สถาบันคิดใหม่เปิดโครงการอัศวินผมขาว จุดเริ่มต้นการเปิดพื้นที่แห่งโอกาส หวังสร้างผู้สูงวัยคุณภาพ ส่งมอบคุณค่ากลับคืนสู่สังคม … อีกครั้ง

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

สถาบันคิดใหม่ กรุงเทพฯ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 – ณ งานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “อัศวินผมขาว” และกิจกรรมเสวนา “อัศวินผมขาว สูงวัย สูงค่า คุณค่าสู่สังคม” เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้สูงวัยคุณภาพ ให้กลับมาสร้างสรรค์คุณค่าแก่สังคมอีกครั้ง

ประเทศไทยกำลังจะเริ่มเข้าสู่ความเป็นสังคมสูงวัย เมื่อประชากรสูงอายุเพิ่มจำนวนขึ้น ขณะที่คตินิยมสังคมไทยเปลี่ยนไป ครอบครัวมีขนาดเล็กลง คนชราถูกทอดทิ้ง เป็นภาระของสังคม และรัฐบาลต้องกำหนดนโยบายต่าง ๆ มารองรับ ทำให้ต้องวางแผนยืดการเกษียณอายุงานออกไป ยุทธศาสตร์การดูแลสังคมสูงวัยต่าง ๆ จึงผุดขึ้นมาอย่างมากมาย เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิต

เรื่องที่น่าวิตกที่สุดประการหนึ่งของสังคมไทย คือ การที่หน่วยงานต่าง ๆ ในสังคมไม่ได้เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่เพื่อที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาต่อจากนั้นจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งในทุกๆ ด้าน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง นอกจากการจัดระบบสาธารณสุขให้สามารถรองรับได้อย่างครบถ้วนแล้ว แนวทางการแก้ไขที่สำคัญยิ่งอีกประการก็คือ คนในสังคมต้องปรับเปลี่ยนทัศนะความเชื่อที่มีต่อผู้สูงอายุ จากมุมมองที่ว่า ผู้สูงอายุ คือภาระ เปลี่ยนเป็น “ผู้สูงอายุ คือคุณค่าและพลังเกื้อหนุนสังคม”

โครงการ “อัศวินผมขาว” โดย ผศ. ดร.วีรณัฐ โรจนประภา นักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัย และนายกสมาคมบ้านปันรัก มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกิจกรรมอันเป็นประโยชน์แก่กลุ่มผู้สูงวัย ภายใต้กรอบความคิดว่า “ผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระ ไม่ใช่หนี้สิน แต่กลับเป็นสินทรัพย์อันทรงคุณค่าอย่างยิ่ง” และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างที่สุด นำมาซึ่งการสร้างความสุข การสร้างคุณค่าในตนเอง เพื่อเพิ่มพลังกายพลังใจที่ดียิ่งให้แก่ผู้สูงวัย โดยการเปิดพื้นที่แห่งการเกื้อกูล ทั้งในส่วนของผู้ให้คือผู้สูงวัย “คนผมขาว” และในส่วนของผู้รับ “คนผมดำ” ให้ได้รับการเรียนรู้ การแบ่งปัน เพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกันในส่วนขององค์ความรู้และประสบการณ์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้คนในสังคมให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ ที่มีต่อผู้สูงวัย ในฐานะห้องสมุดเคลื่อนที่ เป็นนักปราชญ์ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ จากรุ่นสู่รุ่น โดยมิอาจมองว่าผู้สูงวัยเป็นภาระอีกต่อไป ทั้งนี้ผู้สูงวัยที่ได้เข้าร่วมโครงการยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้สูงวัยท่านอื่น ๆ หรือบุคคลในมิติต่าง ๆ ผ่านแนวความคิดแห่งการสร้างคุณค่า และส่งต่อแรงบันดาลใจให้แก่กันและกัน

ผศ. ดร.วีรณัฐ โรจนประภา กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาเกือบสิบปีที่สมาคมบ้านปันรักได้ดำเนินการแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุด้วยการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อสร้างความมีส่วนร่วมในสังคมเทคโนโลยีให้แก่ผู้สูงอายุนั้น ทางสมาคมได้พบว่าปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุนี้ได้อย่างยั่งยืนคือการทำให้ผู้สูงอายุได้ตระหนักรู้คุณค่าในตนเอง ทั้งนี้มิใช่การรู้ด้วยการบอกกล่าวหรือการเยินยอว่าพวกท่านยังมีคุณค่า แต่ต้องเป็นการตระหนักรู้ที่ผ่านประสบการณ์ตรง ซึ่งด้วยเหตุผลนี้ทางสมาคมจึงไม่ได้ใช้ตัวชี้วัดการทำงานด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมหรือวัดที่ความรู้ที่พวกท่านได้รับหลังจากได้เข้าร่วม แต่ตัวชี้วัดของสมาคมจะวัดตรงที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงจาก “ผู้รับ” ให้กลายเป็น “ผู้ให้” แก่ผู้อื่นได้มากแค่ไหน จนถึงวันนี้จึงเกิดโครงการ อัศวินผมขาว’ นี้ขึ้น เพื่อเป็นเวทีในการเปิดโอกาสให้กับผู้สูงอายุทุกท่านได้มาเป็นผู้ให้ ได้ร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของท่านเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

“ผมเชื่อว่า โครงการนี้จะเป็นโครงการที่สามารถสร้างสรรค์สังคมไทยให้ดีขึ้นได้มากโครงการหนึ่ง เราจะได้เห็นภาพแห่งการเกื้อกูล ดูแล เมตตา และเกิดบรรยากาศแห่งความดีงามซึ่งกันและกัน และอย่าลืมว่า ผู้สูงวัย ไม่ใช่ภาระ ไม่ใช่หนี้สิน ที่ต้องแก้ปัญหาด้วยการให้ แต่ผู้สูงวัย เป็นพลัง เป็นสินทรัพย์ ที่ต้องนำศักยภาพของท่านออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์อันจะนำมาซึ่งความสุข ความอิ่มเอมใจ ทั้งจากผู้รับและผู้ให้”

นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของสังคมผู้สูงอายุไว้ว่า “เรื่องผู้สูงอายุเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2525 นักวิชาการขององค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กล่าวถึงเรื่องของประชากรศาสตร์ว่า ในปี 2518–2568 เป็นระยะเวลา 50 ปีที่ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ในขณะที่ประชากรโลกผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นถึง 224% จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ UN จุดประเด็นนี้ขึ้นมา เพื่อให้คนทั่วโลกสนใจและตระหนักถึงปัญหา หลังจากเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประชุมที่ UN กลับมานั้น UN ได้ให้แต่ละประเทศทำแผนผู้สูงอายุในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า โดยให้นิยามคำว่า ‘ผู้สูงอายุ’ ไว้ว่า ‘Older Person’ กำหนดให้วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุสากล โดยใช้ ‘ต้นไทร’ หรือ ‘Banyan Tree’ เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ สำหรับประเทศไทยได้กำหนดให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุ และใช้ ‘ดอกลำดวน’ เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุในประเทศไทย”

นพ.บรรลุ ศิริพานิช ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “สำหรับกิจกรรมผู้สูงอายุในเมืองไทย แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายราชการ และฝ่ายเอกชน ซึ่งเอกชนในเมืองไทยมีสมาคมสภาผู้สูงอายุ ในพระราชูปถัมภ์ฯ ได้พยายามรณรงค์ให้มีชมรมผู้สูงอายุในทุก ๆ หมู่บ้าน ซึ่งในปัจจุบันมีการจัดตั้งแล้วกว่า 27,000 ชมรม เช่น ในจังหวัดอุบลราชธานี มีชมรมในทุก ๆ หมู่บ้านแล้ว ที่ให้ผู้สูงอายุในหมู่บ้านมาพบปะพูดคุยหรือทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เป็นงานผู้สูงอายุเพื่อสังคมที่แท้จริง นี่คือสิ่งที่ต้องเรียกว่าเป็นองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านผู้สูงอายุได้ดีมาก ๆ ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เป็นพระราชบัญญัติที่ทำให้ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีสิทธิและมีคุณค่าในสังคมเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยโชคดีที่มีพระราชบัญญัติเพื่อผู้สูงอายุ เพราะในโลกนี้ ประเทศที่มีกฎหมายเพื่อผู้สูงอายุนั้นน้อยมาก”

คุณศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า “กรมกิจการผู้สูงอายุ เราได้ใช้ชื่อว่า Department of Older Persons (DOP) ซึ่งได้ใช้ชื่อตามคำบัญญัติขององค์การสหประชาชาติ (UN) เพราะเป็นคำที่มีความหมายนัยสำคัญคือ ‘พลัง’ ประเทศไทยเราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นอย่างแน่นอนในทศวรรษหน้า กรมกิจการผู้สูงอายุจึงมีหน้าที่สำคัญในการชี้นำนโยบายและกำหนดนโยบายของผู้สูงอายุ การทำหน้าที่ขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มีกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้สิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การได้สิทธิในการลดอัตราค่าบริการสาธารณะ และการขับเคลื่อนผ่านกลไกหรือผ่านคณะกรรมการผู้สูงอายุระดับชาติ ดังนั้น ในปัจจุบัน รัฐบาลได้มีนโยบายเพื่อผู้สูงอายุออกมาเป็นระยะ ๆ ล่าสุดคือ โครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นอกจากนั้นเรายังมีศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) เป็นหน่วยงานที่มีถึง 878 แห่งทั่วประเทศ มีหน้าที่เป็นศูนย์หรือให้ผู้สูงอายุในชุมชนมาทำกิจกรรมร่วมกัน ในเรื่องของสุขภาพอนามัย จิตอาสา รวมถึงการจัดทำอาชีพอีกด้วย”

คุณศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์ ได้กล่าวถึง หลักปฏิบัติสำหรับผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพของกรมกิจการผู้สูงอายุไว้เพิ่มเติมดังนี้ 1. Strong ผู้สูงอายุต้องมีความแข็งแรงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีอยู่เสมอ 2. Security คือ ความมั่นคงและรายได้ของผู้สูงอายุ เตรียมตัวเองให้มีรายได้ในระยะยาว รวมไปถึงที่พักอาศัย และ 3. Social คือ การเข้าสังคม หรือการส่งเสริมให้มีหน่วยงานเพื่อให้ผู้สูงอายุออกมาทำกิจกรรมต่างๆ”

ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่เป็นองค์กรต้นแบบการรับผู้สูงวัยเข้าทำงาน กล่าวว่า “สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย องค์กรเอกชนล้วนแล้วแต่จะหาผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังไม่มีองค์กรใดที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้มีพื้นที่ในการแสดงออก ในสมัยก่อน หนึ่งครอบครัวมีลูกหลายคน ซึ่งแต่ละคนต่างก็ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ต่อให้สถาบันการเงินแนะนำให้ทำธุรกรรมเพื่อกินดอกเบี้ยในช่วงวัยเกษียณ ก็ยังไม่เพียงพอ คุณแม่ผมเคยกล่าวว่า ‘ความตายไม่เคยน่ากลัว ความแก่เฒ่าไม่เคยน่ากลัว กลัวการเป็นคนแก่ที่ไม่มีเงิน ไม่มีญาติ นี่คือความน่ากลัวที่แท้จริง’ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี 2530 เมื่อบริษัทประกาศรับสมัครงานก็มีใบสมัครมาเป็นร้อย แต่ในปัจจุบันสถานะกลับกัน คนรุ่นใหม่มาสมัครงานกันน้อยลง แต่ผู้สูงอายุหลายคนในปัจจุบัน เป็นผู้ส่งใบสมัครเพื่อขอเข้าทำงานมากกว่า ผมเคยถามผู้สูงอายุหลายท่านว่ามาทำงานมีความสุขหรือเปล่า คำตอบที่ได้รับคือ ‘มีความทุกข์บ้าง ความสุขบ้าง เหมือนกับคนทั่วไป ถ้ารวม ๆ แล้วมีความสุขมากกว่า ดีกว่าความว่างเปล่าที่อยู่กับบ้านแล้วหายใจทิ้งไปวันๆ’ เพราะอย่างน้อยรายได้อาจจะไม่ใช่ตัวแปรสำคัญ แต่เงินในบัญชีไม่ลดลง และยังพบอีกว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ชอบที่จะคุยกับคนรุ่นใหม่มากกว่าคนในวัยเดียวกัน เพราะอยากจะรู้ว่าคนรุ่นใหม่เขาคุยอะไรกัน องค์กรหลาย ๆ องค์กรส่วนใหญ่ชอบคิดว่า การอบรมผู้สูงอายุจะเป็นเรื่องยากและใช้เวลานาน แท้ที่จริงแล้ว ถึงผู้สูงอายุจะใช้เวลาเรียนรู้นาน แต่ก็เรียนรู้ได้ ดังนั้น องค์กรต้องปรับกฎเกณฑ์ให้เข้ากับผู้สูงอายุ ผมยอมรับว่า ในช่วงแรก ๆ จะต้องปรับตัว เมื่อเวลาผ่านไป มีหลาย ๆ องค์กรที่อยากจะได้ผู้สูงอายุเข้ามาช่วยงานเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การประเมินของพนักงานผู้สูงวัยจะต้องได้สิทธิเท่าเทียม แต่จะต้องอธิบายด้วยเหตุและผลว่า ทำไมผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องได้รับสิทธิมากกว่าคนวัยปกติ”

ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้แนะนำสำหรับผู้สูงอายุที่อยากจะทำงานไว้ว่า “ให้นำกระดาษมาจดว่า วันพรุ่งนี้ เราจะทำอะไร แล้วตั้งใจทำภารกิจที่เขียนขึ้นมานั้นให้สำเร็จ พอตกเย็นให้มาดูว่า วันนี้เราทำอะไรสำเร็จไปแล้วบ้าง สำเร็จไปกี่ข้อ ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุมีเป้าหมาย มีคุณค่า มีการงานและภารกิจที่จะต้องทำในทุกๆ วัน”

.วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้อาวุโสต้นแบบที่มีบทบาทด้านการทำประโยชน์เพื่อสังคมอยู่เสมอ กล่าวว่า “ในแต่ละปีมีนักศึกษาจีนไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา สร้างรายได้กว่า 36,000 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ปีนี้นักศึกษาจีนกลับลดลง นักวิชาการต่างชาติได้วิเคราะห์สถานการณ์ไว้ว่า 1. เกิดจากปัญหาทางการเมือง 2. คนหนุ่มสาวชาวจีนลดน้อยลง ซึ่งนโยบายของจีนในเรื่องของการมีลูก นับเป็นนโยบายที่ไม่ตอบสนอง หากแต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า สังคมจีนมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จนเป็นเหตุให้การไปเรียนต่อลดลง ถ้าจะให้กล่าวถึงผู้สูงอายุ เราต้องเปลี่ยนคำว่า ‘สงเคราะห์’ มาเป็น ‘สิทธิ’ คำว่า ‘สิทธิ คือ ศักดิ์ศรี’ ในทางพระพุทธศาสนาก็คือความเมตตา ส่วนคำว่า ‘การไม่เป็นภาระ’ เป็นคำที่ดีมาก ดังนั้น จึงขอเสนออีกคำหนึ่งว่า ‘ตัวเองเป็นภาระกับตัวเราเองหรือเปล่า’ เราต้องเคลียร์ภาระในตัวเราเองก่อนว่า ตลอดชีวิตของเราทำอะไรมาบ้าง ขงจื้อได้สอนถึงปรัชญาชีวิตในแต่ละช่วงวัยไว้ว่า ช่วงอายุ 1-15 ปี เป็นช่วงเริ่มการศึกษา ช่วงอายุ 15-30 ปี เป็นวัยแห่งการศึกษา อายุ 30-40 ปี จะต้องรู้ตัวเราเองว่าต้องการจะเป็นอะไร ชีวิตต้องมั่นคง ช่วงอายุ 50 ปี ต้องรู้ชะตาฟ้า หมายถึง ควรจะรู้ว่าตัวเรามีศักยภาพแค่ไหน เพียงใด ชีวิตได้ผ่านได้พบเจออะไรมาแล้วบ้าง แล้วจะเพิ่มศักยภาพนั้นได้อย่างไร เมื่อชีวิตเดินทางสู่วัย 60 ปี ซึ่งในช่วงวัยนี้จักต้องเป็นผู้รู้รอบด้าน ฟังอะไรแล้วรู้ที่มาที่ไป และช่วงอายุ 70 ปี จะต้องใช้ชีวิตได้อย่างไม่มีอะไรติดขัดในใจเลย เพราะผ่านมาหมดแล้ว ส่วนศาสนาฮินดู ได้บอกไว้ว่า ชีวิตของวรรณะพราหมณ์ แบ่งออกเป็น 4 ขั้นดังนี้ อายุ 1-25 ปี คือวัยแห่งการศึกษา อายุ 26-50 ปี คือวัยแห่งการครองเรือน การมีครอบครัว ซึ่งอายุ 1-50 ปีนี้ เราเรียกว่าอยู่ในช่วงของโลกียธรรม สำหรับอายุ 51-60 ปี คือวัยของการหาความจริงของชีวิต และอายุ 61 ปีขึ้นไป คือวัยของผู้แสวงหาธรรม หาความพ้นทุกข์ ดังนี้ อายุ 51 ปีขึ้นไป จึงจัดอยู่ในช่วงของธรรมะแบบศาสนาฮินดูนั่นเอง”

หากผู้สูงอายุท่านใดประสงค์จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ www.kid-mai.com หรือส่งประวัติมาที่ โครงการอัศวินผมขาว วงเล็บมุมซองว่า “สมัครโครงการอัศวินผมขาว” เลขที่ 1191 ซอยอารีย์ 1 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. 10400 ติดตามกิจกรรมและเกร็ดความรู้ต่าง ๆ รวมไปถึงการแบ่งปันสาระความรู้ที่ดีและมีประโยชน์ ได้ที่เพจ Kid-Mai by Dr.Veeranut หรือไลน์ @ dr.veeranut และเว็บไซต์ www.kid-mai.com