สำหรับผู้ที่มีเงินเก็บอยู่สักก้อนแล้วมีความสนใจอยากจะทำธุรกิจเป็นของตัวเอง และกำลังมองหาธุรกิจแฟรนไชส์มาเป็นตัวเลือกอันดับต้น เมื่อวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยได้จัดงาน KBank Franchise Expo 2018 เพื่อตอบโจทย์คนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ซึ่งงานนี้ก็เป็นเหมือนตลาดนัดแฟรนไชส์ ที่รวบรวมแบรนด์แฟรนไชส์ระดับท็อป กว่า 50 แบรนด์มาให้ผู้ที่สนใจได้เลือกชอปและสอบถามข้อมูลกันอย่างครบถ้วน ซึ่งเงินลงทุนเริ่มต้นสำหรับเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ภายในงานนี้ ก็มีตั้งแต่ 5 หมื่นบาทไปจนถึงหลักล้าน สำหรับผู้ที่สนใจแต่เงินไม่พอทางธนาคารกสิกรไทยก็พร้อมให้คำปรึกษา ทั้งด้านการเงินและความรู้ในการลงทุนอย่างครบถ้วน
กิจกรรมภายในงานนี้ประกอบไปด้วย บูทแบรนด์แฟรนไชส์ชื่อดังกว่า 50 แบรนด์ ที่มีสาขามากที่สุด โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่มได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม เบเกอรี ค้าปลีก การศึกษา และบริการ พร้อมด้วยสัมมนาให้ความรู้ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแฟรนไชส์ ทั้งแนะนำแนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ การบริหารคน การบริหารด้านการเงิน และการแชร์ประสบการณ์จากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจ รวมไปถึงการแนะนำการลงทุนแฟรนไชส์แบรนด์ต่างๆในห้องสัมมนาย่อย, การให้คำปรึกษาแบบรายธุรกิจ, SME Solutions หรือ เทคโนโลยีที่สามารถประยุกต์ใช้กับธุรกิจแฟรนไชส์อีกด้วย
งานนี้เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ทั้ง 2 วันมีจำนวนผู้เข้าชมงานและฟังสัมมนามากถึง 4,700 คน โดยแบ่งแบรนด์แฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดดังนี้
เคล็ดลับการทำตลาดของธุรกิจแฟรนไชส์
ภายในงาน KBank Franchise Expo 2018 นี้มีวิทยากรมาบรรยายให้ความรู้สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนหลากหลายหัวข้อ หนึ่งในนั้นก็คือ “ส่องเทรนด์ธุรกิจแฟรนไชส์ ปี 2018” โดย ดร.พีระพงษ์ กิตติเวชโภคาวัฒน์ ประธานที่ปรึกษา บริษัท บิสิเนส โค้ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจแฟรนไชส์มาหลายสิบปี ที่ปรึกษาทางด้านการวางระบบการตลาดและธุรกิจแฟรนไชส์ให้กับธุรกิจชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“เมื่อคิดจะลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ แค่มี Passion อย่างเดียวมันไม่พอ ต้องทุ่มทั้งตัวลงไป แล้วสร้างมันให้ประสบความสำเร็จ” เป็นประโยคที่ ดร.พีระพงษ์ ส่งไปถึงกลุ่มเฟิร์สจ๊อบเบอร์ ที่กำลังเบื่องานประจำและอยากจะออกมาเปิดร้านกาแฟ ร้านเบเกอรี่แก้เบื่อ เพียงแค่ได้ยินคำกระตุ้นจากหลากหลายสื่อว่าชีวิตวัยรุ่นมันต้องออกมาเป็นนายตัวเอง Be your own boss สิ แต่ ดร.พีระพงษ์ บอกว่าถ้าจะให้แฟรนไชส์นั้นประสบความสำเร็จมันต้องบริหารแบบ Be your own business คือต้องเข้าใจภาพรวมของธุรกิจที่กำลังจะทำอย่างถ่องแท้”
ดร.พีระพงษ์ กิตติเวชโภคาวัฒน์ ประธานที่ปรึกษา บริษัท บิสิเนส โค้ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด
“พื้นฐานของผู้ที่จะลงทุนแฟรนไชส์คือต้องมีจินตนาการมองเห็นภาพรวมของธุรกิจที่เราจะทำ เช่น สมมติว่าเราเป็นพนักงานประจำ ได้รับเงินเดือน 4-5 หมื่นบาทต่อเดือน อย่างแรก ต้องคิดให้ได้ก่อนว่าเราอยากทำอะไร สิ่งที่เราชอบคืออะไร อย่างที่สองคือรู้จักสะสมทุน มีเงิน ก็ต้องเก็บเงิน คนที่บริหารการเงินดีจะเป็นคนที่มีวินัย และสามคือรู้จักเก็บข้อมูลและศึกษาแฟรนไชส์ในกลุ่มธุรกิจเดียวกันอย่างน้อย 3 บริษัทเพื่อเปรียบเทียบจุดเด่นจุดด้อยของแต่ละแบรนด์”
“หลังจากนั้นคือต้องไปดูโมเดลธุรกิจที่เราสนใจว่ามีขั้นตอนและกระบวนการทำงานอย่างไร ไปเยี่ยมชมออฟฟิศที่ทำการว่ามีความน่าเชื่อถือ น่าลงทุนด้วยหรือไม่ ต่อด้วยการไปสำรวจความคิดเห็นพูคคุยกับคนที่ซื้อแฟรนไชส์ก่อนหน้านี้ว่ามีผลประกอบการเป็นอย่างไร โอกาสเติบโตทางธุรกิจมีหรือไม่”
ทั้งนี้ ดร.พีระพงษ์ยังได้ฝากถึงข้อควรระวังที่อาจทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ล้มเหลวได้นั่นก็คือ 1.การขาดความรู้และกระบวนการจัดการที่เป็นระบบ 2.ไม่สามารถรักษามาตรฐานของสินค้าและบริการได้ตามที่ลูกค้าคาดหวัง 3.ขาดการสนับสนุนที่ดีจากแฟรนไชซอร์ และ 4.คู่แข่งขันในกลุ่มธุรกิจนั้นมีมากเกินไป
2 ธุรกิจที่น่าจับตาของยุคนี้
หลังจากที่เจอวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 แบรนด์ N&B เบเกอรี่ก็ถือกำเนิดขึ้นด้วยเงินลงทุนตั้งต้นเพียง 4 หมื่นบาท ของบุญประเสริฐ พู่พันธ์ CEO บริษัท เอ็น แอนด์ บี พิซซ่าเครป จำกัด ที่ช่วงนั้นแม้เขาจะเจอปัญหามากมายหลายอย่างแต่ในวิกฤตเขากลับพบว่ามีโอกาสซ่อนอยู่ เช่น ค่าเช่าพื้นที่หน้าร้านจากราคาปกติ 3 หมื่นบาทต่อเดือน ก็ลดลงเหลือแค่ 8 พันบาทต่อเดือน รวมทั้งจำนวนคู่แข่งก็ลดน้อยลงไปด้วย
คุณบุญประเสริฐ พู่พันธ์ CEO บริษัท เอ็น แอนด์ บี พิซซ่าเครป จำกัด
เส้นทางธุรกิจของ N&B ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะบุญประเสริฐ ต้องใช้เวลาถึง 10 ปีในการปั้นแบรนด์ให้ฮิตติดตลาด สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาพบกับความสำเร็จ คือการเห็นตัวอย่างจากแบรนด์ดังอย่าง Dunkin Donut ที่สามารถขายโดนัทเพียงอย่างเดียวมาถึง 68 ปีสิ่งนี้ทำให้เขาเปลี่ยนความคิดจากเดิมที่คิดว่าการทำธุรกิจต้องทำหลายๆ อย่างถึงจะรวยนั่นไม่จริงเสมอไป เขาจึงหันมาโฟกัสในสิ่งที่คิดว่าตัวเองทำได้ดีที่สุดคือ เครป
ซึ่งหลังจากที่เปลี่ยนแปลงแนวความคิดและโฟกัสในสิ่งที่ถนัด ทำให้ N&B สร้างยอดขายขึ้นแตะ 100 ล้านบาทได้ภายในปีเดียว เขาทิ้งท้ายถึงหลักการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมี 4 ข้อสำคัญ คือ 1. ความเชื่อ 2. ความศรัทธา 3. ความรู้ และ 4.ความกล้า หากมีครบทั้ง 4 ข้อนี้ และโฟกัสให้ถูกจุด รับประกันว่าคุณจะเป็นคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจได้ไม่ยาก
คุณอาริยะ คำภิโล ซีอีโอ แอนด์ ฟาวเดอร์ บริษัท โจนส์สลัด จำกัด
เบื้องหลังของการสร้างแบรนด์โจนส์สลัด (Jones Salad) เริ่มต้นจาก อาริยะ คำภิโล ซีอีโอ แอนด์ ฟาวเดอร์ บริษัท โจนส์สลัด จำกัด ที่เคยทำธุรกิจร้านกาแฟตั้งแต่เรียนจบ และระหว่างนั้นเขาบังเอิญตรวจพบว่าตัวเองอาจจะเป็นมะเร็งกระดูก เนื่องจากมีก้อนเนื้อบริเวณหัวเข่าตั้งแต่วัย 20 ต้นๆ ในระหว่างที่ทำการผ่าตัดเขาได้อธิษฐานไว้ว่าถ้าก้อนเนื้อนี้ไม่ใช่มะเร็ง จะอุทิศตนทำสิ่งที่ดีต่อสังคม ใช้ชีวิตที่เหลือสร้างประโยชน์ต่อโลก หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น เขาพบว่าไม่ได้เป็นมะเร็ง จึงได้นำคำที่สัญญาไว้กับตัวเองมาสร้างธุรกิจเพื่อสุขภาพแทนธุรกิจร้านกาแฟจนในที่สุดเกิดเป็นแบรนด์โจนส์สลัดขึ้น
โจนส์สลัด ก่อตั้งมา 4 ปี อาริยะบอกว่า 2 ปีแรกแทบไม่จับเรื่องการตลาดเลย แต่ต้องมาเริ่มทำตลาดช่วง 2 ปีหลังเพราะเกิดวิกฤตร้านโดนไล่ที่ ทำให้ต้องดิ้นรน และเริ่มศึกษาเรื่องการตลาดออนไลน์มากขึ้น ด้วยการทำ facebook เป็นของตัวเอง เน้นการเล่าเรื่องสุขภาพ จนปัจจุบันกลายเป็นชุมชนคนรักสุขภาพที่มีสมาชิกกว่า 9 แสนคน
อาริยะบอกเพิ่มเติมว่า การทำธุรกิจนั้น เรื่องการตลาดมีความสำคัญมาก ยิ่งธุรกิจแฟรนไชส์ การทำการตลาดท้องถิ่น หรือ Local Store Marketing เฉพาะสาขานั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เจ้าของแฟรนไชส์ต้องทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ เพราะในแต่ละทำเลที่เราตั้งร้านกลุ่มลูกค้าก็แตกต่างกันไป อย่างโซนสยาม ก็จะเป็นกลุ่มวัยรุ่น นักศึกษา โซนสีลมก็จะเป็นกลุ่มวัยทำงาน พนักงานออฟฟิศ ฯลฯ เป็นต้น ดังนั้น การทำตลาดต้องรู้ว่าลูกค้าแต่ละกลุ่มมีความชอบ หรือไม่ชอบอะไร จะได้พัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่สุด
ยกตัวอย่างร้านโจนส์สลัดที่ไปเปิดสาขาที่เซ็นทรัลเวสต์เกต ก็ประสบปัญหาด้านยอดขายในช่วงแรก เพราะกลุ่มเป้าหมายยังมีความเข้าใจว่า การที่ร้านอาหารขายแต่ผัก มีแต่สลัด กลายเป็นร้านที่ไม่น่าเข้าสำหรับคนไม่ชอบผักสักเท่าไหร่ ทางร้านจึงต้องทำการตลาด ที่เน้นเนื้อหาการสื่อสารให้คนในพื้นที่นั้นรู้ว่าที่ร้านก็มีเมนูแซ่บๆ รสจัดจ้านถูกปากคนไทยอยู่เหมือนกัน พร้อมกับยิงโฆษณาผ่าน Facebook Ad เลือกโซนรอบๆ เซ็นทรัลเวสต์เกต จนทำให้มีลูกค้าเข้าใช้บริการที่ร้านเพิ่มสูงขึ้นในอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ อาริยะยังบอกว่าอีกหนึ่งตัวอย่างแคมเปญที่ทำให้ ร้านโจนส์สลัดเป็นที่รู้จักคือ การจัดโปรโมชันแรงๆ เช่น หลังจากที่ลูกค้าทานอาหารที่ร้านแล้ว ก็ให้มาจับฉลากว่ามื้อนี้จะได้กินฟรีหรือจ่ายตังค์ ทำให้มีกระแสแชร์และบอกต่อกันในโซเชียล จนมีลูกค้ามาต่อคิวยาวเหยียด แม้ว่าหลังจากนั้นจะไม่มีโปรโมชันนี้แล้ว ก็พบว่าลูกค้ากลุ่มเดิมที่ได้ลองกินอาหารในครั้งแรก ก็กลับมาใช้บริการที่ร้านซ้ำอีก
อาริยะทิ้งท้ายว่า การทำธุรกิจอย่าแค่ตั้งใจทำในช่วงแรกเพียงอย่างเดียว แต่คุณต้องตั้งใจทำในทุกช่วงของธุรกิจ อยู่กับมันจนรู้ในทุกเรื่อง รู้ทุกกระบวนการ แล้วในที่สุดจะพบความสำเร็จที่งดงาม
หากใครสนใจอยากทำธุรกิจแฟรนไชส์ ธนาคารกสิกรไทยพร้อมสนับสนุนทั้งองค์ความรู้และเงินทุน เพื่อให้การทำธุรกิจดำเนินไปได้อย่างคล่องตัว ติดตามข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ SME เพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/KBankKSME