3 บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซีพีเอฟ ซีพี ออลล์ และ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับการรับรองการเป็นสมาชิกจากคณะกรรมการ “แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต”

3 บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซีพีเอฟ ซีพี ออลล์ และ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับการรับรองการเป็นสมาชิกจากคณะกรรมการ “แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต” (Thailand’s Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption: CAC) ตอกย้ำจุดยืนเครือฯดำเนินงานบนหลักบรรษัทภิบาล ต่อต้านทุจริตทั้งในประเทศไทยและทุกประเทศที่เข้าไปลงทุน เพื่อสร้างมาตรฐานการประกอบธุรกิจที่ใสสะอาดและสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน

ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการและเลขาธิการ โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) และกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) มอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านกระบวนการรับรองและเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ประจำไตรมาส 2 – 3/2560 จำนวนทั้งสิ้น74 บริษัท ในการประชุมประจำปีโครงการแนวร่วมปฏิบัติฯ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ณ ห้องนภาลัยบอลรูม โรงแรมดุสิตธานี ทั้งนี้มี 3 บริษัทหลักในเครือเจริญโภคภัณฑ์ คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โดย นายสุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)โดย นายธานินทร์ บูรณมานิต กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดย นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ด้านปฏิบัติการ เข้ารับใบประกาศนียบัตรรับรองการเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตในครั้งนี้ด้วย

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่คณะกรรมการ CAC ได้รับรองการเป็นสมาชิก “แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต” ให้กับ 3 บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในดำเนินนโยบายต่อต้านทุจริตของเครือเจริญโภคภัณฑ์และ 3 บริษัทหลักในเครือฯ ทั้งนี้ เครือฯ ขอให้คำมั่นสัญญาที่จะยึดมั่นดำเนินการต่อต้านทุจริตอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคมโดยรวม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์

ทั้งนี้ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร และบมจ.ซีพี ออลล์ ได้รับการรับรองจาก คณะกรรมการ CAC เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560 และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 โดยใบรับรองจะมีอายุ 3 ปี เครือเจริญโภคภัณฑ์มุ่งหน้าดำเนินธุรกิจสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยมีเป้าหมายในปี 2563 จะเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยทุกบริษัทในเครือฯต้องดำเนินงานภายใต้หลักบรรษัทภิบาล ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด มุ่งเน้นประเด็นความโปร่งใส ส่งเสริมการต่อต้านทุจริตและยึดมั่นมาตรฐานทางธุรกิจในระดับสูงสุด ทั้งนี้ เครือฯได้พัฒนาระบบบรรษัทภิบาลให้เข้มแข็ง โดยได้ตั้ง “คณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลกิจการ” ทำหน้าที่หาแนวทางในการพัฒนาระบบบรรษัทภิบาลให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและเหมาะสมกับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจของเครือฯ เพื่อให้องค์กรโดยรวมโปร่งใส ตรวจสอบได้และปราศจากการทุจริต

ที่ผ่านมาทั้ง 3 กลุ่มบริษัทใหญ่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ประกาศเจตนารมย์ในการจัดทำ “มาตรการต่อต้านการทุจริต” และได้กำหนดนโยบายอย่างชัดเจน เพื่อให้พนักงาน ผู้บริหารและกรรมการบริษัทนำนโยบายการต่อต้านทุจริตไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งบริษัทในเครือที่ดำเนินกิจการในประเทศไทยและต่างประเทศ พร้อมกับสร้างระบบตรวจสอบภายในให้มีประสิทธิภาพเพื่อ “ป้องกัน” และ “ต่อต้าน” การทุจริต เพื่อให้ธุรกิจของเครือฯ ใสสะอาดและเติบโตอย่างยั่งยืน

อนึ่ง โครงการการสร้างแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือเรียกสั้นๆว่า CAC (Collective Action Coalition Against Corruption) เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งโดยรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และดำเนินการจัดตั้งโดยความร่วมมือของ 8 องค์กรชั้นนำในภาคเอกชนไทย ได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย หอการค้าต่างชาติ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยบริษัทที่เข้าร่วมต้องผ่านกระบวนการประเมินตนเองว่ามีนโยบายและมีแนวทางปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนด