สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอ ระบุการบริหารจัดการด้านธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามารุกล้ำและแทรกแซงในกระบวนการทำงาน ส่งผลให้องค์กรไทยต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ทีเอ็มเอจึงได้เชิญสปีคเกอร์ชื่อดังด้านการสำรวจและวิเคราะห์เทรนด์ธุรกิจเข้ามาเผยแพร่เทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ พร้อมทั้งผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำในประเทศไทยเข้าร่วมเปิดมุมมองการบริหารงานยุคใหม่ ในงาน TMA DAY 2017 : Business Context in the Speedy World
การดำเนินธุรกิจปัจจุบันนี้แตกต่างไปจากเมื่อก่อนเป็นอย่างมาก มีปัจจัยหลายอย่างที่แทรกแซงการทำธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนและอัพเดทเทรนด์กันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจจะสร้างทั้งโอกาสที่เหนือคู่แข่ง หรือในขณะเดียวกันก็อาจสร้างอุปสรรคที่ทำให้กลายเป็นผู้แพ้ในตลาดได้ องค์กรไทยจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้เข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 และต้องตื่นตัวกับเรื่องการปฏิวัติองค์กรสู่การตลาดแบบดิจิทัลมากขึ้น เพื่อยกระดับความสามารถขององค์กรและประเทศ
หัวข้อ “The Orchestra of Supply Chain through Smart Technology and Innovation” โดยดร.ศรายุทธ แสงจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงิน บริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด และ ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ร่วมแสดงความคิดเห็น
ดร.ศรายุทธ แสงจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงิน บริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทมิตรผลมีระบบการจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลและหน่วยความจำที่ใช้ในการจัดเก็บฐานข้อมูล โดยมองว่าข้อมูลที่มีอยู่ในองค์กรคือสิ่งที่ดีที่สุด จะทำให้ได้เปรียบทางการแข่งขัน จากเดิมนับย้อนเมื่อ 10 ปีก่อนใช้ข้อมูลในองค์กรผ่านระบบอีอาร์พี(ระบบที่ใช้ในการจัดการและวางแผนการใช้ทรัพยากรต่างๆขององค์กร เชื่อมโยงระบบงานต่างๆขององค์กรเข้าด้วยกัน) ส่งของก่อนแล้วจึงชำระเงินตามหลัง) ทุกวันนี้ทางบริษัทฯ จึงพยายามบริหารจัดการให้ข้อมูลเดินได้ทั้งระบบ เปลี่ยนจากข้อมูลที่อยู่กระจายตามแหล่งต่างๆเป็นการเชื่อมข้อมูลเข้ามือถือเปิดดูได้ตลอดเวลา ระบบฐานข้อมูลแบบนี้สามารถเรียกใช้งานได้จากจุดอื่นๆ ซึ่งข้อมูลไม่ได้จัดเก็บเป็นไฟล์ข้อมูล แต่เป็นข้อมูลเชื่อมตรงจากโซเชียล มีเดีย ผสานข้อมูลภายในกับภายนอกเข้าด้วยกัน ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่มีความถูกต้อง ชัดเจน ทันสมัย นำมาใช้งานเพื่อการวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การนำเทคโนโลยีมาใช้รับมือการเปลี่ยนแปลงควรพิจารณาว่า จะใช้ประโยชน์อย่างไรจากการเปลี่ยนของเทคโนโลยี ถ้านำมาใช้เร็วไป เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนรูปแบบก็หมดประโยชน์ได้เช่นกัน แต่หากไม่นำมาใช้ ก็จะก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงซึ่งโลกปัจจุบันต้องการการตัดสินใจ และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ลงทุนให้ทันเวลา สิ่งสำคัญคือองค์กรธุรกิจจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ ว่าจะปรับเปลี่ยนสิ่งใดเป็นหลัก หากต้องการเปลี่ยนบิสซิเนส โมเดล ต้องรู้จักเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ และคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ และพิจารณาว่าเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรได้อย่างไรบ้างจากนั้นจึงค่อยต่อยอดทางนวัตกรรม เพื่อให้ผลลัพธ์สอดคล้องกับกลยุทธ์ธุรกิจโดยรวมที่ตั้งไว้
ด้านดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในมุมของ Digital Transformation towards Chemical 4.0 ว่า เป็นการเชื่อมโยงระหว่างคนกับเครื่องจักร โดยใช้ศักยภาพอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์” หรือ “ไอโอทีมากขึ้น ที่เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายไม่จำกัดเฉพาะในแวดวงไอที เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค ด้วยอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อถึงกัน ทำให้องค์กรได้เห็น รับรู้ และเกิดการวิเคราะห์จากข้อมูลเรียลไทม์ สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสม ปกป้องผลประโยชน์ และบริการของลูกค้าได้ เหตุผลสำคัญที่ธุรกิจองค์กรจำต้องนำเทคโนโลยีไอโอทีมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เนื่องจากสภาพตลาดที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ไอโอทีจะช่วยให้ธุรกิจสร้างสรรค์นวัตกรรมการให้บริการที่รวดเร็ว พร้อมลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับลูกค้า ซึ่งการนำมาใช้อย่างเหมาะสมจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิต เพื่อสร้างความแตกต่างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ