คลื่นความถี่ “ดีแทค” เรื่องนี้ “ซิกเว่” ต้องมาเอง

สถานการณ์ของดีแทค ผู้ให้บริการมือถือที่มีเทเลนอร์ ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจากประเทศนอร์เวย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ใกล้งวด เมื่อสัญญาสัมปทานที่ดีแทคทำกับ กสท.โทรคมนาคมที่ให้บริการบนคลื่น 1800 และ 900 จำนวน 45 เมก และ 10 เมก จะหมดลงในวันที่ 15 กันยายน 2561 ทำให้ดีแทคที่มีลูกค้าทั้งหมดประมาณ 23.6 ล้านราย จะเหลือคลื่น 2100 จำนวน 15 เมก เท่านั้น ในขณะที่คลื่น 2300 ที่ทำข้อตกลงไว้กับทีโอที ยังคงไม่มีข้อสรุป

วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายนผ่านมา ซิกเว่ เบรกเก้ นายใหญ่เทเลนอร์ บินตรง นำทีม ซีอีโอดีแทค ลาร์ส นอร์ลิ่ง เข้าพบ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร รักษาการประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อหารือเรื่องทิศทางของการประมูลคลื่นใหม่ของ กสทช.

ซิกเว่ เบรกเก้ อดีตซีอีโอดีแทค ที่ตอนนี้เป็นซีอีโอเทเลนอร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ดีแทคเป็นผู้ที่สร้างสีสันวงการตลาดผู้ให้บริการมือถือในประเทศไทย เป็นกำลังสำคัญในการช่วยกำหนดทิศทางขับเคลื่อนดีแทคกับสังคมไทย และมีบทบาทในการนำเทเลนอร์เข้ามาลงทุนในดีแทค จึงต้องกลับมาช่วย “ดีแทค” อีกครั้ง

พล.อ.สุกิจ รักษาการประธาน กสทช.กล่าวว่า การหารือเป็นเรื่องกำหนดเวลาในการประมูลคลื่น โดยเทเลนอร์ยืนยันว่ายังให้ความสนใจกับการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าตลาดผู้ใช้บริการในประเทศไทยยังมีการเติบโตที่น่าสนใจ

“กสทช.เชื่อว่า การประมูลจะเกิดขึ้นแน่นอน ประมาณเดือนพฤษภาคมปีหน้า แต่ต้องขึ้นกับปัจจัยกรอบเวลา เกี่ยวพันกับการสรรหาบอร์ดกสทช.ชุดใหม่ด้วย ว่าจะเป็นบอร์ดชุดรักษาการหรือบอร์ดชุดใหม่เป็นคนจัดการประมูล” พล.อ.สุกิจ กล่าว

ไม่นานนี้ กสทช.ได้ประกาศว่า จะนำคลื่นความถี่ 1800 จำนวน 45 เมก และคลื่น 800 จำนวน 5 เมก จากสัมปทานดีแทคที่หมดลงในเดือนพฤษภาคม 2561 มาประมูลทันที

คลื่นย่าน 1800 จัดประมูล 3 ใบอนุญาต แถบคลื่น 1 เมกต่อใบอนุญาต อายุ 15 ปี ราคาเริ่มต้น 37,457 ล้านบาทต่อใบอนุญาต โดยผู้เข้าประมูลแต่ละรายสามารถเข้าประมูลแต่ละย่านความถี่ได้แค่ 1 ใบอนุญาต แต่หากมีผู้เข้าประมูลแค่ 3 ราย กสทช.จะนำคลื่นออกประมูลแค่ 2 ใบอนุญาตเท่านั้น โดยเงื่อนไขการชำระเงินและการขยายโครงข่ายต่างๆ จะยึดตามเงื่อนไขการประมูลคลื่น 1800 และ 900 เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในตลาด

ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 900 จะจัดประมูล 1 ใบอนุญาต ขนาด 5เมกราคาเริ่มต้นประมูล 37,988 ล้านบาท อายุใบอนุญาต 15 ปี

สาเหตุที่ดีแทคให้ความสนใจเรื่องการประมูลครั้งใหม่มาก เนื่องจากขณะนี้สัญญาสัมปทานที่ให้บริการคลื่นหลัก 1800 และ 900 ใกล้จะหมดอายุแล้ว ในขณะที่สัญญาการเป็นพันธมิตรกับทีโอทีในการเข้าไปให้บริการบนคลื่น 2300 ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ยังไม่สามารถใช้งานได้ เพราะติดปัญหาด้านรูปแบบและรายละเอียดของสัญญา

ก่อนหน้านี้ดีแทคก็ร่วมมือกับ LINE เปิดให้บริการ LINE Mobile ที่เป็นซับแบรนด์ เพื่อเจาะตลาดผู้ใช้บริการไลน์ในประเทศไทยที่เป็นตลาดใหญ่อันดับสองของโลก ที่มีผู้ใช้บริการมากกว่า 42 ล้านคน

นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ดีแทคจำเป็นที่จะต้องเข้าร่วมประมูลคลื่นในรอบนี้อย่างยิ่ง หลังจากที่เลือกที่จะออกจากการประมูลคลื่น 1800  และคลื่น 900 เมื่อปี 2558 และ 2559 ที่ผ่านมาด้วยเหตุผลที่ราคาประมูลสูงเกินไป โดยเสนอราคาคลื่น 1800 ราคาสุดท้ายที่ 17,504 ล้านบาท ในขณะที่เอไอเอส และทรูชนะการประมูลไปในราคา 40,986 ล้านบาท และ 39,792 ล้านบาท

ส่วนคลื่น 900  ดีแทคเสนอราคาสุดท้ายอยู่ที่ 70,180 ล้านบาท ในขณะที่ผู้ชนะการประมูลอย่างเอไอเอส และทรู ชนะไปในราคา 75,654 ล้านบาท และ 76,298 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การประมูลรอบใหม่ของ กสทช.ครั้งนี้ กสทช.ได้กำหนดราคาตั้งต้นในการประมูลก็ยังคงเป็นราคาเท่ากับการประมูลครั้งที่แล้ว

“หากดีแทคไม่เข้าประมูล เท่ากับว่าจะมีคลื่นเหลือให้บริการลูกค้ากว่า 23 ล้านคน เพียงแต่ 15 เมก เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงต่อการให้บริการแน่นอน” นักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่งกล่าว

ช่วงภาวะคับขันของดีแทคครั้งนี้ จึงทำให้มีข่าวลือเป็นระยะว่า จะมีคนเข้ามาเทกโอเวอร์ดีแทค แต่เทเลนอร์ก็ยังคงยืนยันว่า ให้ความสนใจและการลงทุนตลาดในประเทศไทยไม่เปลี่ยนแปลง

สถานการณ์ของดีแทคนับจากนี้เป็นต้นไป จะเป็นอย่างไร การกลับมาอีกครั้งของซิกเว่ จะช่วยเดินเกมให้ดีแทคหลุดพ้นสภาวะที่กำลังเดินบนเส้นด้าย เพราะจำนวนคลื่นให้บริการไม่เพียงพอ จะผ่านพ้นไปได้อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าติดตาม.