กรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ เปิดมุมมองกูรูเศรษฐกิจชื่อดัง “ศรพล-พิมพ์ชนก-สมประวิณ” ฟันธงเศรษฐกิจไทย 61 เติบโตต่อเนื่อง มั่นคงและดีกว่าปี 60 ขณะที่ 2 ผู้เชี่ยวชาญจากกองทุน “ฟิเดลิตี้และชโรเดอร์” ชี้โอกาสลงทุนในเอเชียผลตอบแทนสูง
นางพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง และ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) รวมทั้ง 2 กูรูต่างชาติ มร.สจ๊วต รัมเบิ้ล ผู้อำนวยการการลงทุนมัลติแอสเซท ฟิเดอร์ลิตี้ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล และ มร.ริคกี้ ทัง ผู้อำนวยการผลิตภัณฑ์ มัลติแอสเซท ชโรเดอร์ อินเวสเมนท์ แมเนจเม้นท์ ร่วมกันกระเทาะเศรษฐกิจและนโยบายของไทยและต่างชาติในงานสัมมนา “Krungsri Exclusive Economic and Investment Outlook 2018” จัดโดย กรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ บริการพิเศษทางการเงินและการลงทุนสำหรับลูกค้าคนสำคัญของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
ปัจจัยขับเคลื่อนภายในหนุนเศรษฐกิจประเทศไทยให้เติบโต
ดร.ศรพล เห็นว่าเศรษฐกิจไทยความแข็งแกร่งและมีภูมิคุ้มกันจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก สะท้อนจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่ขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในปัจจุบันถือว่าเศรษฐกิจไทยได้ขยายตัวใกล้เคียงกับศักยภาพแล้ว อีกทั้งยังเป็นการขยายตัวที่มีคุณภาพ กล่าวคือเครื่องจักรต่างๆ ของ GDP ทั้งการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าระหว่างประเทศ ขยายตัวดีพร้อมเพรียงกัน ดังเห็นได้จากหลากหลายเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจ อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ยอดขายรถยนต์ และการส่งออกที่อยู่ในระดับที่สูงสุดในรอบหลายเดือน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าปีก่อนหน้า
ขณะที่ ดร.สมประวิณ กล่าวเสริมว่า “เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตเต็มศักยภาพมากโดยปรับตัวดีขึ้นทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยเชิงปริมาณแสดงให้เห็นผ่านระดับการเติบโตของเศรษฐกิจสูงขึ้นและต่อเนื่อง ส่วนเชิงคุณภาพแสดงผ่านการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจยังมีการกระจายตัวไปทั่วทุกองค์ประกอบของเศรษฐกิจทั้งมิติด้านการใช้จ่ายและมิติภาคการผลิตอีกด้วย”
4 ธุรกิจส่งออกดาวเด่นที่มีศักยภาพการเติบโต
สำหรับธุรกิจส่งออกดาวเด่นที่น่าสนใจลงทุนในปีนี้ นางพิมพ์ชนกกล่าวว่า “ภาพการส่งออกกลุ่มสินค้าที่เติบโตโดดเด่น แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่เติบโตตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า 2. สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ปิโตรเคมี เม็ดพลาสติก 3. สินค้า Internet of Things (IOT) และ 4. สินค้าในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมอนาคต หรือ S-Curves จากนักลงทุนต่างชาติ ส่วนตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสำหรับไทยก็ยังคงเป็น จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา แต่ยังมีตลาดส่งออกอีกหลายประเทศที่เป็นโอกาสของไทยในการขยายออกไป เช่น อินเดีย จีน และยุโรป ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องเร่งส่งออกในตลาดเหล่านี้”
ชี้ “EEC และนวัตกรรม” จุดเปลี่ยนประเทศไทย
ดร.ศรพล กล่าวว่า “รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเพิ่มเติมศักยภาพของเศรษฐกิจไทยให้อยู่ในระดับสูงขึ้นอีก โดยตั้งเป้าที่จะพัฒนา 10 อุตสาหกรรมอนาคต หรือ S-Curves เช่น รถยนต์ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการบิน หุ่นยนต์ เป็นต้น และได้ริเริ่มพัฒนาโครงการ Eastern Economic Corridor (EEC) หรือ โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อเป็นบ้านให้ 10 S-Curves เหล่านี้” ดร.ศรพล เชื่อว่า EEC จะช่วยยกศักยภาพของเศรษฐกิจไทยให้กลับมาโชติช่วงชัชวาลดังเช่นโครงการ Eastern Seaboard ได้เคยช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
ด้านนางพิมพ์ชนกยอมรับว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพาต่างชาติอยู่มาก ดังนั้น การลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อการเชื่อมโยงฐานการผลิตและเสริมสร้างความแข็งแกร่งใหม่กับเศรษฐกิจประเทศไทย ลดการพึ่งพาต่างชาติหันมาพึ่งพาการผลิตและการบริโภคได้จากภายในประเทศพร้อมไปกับสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนฐานรากควบคู่ไป โดยเน้นไปที่การพัฒนาภาคบริการเพื่อเสริมให้การจ้างงานกระจายตัว ได้แก่ กลุ่ม Healthcare ซึ่งรวมถึงการบริการทางการแพทย์ การผลิตยา การบริการด้านสุขภาพ เช่น สปา อีกทั้งควรพัฒนาระบบการจัดส่งสินค้า เพื่อเชื่อมโยงประเทศไทยเข้ากับ CLMV เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเติบโตรวดเร็วและมีกำลังซื้อสูงมาก รวมถึงการขยายการเชื่อมโยงไปยังจีนและอินเดียเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรระบายสินค้าอีกทางหนึ่ง
ฟิเดลิตี้แนะตลาดหุ้นโลกมีโอกาสผันผวนสูงขึ้นเน้นกระจายการลงทุน
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในปีนี้ ใหญ่ มร.สจ๊วต รัมเบิ้ล ผู้อำนวยการการลงทุนมัลติแอสเซท ฟิเดอร์ลิตี้ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้เชี่ยวชาญจากกองทุนฟิเดลิตี้แนะนำให้นักลงทุนมีการกระจายการลงทุน เน้นการลงทุนในกองทุนที่มีความยืดหยุ่นในการเลือกหลักทรัพย์ และมีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพในยามที่ตลาดมีความผันผวนมากขึ้น รวมถึงเพิ่ม การป้องกันความสี่ยงของตลาดหุ้นและค่าเงินโดยเฉพาะการลงทุนในเอเชียควรมีการปกป้องค่าเงินเพราะมีผลต่อผลตอบแทนมาก
ชโรเดอร์เชื่อโอกาสลงทุนในเอเชียผลตอบแทนสูง
ขณะที่ มร.ริคกี้ ทัง ผู้อำนวยการผลิตภัณฑ์ มัลติแอสเซท ชโรเดอร์ อินเวสเมนท์ แมเนจเม้นท์ ผู้เชี่ยวชาญจากกองทุนชโรเดอร์ กล่าวว่า “ผมมีข้อสังเกตว่า หากช่วงใดตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นจากหุ้นเพียงไม่กี่ตัว มีโอกาสตลาดปรับฐานสูง ซึ่งต้องระวังให้มาก” และยังประเมินว่า การลงทุนในหุ้นเอเชียยังมีราคาที่ถูกกว่าตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว อีกทั้งกำไรเติบโตเร็ว แต่ความเสี่ยงก็จะสูงกว่ามีความผันผวนกว่าตลาดพัฒนาแล้ว สำหรับกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจลงทุน ได้แก่ ไอที ที่ยังมีการคาดการณ์กำไรยังเติบโตได้ดีและเป็นตัวขับเคลื่อนกำไรของตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มธนาคารจะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้นจากกำไรของธนาคารที่จะเพิ่มมากขึ้น และกลุ่มสุดท้ายพลังงานที่จะฟื้นตัวตามราคาน้ำมัน นอกจากนี้ เขายังสนใจลงทุนหุ้นในตลาดหุ้นจีน ซึ่งควรจะเป็นหุ้นในกลุ่ม New economy กลุ่มประกัน และแนะนำให้เลี่ยงลงทุนหุ้นอสังหาริมทรัพย์ในจีน เพราะราคาปรับขึ้นสูง แต่เศรษฐกิจจีน ต้องติดตามใกล้ชิด เนื่องจากรัฐบาลยังคงควบคุมการปล่อยสินเชื่อและตลาดอสังหาริมทรัพย์ สุดท้ายค่าเงินดอลลาร์ยังมีผลต่อตลาดหุ้นในเอเชียซึ่งที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าเป็นปัจจัยหนุนให้หุ้นเอเชียปรับตัวขึ้นถ้าค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าก็จะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นเอเชียได้
*ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงราคา/ผลตอบแทนในอนาคต