รายงานผลประกอบการปี 2559-2560 แล้วสำหรับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และนับเป็น ครึ่งทางวิสัยทัศน์ 2020 ที่ไทยเบฟต้องการก้าวไปให้ถึงทั้ง Top 5 บิ๊กเครื่องดื่มเอเชีย ซึ่งต้องการมี “ยอดขาย–กำไร” เติบโตอย่างแข็งแรง แต่ดูเหมือนว่าผลประกอบการที่ออกมาสะท้อนให้เห็นว่า “เป้าหมาย” นี้ยังคงหมิ่นเหม่ห่างจากเป้า นับเป็นความท้าทายที่ไทยเบฟต้องปรับและ “เร่ง” ให้ถึงเร็วขึ้น
สำหรับภาพรวมผลประกอบการไทยเบฟปี 2559-2560 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 189,997 ล้านบาท “หดตัวลง” เล็กน้อย 0.02% จากปีก่อนมีรายได้ 190,033 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 26,184 ล้านบาท เติบโต 4.6% จากปีก่อนมีกำไร 25,032 ล้านบาท
ทั้งนี้ สัดส่วนยอดขายหลักมาจากสุรา 57.5% เบียร์ 30.2% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (Non-Alcohol) 8.8% อาหาร 3.6% ส่วนการทำกำไรหลักๆ ยังมาจากสุราสัดส่วนสูงถึง 89.6% เบียร์ 13.7% เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ติดลบ 3.8% และอาหาร 0.5%
ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่า เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์อยู่ในช่วงลงทุน ยังไม่สามารถสร้างกำไรให้กับเครือไทยเบฟเลย
เมื่อแยกยอดรายเป็นรายเซ็กเมนต์พบว่า สุรามียอดขาย 109,297 ล้านบาท เติบโต 2.6% กำไรสุทธิ 20,420 เติบโต 2.1% เบียร์ยอดขาย 57,326 ล้านบาท ลดลง 4.7% กำไรสุทธิ 3,130 ลดลง 4.1% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 16,777 ล้านบาท ลดลง 0.9% ขาดทุน 855 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 45.5% จากปีก่อนขาดทุน 1,570 ล้านบาท อาหารยอดขาย 6,742 ล้านบาท เติบโต 1.5% มีกำไรสุทธิ 104 ล้านบาท เติบโต 18.2%
โดยธุรกิจอาหารในปีที่ผ่านมา ไทยเบฟมีการซื้อกิจการสาขาของร้านเคเอฟซี 240 สาขา และร้านอาหารไทยไฮโซจากสไปซ์ ออฟ เอเชีย 10 สาขา
ยอดขายในเชิงมูลค่าลดลงน้อยมากจนเรียกว่าเกือบทรงตัว แต่มาดูยอดขาย “เชิงปริมาณ” กันบ้างว่าเป็นอย่างไร เพราะเป็นตัวเลขที่สะท้อนการ “บริโภค” ว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง
กลุ่มสุรายอดขายทั้งปีอยู่ที่ 591 ล้านลิตร เติบโต 2.7% จาก 575 ล้านลิตร เบียร์ 907 ล้านลิตรลดลง 6.8% จาก 845 ล้านลิตร แต่บริษัทระบุว่ายังรักษา “ส่วนแบ่งได้คงที่” โซดา 42 ล้านลิตร เติบโต 49.2% จาก 28 ล้านลิตร ซึ่งหลังจากไทยเบฟส่งโซดาน้องใหม่ “ร็อค เมาเท็น” เข้าทำตลาดมา 1 ปี นับว่าโตแรงน่าสนใจไม่น้อย
ส่วนยอดขายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ไม่รวมเฟรเซอร์แอนด์นีฟ:เอฟแอนด์เอ็น) อยู่ที่ 1,644 ล้านลิตร เติบโต 1.2% จาก 1,624 ล้านลิตร
แบ่งย่อยลงไปพบว่า ชาเขียวโออิชิและจับใจ ยอดขายอยู่ที่ 318 ล้านลิตร ลดลง 1.7% จาก 323 ล้านลิตร น้ำดื่ม 1,050 ล้านลิตร เติบโต 4.2% จาก 1,008 ล้านลิตร เครื่องดื่มอัดลมเอส และฮันเดรดพลัส (100 Plus) 261 ล้านลิตร ลดลง 0.8% จาก 263 ล้านลิตร และอื่นๆ เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มเกลือแร่ มียอดขาย 15 ล้านลิตร ลดลง 50.5% จาก 30 ล้านลิตร
จะเห็นว่ายอดขายเชิงปริมาณที่โตมีเพียงสุรา โซดาและน้ำดื่ม ที่เหลือตก!
ขณะที่ธุรกิจต่างประเทศ ซึ่งไทยเบฟมีทั้งโรงงานสุราในจีน โรงงานสุราที่สกอตแลนด์ภายใต้บริษัท อินเวอร์เฮ้าส์ และส่งออกเบียร์ไปทำตลาดหลายประเทศ พบว่า มียอดขายรวม 5,200 ล้านบาท ลดลง 15.8% โดยธุรกิจเบียร์ยังคงได้รับกระทบอย่างต่อเนื่องจากการค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิง โดยธุรกิจต่างประเทศมีสัดส่วนสร้างรายได้ 3% ให้กลุ่มไทยเบฟ
เมื่อแยกเป็นรายเซ็กเมนต์พบว่า เบียร์เติบโตแข็งแกร่งเป็นอัตรา 2 หลักในตลาดสิงคโปร์และกัมพูชา สุราโตติดลบ 15.9% เพราะกระทบจากค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงอ่อนค่า ผลการดำเนิงานสุราในตลาดจีนยังอ่อนแอจากการแข่งขัน วิสกี้ยังเติบโตในตลาดหลักอย่างสหราชอาณาจักร รัสเซีย และฝรั่งเศส เป็นต้น.