สวารอฟสกี้ สนับสนุนดีไซเนอร์ไทย รังสรรค์ชุดให้ ‘มารีญา พูลเลิศลาภ’ เจิดจรัสบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2017

สวารอฟสกี้ ผู้นำด้านการเจียระไนคริสตัลระดับโลก สนับสนุน 2 ดีไซเนอร์ไทย มอบคริสตัลสุดเจิดจรัสกว่า 50,000 เม็ด มูลค่ารวมกว่าแสนบาท เพื่อรังสรรค์ชุดราตรีและชุดประจำชาติสุดอลังการสำหรับ มารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 นำไปใช้ในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2017 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

หลังจากตัวแทนสาวไทยได้สร้างผลงานอย่างยอดเยี่ยมในเวที “มิสยูนิเวิร์ส” มาถึง 2 ปีซ้อน จึงไม่เป็นที่แปลกใจว่า ในปีนี้ มารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 และเครื่องแต่งกายชุดสำคัญ โดยเฉพาะชุดราตรีและชุดประจำชาติ ได้เป็นที่จับตามองของสื่อมวลชนและสาธารณชนยิ่งขึ้นไปกว่าปีที่ผ่านๆ มา หน้าที่สำคัญในฐานะตัวแทนของประเทศไทย ไม่เพียงแต่ต้องโชว์ความสวยงามและรูปร่างผ่านชุดที่โดดเด่นเท่านั้น แต่ยังต้องสามารถสื่อสาร เล่าเรื่อง และถ่ายทอดศิลปะ วัฒนธรรม เอกลักษณ์ความเป็นไทยให้ชาวโลกได้ประจักษ์ด้วย

ทั้งนี้ การออกแบบชุดสำคัญทั้ง 2 ชุด ต้องปรับให้เข้ากับตัวตนและคาแรกเตอร์ของมารีญามากที่สุด เพื่อให้มารีญาสามารถถ่ายทอดความเป็นไทยออกมาได้อย่างกลมกลืน และแสดงตัวตนของผู้หญิงไทยให้ชาวโลกได้เห็น ทีมงานทุกฝ่ายต่างทุ่มเทเตรียมการเพื่อให้มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 สร้างผลงานที่ดีสุดบนเวทีประกวดในปีนี้ เพื่อนำความภาคภูมิใจมาให้คนไทยอีกครั้ง

คุณพลพัฒน์ อัศวประภา ครีเอทีฟ ไดเรกเตอร์มือฉกาจแห่ง ASAVA กรุ๊ป ผู้ออกแบบชุดราตรีหลักสำหรับการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2017 โดยแบรนด์ ASAVA ได้เป็นผู้ออกแบบและทำชุดสำหรับมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์เป็นปีที่ 3 แล้ว จึงมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในเวทีระดับโลกเป็นอย่างดี

“ความท้าทายในการออกแบบสำหรับปีนี้ คือ เราจะต้องทำให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าปีก่อนๆ โจทย์ของเราในการทำงานทุกปี คือการทำให้ชุดราตรีของนางงามจากประเทศไทยโดดเด่นที่สุดบนเวทีโลก ซึ่งชุดราตรีของปีนี้ได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากชุดไทย โดยออกแบบให้ร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น และมีความเป็นเสื้อผ้าชุดราตรีชั้นสูงด้วยความร่วมมือของสวารอฟสกี้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและเจียระไนคริสตัลระดับโลก” คุณพลพัฒน์ กล่าว

โครงสร้างชุดราตรีผลงานการออกแบบและตัดเย็บโดย ASAVA นี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากฉลองพระองค์ชุดไทยสไบสองชาย ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ดัดแปลงให้มีความเป็นสากลด้วยการใช้เนื้อผ้ากำมะหยี่ (Silk Velvet) โทนสีน้ำเงินเข้ม และเทคนิคการตัดเย็บสมัยใหม่ ผสานกับการตกแต่งผ้าโปร่ง (Tulle) บริเวณเคปด้านหลัง เพื่อสร้างโวลุ่มและความพลิ้วไหวในทุกย่างก้าว

นอกจากนี้ ชุดราตรียังโดดเด่นด้วยงานปักที่มีความละเอียดและซับซ้อน ด้วยคริสตัลสวารอฟสกี้กว่า 30,000 เม็ด มูลค่าร่วมแสนบาท คละเฉดสีและรูปทรง ไม่ว่าจะเป็น สีคาปรี-บลู สีแซฟไฟร์ สีเดนิมบลู สีไลท์แซฟฟายร์ และสีซิลเวอร์เฉด ใช้เทคนิคปักไล่สี (Ombre) และรีดลงไปบนผืนผ้าโดยผ่านความร้อนที่เหมาะสม เพื่อให้คริสตัลติดทนนาน เรียงร้อยออกมาเป็นลวดลายร่วมสมัย เสริมให้ชุดดูมีมิติมากยิ่งขึ้น และสะท้อนถึงความเป็นไทยได้อย่างงดงามและกลมกลืน ด้วยฝีมืออันปราณีตผนวกกับการออกแบบและตัดเย็บชั้นสูงทำให้ชุดราตรีนี้มีมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท

คุณพลพัฒน์ อัศวประภา กล่าวว่า “ผู้หญิงในแบบของ ASAVA จะเป็นผู้หญิงที่มีความคิดก้าวหน้า ใส่ใจในรายละเอียด ไม่วิ่งตามกระแสแฟชั่น ใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาด และเป็นตัวของตัวเอง โดยทั้งหมดทั้งมวลเมื่อประกอบกันแล้วจะเป็นปัจจัยทำให้เกิดความสง่างามในตัวของผู้หญิง (Grace) ซึ่งไม่ได้หมายถึงการใส่เครื่องเพชร หรือของราคาแพง แต่ความสง่างาม คือ ความเป็นธรรมชาติ ความถ่องแท้ และการรู้จักตัวเอง”

ด้วยบุคลิกของมารีญา ที่แสดงถึงตัวแทนของผู้หญิงยุคใหม่ ที่มีความมั่นใจ เป็นตัวของตัวเอง ทำให้การออกแบบชุดราตรีร่วมสมัยสำหรับการประกวดฯ ในครั้งนี้ ได้สะท้อนทั้งดีเอ็นเอของแบรนด์ ASAVA รวมถึงสะท้อนตัวตนและคาแรกเตอร์ของมารีญาอย่างแท้จริง

สำหรับชุดประจำชาติ “เมขลาล่อแก้ว” ออกแบบโดย คุณประภากาศ อังศุสิงห์ ดีไซเนอร์และเจ้าของห้องเสื้อ Hook’s ที่สร้างสีสันและเรียกเสียงฮือฮาได้ทุกครั้งที่ทำโชว์  คอนเซ็ปต์ของชุดได้รับแรงบันดาลใจจากนิทานพื้นบ้านเรื่อง “เมขลา-รามสูร” ซึ่งเป็นเกร็ดวรรณคดีจากรามเกียรติ์ ผสานศิลปะนาฏศิลป์ไทยที่ชาวต่างชาติรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี ทั้งโขน และหุ่นกระบอกไทย จึงออกมาเป็นผลงานอันทรงคุณค่าในทุกๆ ด้าน

ด้วยรายละเอียดงานฝีมือที่ประณีตชั้นครูของชุดรามสูรแบบไทยโบราณที่ผสมผสานความทันสมัยด้วยสีและเทคนิคการปักที่ประณีต เพิ่มพู่ระย้าเรียงร้อยตกแต่งตามเครื่องทรงบ่าและตัวกางเกง ให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ส่วนหุ่นนางเมขลาก็มีขนาดเท่าคนจริง ถูกรังสรรค์ขึ้นอย่างประณีตในทุกรายละเอียดเช่นกัน สะท้อนถึงความแข็งแรงและความสวยงามในชุดเดียว ถือว่าเป็นการสร้างเรื่องราวที่แปลกใหม่บนเวทีโลก

นอกจากนี้ทีมดีไซเนอร์ได้นำคริสตัลสวารอฟสกี้มาใช้ประดับตกแต่งชุดทั้งหมดรวมแล้วกว่า 2 หมื่นเม็ด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคริสตัลทรงแปลกที่หาได้ยาก ไม่ว่าจะเป็น ทรงเมล็ดข้าว หรือทรงข้าวหลามตัด โดยสวารอฟสกี้สามารถตอบโจทย์ความต้องการในจุดนี้ ทั้งคุณภาพของคริสตัลที่สามารถเย็บหรือรีดติดกับตัวชุดได้ อีกทั้งยังติดแน่นทนนาน ไม่หลุดง่าย และนวัตกรรมการเจียระไนคริสตัลระดับโลก ให้ได้รูปทรงเหลี่ยมมุมที่แปลกใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังให้ประกายเจิดจรัสดึงดูดสายตา เพื่อเติมเต็มให้ผลงานออกมาสวยสมบูรณ์แบบที่สุด เมื่อรวมทั้งฝีมือการออกแบบ การใช้วัสดุคุณภาพ งานฝีมือชั้นครู และอื่นๆ จึงทำให้ชุดประจำชาตินี้มีมูลค่าราว 1ล้านบาท

คุณประภากาศ อังศุสิงห์ กล่าวว่า “ปีนี้อยากจะสนับสนุนมารีญาอย่างเต็มที่ เพราะรู้จักกันมาตั้งแต่น้องเข้าวงการใหม่ๆ ซึ่งมารีญาเป็นคนน่ารัก มีมารยาท อ่อนหวาน แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความเข้มแข็ง และมีความเป็นผู้นำอยู่ในตัว มีมุมที่ทำให้เรารู้สึกประหลาดใจอยู่เสมอ ทั้งการตอบคำถามอย่างมีไหวพริบปฏิภาณ และมีวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี”

การประกวด Miss Universe 2017 รอบตัดสินจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายนนี้ ที่เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา (ตรงกับเช้าวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน ตามเวลาประเทศไทย) ผู้สนใจสามารถติดตามการถ่ายทอดสดการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2017 ในวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลา 07.00-10.00 น. ทางช่อง 3SD ช่อง 28 และชมเทปบันทึกภาพในเวลา 23.15 น. ทางช่อง 3HD ช่อง 33

สวารอฟสกี้

สวารอฟสกี้นำเสนอสินค้าหลากหลายประเภทที่เป็นหนึ่งในด้านคุณภาพ ฝีมือการประดิษฐ์ และความคิดสร้างสรรค์ หลังจากก่อตั้งขึ้นในออสเตรียเมื่อปี 1895 ในปัจจุบัน สวารอฟสกี้ได้ออกแบบ ผลิต และจัดจำหน่ายคริสตัลคุณภาพสูง อัญมณีแท้และอัญมณีสังเคราะห์ รวมถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น เครื่องประดับ แอคเซสเซอรี่ และโคมไฟ ปัจจุบันสวารอฟสกี้มีอายุครบ 121 ปี และบริหารงานโดยสมาชิกรุ่นที่ห้าของตระกูล Swarovski Crystal Business มีร้านค้าราว 2,680 สาขาในกว่า 170 ประเทศทั่วโลก มีพนักงานกว่า 26,000 คน และสร้างได้รายได้ประมาณ 2,600 ล้านยูโรในปี 2015

ทั้งนี้ Swarovski Crystal Business เป็นหนึ่งในบริษัทของ Swarovski Group เช่นเดียวกันกับ Swarovski Optik (ทัศนูปกรณ์) และ Tyrolit (เครื่องมือขัดและเจียร) ในปี 2015Swarovski Group สร้างรายได้ถึง 3,370 ล้านยูโร และมีการจ้างงานกว่า 30,000 ตำแหน่ง Swarovski Foundation ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 เพื่อสืบทอดเจตนารมย์ด้านการกุศลของDaniel Swarovski ผู้ก่อตั้ง พันธกิจของมูลนิธิคือ สนับสนุนความสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม