่อง
แผนการตลาดของโมโตโรลาจึงได้ทำการเติมสินค้าให้ครบทุกกลุ่มกลุ่มพรีเมี่ยมมีตระกูล Moto Z ระดับกลางมี Moto g และระดับล่างมี Moto E และขยายช่องทางจำหน่ายมากขึ้น ตอนนี้เป็นพันธมิตรกับทรู โดยในอนาคตจะขยายไปกับโอเปอเรเตอร์เจ้าอื่นด้วย รวมทั้งมีช่องทางอื่นอย่างโมเดิร์นเทรด ดีลเลอร์ ออนไลน์ รวม 1,500 จุด
เป้าหมายของโมโตโรลาคือต้องการเป็น “ผู้ท้าชิง” ของแบรนด์อื่นๆ ในตลาดทุกแบรนด์ ตัองการเป็นเบอร์ 2 ในทุกประเทศที่ทำตลาดภายใน 3 ปีให้ได้.