ปัจจุบันนี้ทุกวงการอุตสาหกรรมต่างได้รับผลกระทบทั้งในเชิงบวกและลบจากกระแสความเป็น “ดิจิทัล” หลายธุรกิจกำลังหวั่นเกรงกับ Digital Disruption หรือสภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ทำให้เกิดรูปแบบธุรกิจขึ้นมาใหม่ ซึ่งนวัตกรรมและรูปแบบใหม่เหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อมูลค่าของผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมเดิม จนอาจถึงขั้นต้องยกธงขาวพ่ายแพ้ให้กับความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เหล่าผู้บริหารต่างต้องเร่งปรับตัวกันขนานใหญ่ เพราะความเปลี่ยนแปลงนี้กำลัง “เขย่า” ทุกอุตสาหกรรมในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผู้บริหารและผู้ประกอบการต้องพลิกกลยุทธ์ เปลี่ยนวิธีคิดกันแบบ 360 องศา เพื่อหาแนวทางรับมือและฉวยโอกาสสำคัญจากปรากฏการณ์ดังกล่าว
ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร GEMBA คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้ปัจจุบันโซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ และเรื่องดิจิทัลจะมีผลมากต่อพฤติกรรมผู้บริโภค ทั้งการทำตลาด และการจัดการทุกอย่าง ซึ่งแม้ว่าถนนทุกสายต่างมุ่งสู่โลกดิจิทัล แต่ในเวลาเดียวกันก็กำลังเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดออนไลน์ ซึ่งไม่ได้เป็นแนวทางที่ผิดพลาดแต่ประการใด แต่การที่ผู้บริหารจะทำให้ธุรกิจเติบโตและอยู่รอดในยุคนี้ นอกจากการเรียนรู้ตลาดออนไลน์แล้วนั้น ผู้บริหารยุคใหม่ก็ยังต้องเข้าใจธุรกิจในระดับโลก เข้าใจการตลาดระดับนานาชาติ เพื่อให้รู้ถึงความท้าทาย อุปสรรค กลยุทธ์ แล้วนำทั้งหมดนี้มาเชื่อมโยงเป็นองค์ความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
“การเรียนรู้กรณีศึกษาธุรกิจนานาชาติ จากบริษัทชั้นนำในระดับโลก เป็นการเรียนรู้เพื่อหาแนวคิด เรียนรู้ถึงอุปสรรค การแก้ไขปัญหา ซึ่งล้วนเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้บริหารในยุคนี้ควรที่จะเรียนรู้ เพื่อนำไปต่อยอดทั้งในแง่การขยายธุรกิจ และการอยู่รอดท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง”
ด้วยความกดดันของระยะเวลา และกระแสของดิจิทัลที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว การศึกษาทำความเข้าใจเพื่อให้ได้ความรู้มาขับเคลื่อนธุรกิจอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสำเร็จภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่ง “GEMBA” เป็นหลักสูตร MBAการจัดการธุรกิจสากล (นานาชาติ) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ไม่ใช่แค่เรียนและสอนเป็นภาษาอังกฤษ แต่มีสาระการเรียนรู้เป็น “Global MBA” มีเครือข่ายวิทยากรระดับชั้นนำที่เป็นตัวจริงในวงการและเข้าใจธุรกิจนั้นๆ เป็นอย่างดีมาร่วมจัดการเรียนการสอน ทำให้การเรียนหลักสูตรนี้จึงไม่ใช่ MBA ที่เรียนแต่ตำราและหลักทฤษฎี แต่เป็นMBA ยุคใหม่ที่เรียนโดย Case Study ใช้กรณีศึกษา เรียนจากปัญหา เรียนจากประเด็น (Issue) ที่เกิดขึ้นจริง
โดยผู้เรียนสามารถมั่นใจได้ว่า ความรู้ที่จะได้รับการถ่ายทอดจาก GEMBA จะสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในธุรกิจ เพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเครือข่ายความร่วมมือกับภาคธุรกิจหลายร้อยแห่งที่เป็นองค์กรชั้นนำระดับประเทศ และมีสาขาในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ในการพัฒนาหลักสูตร GEMBA มีการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจที่เป็น Corporate Partner มาร่วมออกแบบหลักสูตรและเนื้อหาการเรียนการสอน จากประสบการณ์ตรง เพราะรู้ว่าในธุรกิจนี้มีสิ่งใดเป็น Pain Point และรู้ว่าเมื่อทำงานกับผู้บริโภคระดับโลก (Global Consumer) ควรต้องรู้เรื่องอะไร ต้องทำการตลาดอย่างไร ทำวิจัยอย่างไรจึงจะประสบผลสำเร็จ
ดร.สุรพิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตร GEMBA ให้ความสำคัญกับการจัดการเรื่องเวลาด้วย เพราะจากผลสำรวจพบว่า ผู้บริหารและคนทำงานที่มาเรียน MBA มีเวลาน้อย ธุรกิจยุ่ง งานเยอะ จึงต้องการความชัดเจนเรื่องการเรียน และต้องการอะไรที่ Simple แต่ Productive หลักสูตร GEMBA จึงมีเวลาการเรียนเข้มข้นเพียง 1 ปี (ระหว่างนี้มีการศึกษาดูงานต่างประเทศ 3 แห่งที่เป็นกรณีศึกษาที่ดี คือสิงคโปร์ เป็นผู้นำด้านการบริหารจัดการ เซี่ยงไฮ้ เป็นผู้นำในตลาดโลก และอีกแห่งอยู่ระหว่างตัดสินใจเลือกยุโรปหรืออเมริกา เพราะเป็นผู้นำในด้านทฤษฎีต่าง ๆ) และอีก5 เดือนสุดท้าย GEMBA ส่งเสริมให้ผู้เรียนเลือกสิ่งที่ตรงกับตัวเองมาทำเป็นงานค้นคว้าอิสระ ภายใต้การดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับภาครัฐ และบริษัทเอกชนชั้นนำทั่วโลก ซึ่งเป็นประโยชน์มาก เพราะผู้เรียนสามารถนำสิ่งที่อยากพัฒนา หรือธุรกิจที่อยากลองทำมาศึกษาเหมือนเป็นการวิจัยเล็ก ๆ”
“คณะพาณิชยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบัน (Business School) เดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพระดับโลก ทั้ง AACSB จากสหรัฐอเมริกา และ EQUIS จากยุโรป ครอบคลุมทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะฯ จึงได้รับการรับรองจากทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรปโดยอัตโนมัติ ซึ่งสำคัญมาก เพราะถ้าเรียน MBA หลักสูตรนานาชาติ แต่ไม่มีการรับรองจากองค์การระหว่างประเทศ ผู้เรียนจะเสียโอกาสมาก ดังนั้น ถ้าคุณมีแรงบันดาลใจ มี Passion ในการทำธุรกิจ หรือต้องการลับคมความคิดให้พร้อมเป็นผู้นำองค์กร ก็ต้องไม่หยุดการเรียนรู้ เพราะทุกสถานการณ์มีโอกาสแฝงอยู่เสมอ แต่จะคว้าไว้ได้หรือไม่.. นั่นขึ้นกับตัวเรา”