‘ไอบีเอ็ม’ เปิดตัวโซลูชันบล็อกเชนเสริมความเร็วการชำระเงินทั่วโลก โดยมี ‘กสิกรไทย’ และธนาคารชั้นนำ ร่วมพัฒนาขยายการใช้งานข้ามระเบียงสกุลเงินทั่วโลก

ไอบีเอ็ม (NYSE: IBM) ประกาศเปิดตัวโซลูชันการชำระเงินข้ามประเทศระบบสากลผ่านบล็อกเชน ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการชำระเงินทั่วโลกสำหรับกลุ่มธุรกิจและผู้บริโภค โดยร่วมกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีอย่างสเตลลาร์ (Stellar.org) และคลิกเอ็กซ์ กรุ๊ป (KlickEx Group) นำไอบีเอ็ม บล็อกเชน เข้าใช้กับบริการหักบัญชีและชำระดุล (clearing and settlement) ทางการค้าผ่านเครือข่ายเดียว ให้กระบวนการทั้งหมดเป็นไปได้ในความเร็วเกือบเรียลไทม์

ปัจจุบันการชำระเงินข้ามประเทศมีราคาสูง ใช้เวลานาน และมักมีความผิดพลาดเกิดขึ้นเสมอ การทำธุรกรรมข้ามสกุลเงินจะต้องผ่านตัวกลางหลายฝ่ายและใช้เวลาหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ โดยรายงานของธนาคารโลกชี้ให้เห็นว่าการพัฒนารูปแบบการชำระเงินและการเข้าถึงแหล่งเงินจะนำสู่การไหลเวียนของสกุลเงินและการค้าต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้สามารถขยายบริการทางการเงินให้เข้าถึงคน 1 พันล้านคนทั่วโลกได้ภายในปี พ.ศ. 2563 [1]

ที่ผ่านมาได้เริ่มมีการนำโซลูชั่นดังกล่าวมาใช้ในการทำธุรกรรมในเส้นทางสกุลเงิน 12 สกุลทั่วหมู่เกาะแปซิฟิกและออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมถึงสหราชอาณาจักรแล้ว โดยการใช้เลดเจอร์แบบกระจายศูนย์ (distributed ledger) จะช่วยให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงและทราบสถานะของการทำธุรกรรมหักบัญชีและชำระดุล โซลูชันนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเงินทั่วโลก สำหรับการชำระเงินทุกประเภท ไม่ว่าจะมีมูลค่าเท่าใดก็ตาม อีกทั้งยังช่วยให้สถาบันการเงินสามารถเลือกเครือข่ายการชำระดุลที่ต้องการสำหรับการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง

ตัวอย่างเช่น ในอนาคต เครือข่ายนี้จะช่วยให้ชาวนาในซามัวสามารถจัดทำสัญญาการค้ากับผู้ซื้อในอินโดนีเซียได้ โดยบล็อกเชนช่วยให้สามารถบันทึกเงื่อนไขของสัญญา จัดการเอกสารการค้า ช่วยให้ชาวนาสามารถเสนอหลักประกันที่ไม่ใช่เงินสด รับเล็ตเตอร์อ็อฟเครดิต และบรรลุข้อตกลงรายการค้าโดยการชำระเงินในทันที ซึ่งเป็นการทำการค้าระดับโลกด้วยความโปร่งใสและสะดวกครบวงจร

ทั้งนี้ ไอบีเอ็มได้ร่วมกับกลุ่มธนาคารชั้นนำในการร่วมพัฒนาและนำโซลูชันนี้มาใช้ ประกอบด้วยธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารบิลเบาวิซคายาอาร์เคนตาเรีย, ธนาคารดานามอน อินโดนีเซีย, ธนาคารแมนดิริ, ธนาคารเนการา อินโดนีเซีย, ธนาคารเพอร์มาตา, ธนาคารรัคยาต อินโดนีเซีย, มิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป, ธนาคารแห่งชาติออสเตรเลีย, ธนาคารพาณิชย์ริซัล (RCBC) ฟิลิปปินส์, ซูมิโตโม มิตซุย ไฟแนนเชียลกรุ๊ป, ทีดีแบงค์ วิซดรอว์ (HK) แห่งเวิร์ลด์คอมไฟแนนซ์ และสถาบันการเงินอื่นๆ

ไอบีเอ็มกำลังสำรวจแนวทางใหม่ๆ ภายใต้คำแนะนำของสถาบันการเงินชั้นนำระดับโลกหลายแห่ง เพื่อพัฒนาให้เครือข่ายการชำระเงินมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การทำธุรกรรมต่างๆ เป็นไปได้แบบเรียลไทม์ แม้ในพื้นที่ห่างไกลที่สุดของโลกบริดเจ็ต แวน คราลินเก็น รองประธานอาวุโส ไอบีเอ็มอินดัสทรีแพลตฟอร์ม กล่าว โซลูชันการชำระเงินข้ามประเทศผ่านบล็อกเชนจะนำสู่โมเดลใหม่การชำระเงินในสกุลเงินต่างประเทศ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการหักบัญชีและชำระดุลให้เกิดขึ้นได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที ภายใต้เครือข่ายเดียวกัน

โซลูชันดังกล่าวจะผนวกรวมแพลตฟอร์มบล็อกเชนของไอบีเอ็มที่เรียกใช้งานบนไฮเปอร์เลดเจอร์ แฟบริก (Hyperledger Fabric) ที่สร้างขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับ Stellar.org ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่แสวงหากำไรและสมาชิกของไฮเปอร์เลดเจอร์ รวมถึงคลิกเอ็กซ์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการทางการเงินระดับภูมิภาคในเขตแปซิฟิค สเตลลาร์เป็นเครือข่ายบล็อกเชนโอเพ่นซอร์สสำหรับบริการทางการเงินที่ตั้งขึ้นภายใต้จุดประสงค์ในการออกและแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยสินทรัพย์ดิจิทัลจะถูกออกโดยเครือข่ายของสเตลลาร์ในลักษณะสะพานแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศซึ่งจะนำสู่การชำระดุลในระยะเวลาเกือบเรียลไทม์ ขณะที่คลิกเอ็กซ์ กรุ๊ป จะทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินที่ร่วมก่อตั้งในภูมิภาคนี้ ให้บริการแก่ธนาคาร ลูกค้าธุรกิจค้าปลีก และผู้บริโภค

นวัตกรรมและการร่วมมือกับคู่ค้าครั้งนี้ถือเป็นไมล์สโตนสำคัญสำหรับสเตลลาร์และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงินโดยรวมเจด แมคคาเล็บ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายไอที (CTO) ของ Stellar.org กล่าว เรากำลังนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การชำระเงินข้ามประเทศในระเบียงสกุลเงินแบบรวมที่ประกอบด้วยหลายสกุล ก่อนหน้านี้การชำระเงินข้ามประเทศจะต้องใช้เวลาหักบัญชีนานหลายวัน โซลูชันใหม่นี้จะสร้างผลกระทบเชิงบวกที่สำคัญต่อบรรดาประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ และทันทีที่ได้รับการขยายใช้อย่างเต็มที่โดยไอบีเอ็มและคู่ค้าในธุรกิจธนาคาร โซลูชันนี้ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเคลื่อนย้ายเงินทั่วโลก ช่วยพัฒนาการทำธุรกรรมระหว่างประเทศในปัจจุบัน และส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ก้าวล้ำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

ปัจจุบันสมาชิกของ Advanced Pacific Financial Infrastructure for Inclusion (APFII) ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนเบื้องต้นจากองค์การสหประชาชาติและ SWIFT ได้เริ่มใช้เครือข่ายนี้ ซึ่งจะสามารถประมวลผล 60 เปอร์เซ็นต์ของการชำระเงินข้ามประเทศในระเบียงอัตราแลกเปลี่ยนของธุรกิจค้าปลีกในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ประกอบด้วยออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิจิ ซามัว และตองกา ภายในช่วงต้นปีหน้า ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารบิลเบาวิซคายาอาร์เคนตาเรีย, ธนาคารดานามอน อินโดนีเซีย, ธนาคารแมนดิริ, ธนาคารเนการา อินโดนีเซีย, ธนาคารเพอร์มาตา, ธนาคารรัคยาต อินโดนีเซีย, มิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป, ธนาคารแห่งชาติออสเตรเลีย, ธนาคารพาณิชย์ริซัล (RCBC) ฟิลิปปินส์, ซูมิโตโม มิตซุย ไฟแนนเชียลกรุ๊ป, ทีดีแบงค์ และวิซดรอว์ (HK) แห่งเวิร์ลด์คอมไฟแนนซ์ จะได้รับเชิญให้เข้าร่วมในเครือข่ายนี้ และช่วยขยายต่อไปยังภูมิภาคต่างๆ ของโลกในปี พ.ศ. 2561

เครือข่ายบล็อกเชนที่ดำเนินการร่วมกับคลิกเอ็กซ์ และสเตลลาร์ เป็นหนึ่งในโครงการบล็อกเชนสำหรับแวดวงการบริการทางการเงินที่สนับสนุนโดยไอบีเอ็ม ซึ่งรวมถึงการสร้างเครือข่ายการชำระเงินในสกุลเงินต่างประเทศ การบริหารการลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

(Private Equity) การให้ยืมหลักทรัพย์ และการจัดหาเงินทุนเพื่อการค้า

เกี่ยวกับไอบีเอ็ม ไอบีเอ็มเป็นผู้นำในโซลูชันบล็อกเชนแบบโอเพนซอร์สสำหรับองค์กร และเป็นสมาชิกรุ่นแรกของโครงการไฮเปอร์เลดเจอร์ (Hyperledger) ซึ่งเป็นความพยายามในการร่วมมือเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยบริษัทได้ทุ่มเทอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมการพัฒนาบล็อกเชนที่สามารถควบคุมได้แบบเปิดกว้าง ไอบีเอ็มทำงานร่วมกับลูกค้ามากกว่า 400 รายในแวดวงบริการทางการเงิน ซัพพลายเชน อินเตอร์เน็ตอ็อฟธิงส์ การบริหารจัดการความเสี่ยง การบริหารจัดการสิทธิ์เชิงดิจิทัล และการดูแลสุขภาพ เพื่อนำแอพพลิเคชันบล็อกเชนมาใช้งาน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไอบีเอ็ม บล็อกเชน สามารถดูได้ที่ https://www.ibm.com/blockchain/

เกี่ยวกับคลิกเอ็กซ์ (KlickEx) KlickEx.co เป็นระบบการชำระเงินข้ามประเทศในระดับภูมิภาคที่ได้รับรางวัล ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้แก่ตลาดเกิดใหม่ และมีบทบาทในการพัฒนาบริการทางการเงินระบบดิจิทัลในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกที่ยังขาดแคลนธนาคาร รวมถึงลดต้นทุนให้แก่ธนาคาร ธนาคารกลาง และผู้บริโภคในสกุลเงินที่มีสภาพคล่องต่ำ นอกจากนี้ คลิกเอ็กซ์ยังเป็นระบบกำกับดูแลในระดับภูมิภาค ที่มีส่วนช่วยลดต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับระบบ คลิกเอ็กซ์เป็นเจ้าของส่วนปฏิบัติงานด้านการโอนเงินที่ใหญ่ที่สุดหลายแห่งในแปซิฟิก และเป็นศูนย์หักบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค โดยครองส่วนแบ่งตลาดของธุรกรรมสกุลเงินต่างประเทศด้านการค้าปลีกต่อปีถึงกว่า 60% (คิดตามมูลค่าและปริมาณ) ในเขตพื้นที่ที่สำคัญ ระบบนี้มีบทบาทสำคัญในแปซิฟิกและยุโรป และเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งของ www.APFII.org ที่ประมวลผลธุรกรรมมากกว่า 775,000 รายการต่อวินาที ต่อประชากรหนึ่งพันล้านคน

เกี่ยวกับ Stellar.org Stellar.org เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรในซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งคอยสนับสนุนเครือข่ายสเตลลาร์ เครือข่ายแบบโอเพนซอร์สที่ให้บริการฟรี ซึ่งเชื่อมต่อระบบการเงินต่างๆ และเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถสร้างบริการทางการเงินต้นทุนต่ำ (เช่น การชำระเงิน การออม สินเชื่อ ประกันภัย) ให้แก่ชุมชนของตน เครือข่ายสเตลลาร์ช่วยให้สามารถเคลื่อนย้ายเงินโดยตรงระหว่างบุคคล บริษัท และสถาบันทางการเงินได้อย่างง่ายดาย การเชื่อมต่อระหว่างกันนี้ หมายถึง การที่บุคคลสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ธนาคารมีต้นทุนต่ำลง และธุรกิจต่างๆ มีรายได้เพิ่มขึ้น สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Stellar.org โปรดไปที่ http://www.stellar.org