ผ่าธุรกิจ Bitcoin !!

ปลายเดือนพฤศจิกายน 2017 ทั้งโลกตกตะลึงเพราะสกุลเงินดิจิทัลอย่างบิตคอยน์ (Bitcoin) ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10,000 เหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรก หลังจากกระโดดรวดเดียวจากหลัก 7,000 เหรียญในเวลาไม่ถึง 4 สัปดาห์ สนนราคา 1 บิตคอยน์ที่เท่ากับ 324,107 บาทนั้นทำให้บิตคอยน์ถูกจับตาในหลายประเด็น แต่ละประเด็นล้วนเข้มข้น คาดว่าจะส่งผลกระทบถึงสังคมโลกในช่วงหลายปีนับจากนี้

ประเด็นใหญ่ที่สุดหนีไม่พ้นเรื่องฟองสบู่ ไม่ว่านาทีนี้มูลค่าบิตคอยน์จะดีดตัวขึ้นหรือตกต่ำลงเหลือเท่าไร แต่โลกต้องจารึกไว้ว่า 28 พฤศจิกายน 2017 คือวันที่บิตคอยน์มีมูลค่าสูงถึง 10,000 เหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรก เพิ่มขึ้น 10 เท่าตัวจาก 1,000 เหรียญเมื่อต้นปี

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้บิตคอยน์พุ่งกระฉูด คือ Chicago Mercantile Exchange (CME) ตลาดซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์สที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศยืนยันแผนเปิดการซื้อขายสัญญาบิตคอยน์ภายใน ธ.ค.นี้ การซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์สล่วงหน้าถือว่าเป็นก้าวสำคัญในโลกของนักลงทุนแบบดั้งเดิม ที่ทำให้บิตคอยน์มีภาพความถูกต้องมากขึ้น

ผลจากแผนนี้ ลูกค้าของ CME จะสามารถเซ็นสัญญาซื้อขายบิตคอยน์ในมูลค่าที่ตกลงกันไว้ในอนาคต เมื่อสัญญาสิ้นสุดลง ลูกค้าจะเห็นความแตกต่างระหว่างราคาขายปัจจุบันของบิตคอยน์ กับราคาที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งหมายความว่านักลงทุนจะสามารถทำกำไร (หรือขาดทุน) จากการซื้อขายบิตคอยน์โดยไม่ต้องซื้อบิตคอยน์ อำนวยความสะดวกแถมยังลดความเสี่ยงของการถูกแฮกหรือขโมยบิตคอยน์

ถามว่าถัดจากนี้บิตคอยน์จะเป็นอย่างไร นักวิเคราะห์การเงินหลายรายยังไม่สามารถฟันธงว่าหลักไมล์บิตคอยน์ 10,000 เหรียญสหรัฐนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นหรือจุดจบของยุคบิตคอยน์ เพราะบิตคอยน์อาจขยายเป็น 50,000 เหรียญสหรัฐก็ได้ หรืออาจทยานสู่หลัก 1 แสนและแม้กระทั่ง 1 ล้านเหรียญ

แต่ก็มีโอกาสที่ฟองสบู่บิตคอยน์จะแตกจนทำให้หลายคนเจ็บตัว เพราะบิตคอยน์ไม่ได้รับการควบคุมใด แถมยังหลีกเลี่ยงระบบธนาคารแบบดั้งเดิม การเติบโตของบิตคอยน์จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานกำกับดูแลระหว่างประเทศกังวลมากขึ้น

***กังวลเพราะลวงตา

ประเทศใหญ่ทั้งจีนและเกาหลีใต้ ต่างลงดาบสั่งห้ามการซื้อขายเงินสกุลดิจิทัลในตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่สถาบันการเงินจากเจพีมอร์แกน ก็ตราหน้าว่าเงินสกุลดิจิทัลนี้เป็นภาพลวงตา

เหตุที่ทำให้มูลค่าของบิตคอยน์ถูกมองเป็นภาพลวงตา ไม่ได้อยู่ที่การไร้รูปร่าง ไม่มีเหรียญหรือแบงก์ แต่เพราะบิตคอยน์เป็นเพียงสกุลเงินเสมือนที่ถูกตั้งขึ้นมาสำหรับการทำธุรกรรมบนโลกไอที

(Nakamoto) กระทั่ง 4 ปีที่แล้ว บิตคอยน์เป็นศัพท์ที่ถูกบัญญัติความหมายไว้ในพจนานุกรมออกฟอร์ดว่า ‘สกุลเงินดิจิตอลในการทำธุรกรรมซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องผ่านธนาคารกลาง’

เมื่อบิตคอยน์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) เข้ามาดูแลโดยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ไม่ระบุชื่อทางอินเทอร์เน็ต บิตคอยน์จึงไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลใดหรือธนาคารกลางใดโดยเฉพาะ ดังนั้นจึงไม่มีใครรับผิดชอบในการสนับสนุนมูลค่าของบิตคอยน์

พูดอีกอย่าง คือหลักการของบิตคอยน์เน้นที่การเป็นสกุลเงินดิจิตอลที่อยู่ภายใต้การดูแลของระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ จุดประสงค์ของบิตคอยน์ คือ การลดบทบาทของธนาคารในการกำหนดค่าเงิน, การพิมพ์-แจกจ่ายธนบัตร และการบันทึกมูลค่าการโอน-ฝากเงิน ซึ่งแทนที่จะต้องให้ธนาคารเป็นผู้ดูแลการโอนเงินของผู้ใช้ แต่บิตคอยน์ออกแบบให้ชาวบิตคอยน์ทุกคนสามารถรับรู้และช่วยยืนยันการโอนเงินซึ่งกันและกัน ผ่านซอฟต์แวร์และไฟล์ข้อมูลเฉพาะทางที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายทั่วโลก

อีกสิ่งที่น่าสนใจ คือ มูลค่าของเงินบิตคอยน์จะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงไม่คงที่ เนื่องจากการกำหนดค่าเงิน 1 บิตคอยน์จะเกิดจากการคำนวณผ่านกลุ่มบุคคลทั่วโลกที่อุทิศคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงของตัวเองเพื่อเปิดซอฟต์แวร์ของบิตคอยน์ให้ทำงานตลอดเวลา (คนกลุ่มนี้จะได้รับบิตคอยน์กลับมาให้ตัวเองเป็นการตอบแทน) โดยเงินบิตคอยน์นั้นสามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินจริงของประเทศต่างๆได้ หรือสามารถนำไปซื้อสินค้าและบริการบนอินเทอร์เน็ต

ประเด็นพลังงานที่ใช้ในเครือข่าย ‘ประมวลผลเงินดิจิทัล’ หรือเหมืองขุดเงินยังถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันมาก รายงานล่าสุดพบว่าใน 1 ปี พลังงานที่ใช้ในเหมืองเงินดิจิทัลนั้นคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าพลังงานที่ใช้ในไอร์แลนด์ทั้งประเทศ ประเมินโดยคร่าวคือ 30.14 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เทียบแล้วมากกว่าพลังงานที่ใช้ในยุโรป 19 ประเทศรวมกัน

การสูญพลังงานมหาศาลที่ใช้ในระบบเงินดิจิทัลนี้เกิดขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัย ที่ผ่านมา ระบบสร้างแรงจูงใจให้คนทั่วไปอาสาเข้ามามีส่วนร่วมในการเข้ารหัสธุรกรรมด้วยการให้เงินดิจิทัลกลับ แต่เมื่อมูลค่าเงินดิจิทัลยิ่งสูงขึ้น จำนวนผู้สนใจที่นำคอมพิวเตอร์เข้ามาร่วมกันประมวลผลมีมากขึ้น การเข้ารหัสจึงซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลให้การเผาผลาญพลังไฟสูงขึ้นต่อการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง

กรณีของบิตคอยน์ ราคาที่สูงขึ้นจึงหมายความว่าการทำธุรกรรมจะต้องใช้พลังงานที่สูงขึ้นตามไปด้วย จุดนี้มีการเปรียบเทียบว่า พลังงานที่ใช้ในศูนย์ข้อมูลของสถาบันการเงินดั้งเดิมอย่างวีซ่า (VISA) คิดเป็นเพียง 2% ของพลังงานที่ใช้ในระบบบิตคอยน์ โดยที่ศูนย์ข้อมูลของ VISA ทำธุรกรรมได้มากกว่า 200 ล้านครั้งต่อวัน ขณะที่เครือข่ายบิตคอยน์ทำได้ไม่ถึง 350,000 ครั้งต่อวัน

ไม่ว่าอย่างไร วันนี้ทั่วโลกมีบริษัทรับแลกเงินสกุลบิตคอยน์ให้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐหรือเงินยูโรมากมายตามค่าเงินที่เกิดจากการคำนวณของซอฟต์แวร์ ทั้งหมดนี้สื่ออเมริกันเคยวิเคราะห์เมื่อ 4 ปีที่แล้วว่า ภาวะเงินบิตคอยน์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นรวดเร็วนี้เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มขานรับรูปแบบสกุลเงินเสมือน หรือ virtual currency ขณะเดียวกัน นักลงทุนผู้มีชื่อเสียงและผู้ก่อตั้งกิจการเกิดใหม่จำนวนมากมีแผนจะนำระบบเงินบิตคอยน์มาใช้จ่ายกับผู้บริโภควงกว้างหรือเมนสตรีมด้วย ทำให้การซื้อขายบิตคอยน์มีความคึกคักมากขึ้นในพริบตา

***ทั่วโลกแห่ซื้อขายเงินดิจิทัล

หากมองเฉพาะบริการซื้อขายเงินดิจิทัลชื่อดัง ‘คอยน์เบส’ (Coinbase) จะพบว่ามีการเปิดบัญชีใหม่มากกว่า 100,000 คนในช่วงวันที่ 22 ถึง 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่งให้จำนวนบัญชีผู้ใช้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญเงินดิจิทัลรายใหญ่เพิ่มสูงเป็น 13.1 ล้านราย จากที่มีเพียง 4.9 ล้านบัญชีเมื่อปีที่แล้ว บนมูลค่าสินทรัพย์ของบัญชีที่ทะลุหลัก 3.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ตัวเลขนี้สอดคล้องกับคริส เวสตัน (Chris Weston) หัวหน้านักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัยไอจีมาร์เก็ตส์ (IG Markets) ในออสเตรเลีย ที่มองว่าอัตราเติบโต 100% นี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ประชาชนทั่วไปหันมาสนใจเงินดิจิทัลมากขึ้น คาดว่าขณะนี้มีผู้ตอบรับเข้าสู่วงการซื้อขายเงินดิจิทัลรายใหม่เกิน 5 แสนคนต่อวัน

เมื่อบิตคอยน์ราคาแพงเกินไป วันนี้สกุลอื่นในวงการเงินดิจิทัลจึงกลายเป็นเป้าหมายของนักลงทุนหลายคน ไม่เพียงซื้อขายเก็งกำไร แต่แนวคิดเงินดิจิทัลและบล็อกเชนถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการลงทุนทางธุรกิจ ซึ่งคาดว่าปีหน้าคนไทยจะได้เห็นการเติบโตของการระดมทุนด้วยเงินดิจิทัลที่เรียกว่า ICO มากขึ้น

‘Initial Coin Offering’ (ICO) กำลังถูกบริษัทสตาร์ทอัปเกิดใหม่ทั่วโลกใช้เป็นเครื่องมือระดมทุน แทนที่จะต้องรอให้บริษัทเติบโตแล้วผ่านกระบวนการแสนยุ่งยากของ IPO แต่สตาร์ทอัปสามารถระดมเงินหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยการออกเหรียญเงินตราดิจิทัลใหม่ของตัวเอง

บริษัทใดที่ต้องการระดมทุนผ่าน ICO บริษัทนั้นจะใช้วิธีเปิดตัวเงินดิจิทัลสกุลใหม่ ซึ่งจะสามารถใช้ซื้อบริการในระบบของบริษัท และสามารถนำไปแลกเปลี่ยนมือ หรือนำกลับมาขับเคลื่อนธุรกิจได้ด้วย วันนี้เงินสกุลดิจิทัลจึงไม่ได้มีแค่ บิตคอยน์, เอธีเรียม (Ethereum) และริปเปิล (Ripple) แต่มีเงินสกุลใหม่ที่รู้จักในเฉพาะกลุ่มอย่าง Steem, Dash, AntShares และ Dogecoin โดยการประเมินเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มูลค่าตลาดบิตคอยน์คิดเป็นเพียง 45.5% ของตลาดเงินตราดิจิทัลรวมเท่านั้น ลดลงจาก 94% ที่เคยมีการบันทึกไว้เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา

เทรนด์นี้นำไปสู่ทั้งความตื่นเต้นและความกังวล เพราะเมื่อมีแต่เงินเสมือน แต่ไม่มีเงินจริงที่จับต้องได้ นักสังเกตการณ์บางรายจึงมองว่า ICO อาจทำให้เกิดฟองสบู่ในตลาดที่กลวงโบ๋

คุ้มครอง เนื่องจากสตาร์ทอัปต้องมีการเจรจาสัญญาใจกับทุกคนเพื่อระดมเงิน และทำให้โครงการของตัวเองประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกัน ICO ยังเพิ่มอิสระให้ผู้ประกอบการยุคใหม่สามารถเดินธุรกิจตามฝันได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิม

เดือนกรกฎาคม 2017 มีการบันทึกว่าเม็ดเงินมากกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐหลั่งไหลเข้ามาสู่วงการ ICO แล้วตั้งแต่ต้นปีนี้ หลายบริษัทหันมาเปิดบริการในฐานะผู้ช่วยให้บริษัทเกิดใหม่สามารถเปิดขาย ICO ได้ง่าย

***ปีหน้า ICO ไทยร้อนแรง

‘พุทธิพร หงษ์สุรกุล’ CEO บริษัท เอ็นเทอร์คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีบล็อกเชน ประเมินสถานการณ์ ‘ICO ไทย’ ว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น คนไทยเพิ่งรู้จักอย่างกว้างขวางในปีนี้ หนึ่งในประเด็นหวั่นใจคือนักลงทุนไทยที่ไม่มีความรู้ภูมิหลังเรื่องธุรกิจเทคโนโลยี ทำให้มีการนำเอาแนวคิดมาปรับแต่งเป็นแชร์ลูกโซ่

‘แนวคิด ICO ถือเป็นเรื่องดี แต่บางคนเอามาทำให้เกิดภาพลบ’ พุทธิพรระบุ ‘การลงทุน ICO ที่ดีนั้นมีให้เห็นชัดเจน จุดนี้ผมคิดว่ารัฐบาลไทยต้องเริ่มตอบโจทย์ ซึ่งถ้าบ้านเราไม่ทำ ก็อาจจะเป็นประเทศไทย 4.0 ไม่ได้’

พุทธิพรยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ออกร่างกฏหมายใบเดียวจนทำให้นักลงทุนมีความกล้า ซึ่งหากประเทศไทยไม่ออกกฎหมายสนับสนุนเงินดิจิทัล ก็จะเสียประโยชน์ทางธุรกิจ

‘ผู้ประกอบการหลายเจ้าไม่รู้ว่าประเทศไทยมีนโยบายอย่างไร ก็หันไปเปิด ICO ที่สิงคโปร์ ผู้ประกอบการไม่ได้อยากหนีภาษี แต่อยากอยู่กับประเทศที่ปกป้องบริษัทได้’

ในภาพรวม พุทธิพรชื่นชมสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แห่งประเทศไทย ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่มีการรับฟังความต้องการของตลาด โดย ก.ล.ต. ได้ออกแถลงการณ์ถึงทัศนะที่มีต่อ ICO ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ในวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา

ใจความของประกาศนี้คือ ก.ล.ต. เห็นว่าการระดมทุนผ่านวิธี ICO ที่นิยมในหมู่สตาร์ทอัพนั้นมีศักยภาพที่ช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงทุนได้ แต่ ก.ล.ต.เองก็ยังมีความกังวลเช่นเดียวกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆทั่วโลกว่า ICO อาจกลายเป็นช่องทางให้ผู้ไม่สุจริตหาประโยชน์จากประชาชน ก.ล.ต. จึงกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาแนวทางการกำกับดูแล อีกทั้งยังพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจ ทั้งนี้ก็เพื่อกำหนดเกณฑ์การกำกับดูแลที่สามารถป้องกันผู้ไม่หวังดีและในขณะเดียวกันไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจและการพัฒนานวัตกรรมใหม่

ในตอนท้ายของถ้อยแถลง ก.ล.ต. ได้เตือนให้ประชาชนระมัดระวังและศึกษาความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนใน ICO อย่างรอบคอบ โดยกล่าวถึงความเสี่ยงจากการลงทุนในสตาร์ทอัพ ความผันผวนของราคา ICO สภาพคล่อง ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ และการฉ้อโกงหลอกลวง

‘ถ้าไทยมีกรอบที่ชัดเจน ผู้ประกอบการจะรู้ได้ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง หากทำได้ก็จะผลักดันให้เกิดการลงทุน และระบบเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ยิ่งปล่อยไว้ เม็ดเงินก็เสีย โดยเฉพาะเม็ดเงินจากประเทศที่ยังไม่มีความพร้อมเช่น ลาว พม่า อาจจะไหลเข้ามาไทย ไม่ใช่ไหลไปที่สิงคโปร์ทั้งหมด’ พุทธิพรทิ้งท้าย ‘ตลอดปีหน้า ถ้ายังไม่เห็นตัวกฎหมายในประเทศไทย ก็อาจจะถือว่าช้าเกินไปแล้ว’.

ที่มา : mgronline.com/cyberbiz/detail/9600000121220