คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ดัชนีความสามารถ ทางการแข่งขันระดับโลก ไทยติดอันดับ 32 ของโลก

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของ WEF (World Economic Forum) ได้จัดเผยแพร่รายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index : GCI) ซึ่งเปรียบเทียบความสามารถการแข่งขันของ 137 ประเทศทั่วโลก ในปีนี้ประเทศที่ได้อันดับหนึ่งถึงสิบ คือ สวิตเซอร์แลนด์ ตามมาด้วย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ฮ่องกง สวีเดน สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และฟินแลนด์ ตามลำดับ โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 32 โดยมีคะแนน 4.7 จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน

รองศาสตราจารย์ ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของ WEF (World Economic Forum) ในประเทศไทย เผยว่า ทางคณะฯ เป็นผู้ทำการเก็บข้อมูลเชิงลึก จากแบบสอบถามกับผู้บริหารระดับสูง ขององค์กรขนาดใหญ่และขนาดย่อม ในทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดย WEF ซึ่งนำไปคำนวณดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก โดยมีตัวชี้วัด 114 ตัว จัดแบ่งเป็น 3 กลุ่มใน 12 ด้าน ที่สะท้อนภาพความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ

ปีนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 32 ด้วยคะแนน 4.7 ซึ่งนับว่าดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 34 และมีคะแนน 4.6 โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า คะแนนและอันดับของประเทศนั้น หากเปรียบเทียบกับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย ในปีที่ผ่านมา จะพบว่า ด้านที่มีอันดับที่ดีขึ้นและส่งผลบวกต่อดัชนีความสามารถทางการแข่งขันโดยรวม ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 4.4 เป็น 4.7 และได้รับอันดับดีขึ้นจาก 49 เป็น 43 นับเป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากในแง่ของอันดับที่สูงขึ้นจาก คุณภาพของถนน คุณภาพของโครงสร้างระบบราง คุณภาพของท่าเรือ คุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศ และ โดยเฉพาะในแง่ของ สัดส่วนการเป็นสมาชิกโทรศัพท์เคลื่อนที่/มือถือ (Mobile-cellular Telephone Subscriptions) นั้น ได้รับอันดับดีขึ้นอย่างมากจากอันดับที่ 55 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับที่ 5 ในปีนี้

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นในหลายๆ ด้านในปีนี้ ประกอบด้วย ด้านประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน (Labor Market Efficiency) ด้านสภาพแวดล้อมด้านหน่วยงาน (Institutions) ด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม (Higher Education and Training) ด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Environment) รวมถึง ด้านที่บ่งชี้ถึงการพัฒนาของประเทศอย่างชัดเจน อย่างทางด้านนวัตกรรม (Innovation) และด้านความพร้อมเทคโนโลยี (Technological Readiness) ก็ได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ด้วย

เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับภาพรวมของการจัดอันดับทั้งโลก ปรากฏว่า ดัชนีชี้วัดที่น่าสนใจของประเทศไทย ที่ได้รับการจัดให้อยู่ใน 30 อันดับแรกของโลกนั้น ประกอบด้วย อัตราการเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษา (Secondary Education Enrollment Rate) อยู่ในอันดับที่ 8 จาก 137 ประเทศเลยทีเดียว ดีขึ้นอย่างมากจากอันดับในปีที่แล้ว คือ อันดับที่ 84 ในแง่ของสมดุลในงบประมาณรัฐบาล (Government Budget Balance) และ สัดส่วนการออมของประเทศต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (Gross National Saving) ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้อยู่ในอันดับที่ 10 และ 16 ตามลำดับ  จาก 137 ประเทศ ส่วน ขนาดของตลาดทั้งตลาดต่างประเทศและตลาดภายในประเทศ (Foreign and Domestic Market Size) นั้นได้รับการจัดอันดับที่ 13 และ 24 ตามลำดับ รวมถึง มูลค่าของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) ก็ได้รับการจัดอันดับที่ 20 นับเป็นอันดับที่สูงมากเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นทางด้านการเงินและการตลาด ที่ประเทศไทยได้รับอันดับในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก นั่นคือ การจัดหาเงินทุนผ่านทางตลาดทุนในประเทศ (Financing through Local Equity Market) ความพร้อมของบริการทางการเงิน (Availability of Financial Services) ความแข็งแกร่งของระบบธนาคาร (Soundness of Banks) และ ความเพียงพอของทุนร่วมเสี่ยง (Venture Capital Availability) ซึ่งได้รับอันดับที่ 20  23  27 และ 27 ตามลำดับ ซึ่งบ่งชี้ถึงความพร้อมทางด้านตลาดการเงินของประเทศในการสนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึง ปัจจัยด้านการตลาด (Extent of Marketing) และ ระดับการมุ่งเน้นตอบสนองลูกค้า (Degree of Customer Orientation) ได้รับอันดับที่ 21 และ 25 ตามลำดับ ที่แสดงให้เห็นถึงระดับการพัฒนาในแนวคิดด้านการตลาดเช่นเดียวกัน และเห็นได้ชัดว่าในประเด็นดังกล่าวนั้น  ประเทศไทยได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงในระดับโลก อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศในกลุ่ม ASEAN + 3 ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับไทยเป็นอย่างสูงนั้น ผลปรากฏว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับในลำดับที่ 6  เมื่อเทียบกับกลุ่ม ASEAN+3 ทั้งหมด โดยเป็นรองประเทศ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และ จีน ซึ่งได้รับอันดับเดียวกันกับปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นการสะท้อนสถานะทางการแข่งขันที่มั่นคงของไทยในเวที ASEAN+3 ได้เป็น  อย่างดี

ทั้งนี้ การสำรวจความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ โดย WEF (World Economic Forum) หรือ ดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index : GCI) ซึ่งเป็นมาตรวัดที่สำคัญที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเฝ้ารอและจับตาดู เนื่องด้วย นอกจากจะเป็นการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ รวมถึงยังสามารถชี้ให้เห็นถึงจุดเด่นและประเด็นที่ควรต้องพิจารณา เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งในประเทศไทย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นพันธมิตรที่ร่วมพัฒนาและเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว

การจัดอันดับเปรียบเทียบในภาพรวมของความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศที่ปรากฏใน GCI ประกอบไปด้วยรายละเอียด 3 กลุ่มปัจจัย แบ่งเป็น 12 ด้าน (Pillars) ที่รวมเข้าเป็นดัชนีองค์รวมดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มปัจจัยพื้นฐาน (Basic Requirements) ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่การผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศ ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ ทางด้านสภาพแวดล้อมด้านหน่วยงาน (Institutions) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Environment) ด้านสุขภาพและการศึกษาเบื้องต้น (Health and Primary Education) กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มเสริมประสิทธิภาพ (Efficiency Enhancers) ซึ่งจะนำไปสู่ความมีประสิทธิภาพของประเทศ ประกอบด้วย 6 ด้าน คือ ด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม (Higher Education and Training) ด้านประสิทธิภาพของตลาดสินค้า (Goods Market Efficiency) ด้านประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน (Labor Market Efficiency) ด้านพัฒนาการของตลาดการเงิน (Financial Market Development) ด้านความพร้อมเทคโนโลยี (Technological Readiness) ขนาดของตลาด (Market Size) และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มนวัตกรรมและระดับการพัฒนา (Innovation and Sophistication) ซึ่งมุ่งเน้นการการผลักดันระดับนวัตกรรมของประเทศ ประกอบด้วย 2 ด้าน คือ ระดับการพัฒนาของธุรกิจ (Business Sophistication) และด้านนวัตกรร (Innovation)