โดย นายคอลิน เอลกินส์
ผู้อำนวยการอุตสาหกรรมส่วนกลางด้านการผลิตแบบต่อเนื่องของบริษัท ไอเอฟเอส
การติดฉลากอัจฉริยะ (E-labeling) บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ (Smart Packaging) และการสร้างพันธมิตรทั่วโลก นำไปสู่แนวทางใหม่สำหรับบริษัทต่างๆ ในการสร้างฐานลูกค้าและผลกำไรเพิ่มมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2561 ปัจจัยเหล่านี้จะมีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารที่ลูกค้ากำลังให้ความสำคัญกับความโปร่งใสมากขึ้นเรื่อยๆ คอลิน เอลกินส์ ผู้อำนวยการอุตสาหกรรมส่วนกลางด้านการผลิตแบบต่อเนื่องของไอเอฟเอส ได้คาดการณ์ว่าจะเกิดสิ่งต่อไปนี้ขึ้นในปี พ.ศ. 2561
1) การใช้ฉลากอิเล็กทรอนิกส์ (E-Label) จะเติบโตเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากบริษัทต่างๆ เริ่มตระหนักถึงศักยภาพของฐานลูกค้าที่มั่นคงและโอกาสในการเพิ่มผลกำไรจากการขายต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม
ลองนึกภาพว่า เมื่อคุณหยิบกระป๋องซุปในซูเปอร์มาร์เก็ตแถวบ้านขึ้นมาดูแล้วเห็นข้อมูลระบุส่วนประกอบ 2 อย่างบนฉลาก ได้แก่ E948 และ E242 สงสัยไหมว่าสองตัวนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร E948 คือออกซิเจน (ซึ่งนั่นไม่ใช่ปัญหา) แต่คุณมองสังเกตเห็นอะไรไหม ใช่แล้ว E242 คือ “ไดเมทิลคาร์บอเนต” สารเคมีอันตรายที่เป็นสาเหตุให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ดวงตา และทางเดินหายใจ ตัวอย่างนี้บอกให้เราทราบว่าการติดฉลากนั้นมีประสิทธิภาพมากเพียงใด และทำไมผู้บริโภคจำนวนมากจึงให้ความสนใจกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จากผลการวิจัยล่าสุดของเคอรี่ กรุ๊ป (Kerry Group) พบว่า 74% ของผู้บริโภคระบุว่าการติดฉลากอาหารสะอาด (Clean Label: ผลิตภัณฑ์อาหารนั้นไม่มีการใช้สารเคมีสังเคราะห์) เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารในปัจจุบัน และ 9 ใน 10 จาก 53% ของผู้บริโภคที่อ่านฉลากมีความยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากอาหารสะอาดติดอยู่ ในปี พ.ศ. 2561 เราจะได้เห็นแนวโน้มที่มีศักยภาพอย่างมากของฉลากทั้งสองรูปแบบ โดยเฉพาะในด้านการแปรรูปอาหาร (การติดฉลากอาหารสะอาดและการติดฉลากอิเล็กทรอนิกส์) เนื่องจากสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับผู้ผลิตที่เริ่มนำมาใช้ก่อนใคร
จากคำกล่าวที่ว่า “กินอย่างไรได้อย่างนั้น” จะดีกว่าไหมหากเรามั่นใจได้ 100% ว่าอาหารที่เรากำลังใส่เข้าปากนั้นคืออะไร ซึ่งความโปร่งใสและความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับได้จากฉลากอาหารกำลังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การติดฉลากอาหารสะอาดได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้บริโภคและห่วงโซ่มังสวิรัติแล้วในตอนนี้ และกำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่องเข้าไปในร้านค้าบนฟากฝั่งของถนนทั้งสองข้างทางด้วย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ Aldi ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะไม่ใช้สารเติมแต่งและสารกันบูด 200 ชนิดในผลิตภัณฑ์ของตน ซึ่งการใช้สารแต่งเติมและสารกันบูดดังกล่าวถือเป็นเรื่องค่อนข้างปกติอย่างมากสำหรับอาหารแปรรูปในท้องตลาด ขณะที่ Walmart ก็เริ่มตระหนักถึงยอดขายและฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นเมื่อมีการนำฉลากอาหารสะอาดและความโปร่งใสเข้ามาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ ฉลาก Great for You (เหมาะกับคุณ) ที่แปะบนตัวผลิตภัณฑ์นั้นเป็นตัวชี้วัดว่าผลิตภัณฑ์นี้เป็นไปตามเกณฑ์ความสดและโภชนาการที่เหมาะสม ซึ่งได้รับการนำมาใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2555 และกำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ปัจจุบันมีจำนวนรายการอาหารของ Walmart มากกว่า 30% ที่ติดฉลาก Great for You เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในปี พ.ศ. 2560 กลุ่ม Consumer Goods Forum (CGF) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเครือข่ายของบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภค 400 แห่งใน 70 ประเทศทั่วโลกได้ประกาศว่าจะเดินหน้าปรับโฉมฉลากอาหารให้ง่ายกว่าเดิมภายในปี พ.ศ. 2563
ฉลากอิเล็กทรอนิกส์: เป็นเพียงป้ายกำกับหรือช่องทางการขายใหม่กันแน่
ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม กลุ่มผู้บริโภค และผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่กำลังพยายามสร้างแรงกดดันให้เกิดความโปร่งใสและมีการแจ้งข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ทำให้ฉลากที่เรียบง่ายกว่าเดิมในรูปของฉลากอิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก และอาจเป็นช่องทางการขายใหม่ที่น่าสนใจและมีศักยภาพอย่างน่าสนใจอีกด้วย รหัส QR บนผลิตภัณฑ์อาหารสามารถนำผู้ซื้อไปยังเว็บไซต์ที่ไม่เพียงเห็นแค่ข้อมูลสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น แต่ยังมีข้อมูลสารที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ ความเป็นมาด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ สถานะ GMO ว่ามาจากฟาร์มและเกษตรกรรายใด ข้อมูลด้านจริยธรรม ข้อดีด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความพยายามด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของแบรนด์ สำหรับผู้บริโภคแล้ว การติดฉลากอิเล็กทรอนิกส์หมายถึงความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับได้ ความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่สำหรับผู้ผลิตแล้ว การติดฉลากอิเล็กทรอนิกส์จะหมายถึงโอกาสในการขายต่อยอดและการสร้างจุดขายสำหรับคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีความใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
แต่ไม่ได้จบเพียงเท่านั้น การติดฉลากอิเล็กทรอนิกส์ยังนำเสนอโอกาสที่น่าดึงดูดใจในรูปของการติดฉลากแบบอินเตอร์แอคทีฟที่มีรูปแบบเฉพาะตัวอีกด้วย ฉลากที่ช่วยให้นักช็อปประเภท DIY สามารถมองเห็นภาพโมเดลสุดท้ายบนหน้าจอได้ก่อนตัดสินใจซื้อ เพียงแค่ใส่ข้อมูลขนาดของห้องเมื่อต้องการเลือกซื้อสีทาห้องหรือผ้าม่าน เป็นต้น และด้วยเทคโนโลยี Near Field Communication (NFC) นักช็อปไม่จำเป็นต้องกวาดนิ้ว รอเวลา หรือดาวน์โหลดเพื่อเข้าถึงฉลากที่เต็มไปด้วยข้อมูลเหล่านี้อีกต่อไป เพียงแค่เดินผ่านไปใกล้ผลิตภัณฑ์ ก็จะมีการแจ้งเตือนแบบพุชให้ทราบโดยทันที
2) บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะราคาย่อมเยากำลังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับชั้นวางสินค้า ซึ่งจะเริ่มใช้งานกับเนื้อสัตว์ก่อนเป็นอันดับแรก
ของเสีย: สำหรับผู้ผลิต โลก และผู้คน ไม่เคยมีเรื่องไหนจะเร่งด่วนเท่านี้มาก่อน ทราบหรือไม่ว่ามีอาหารที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เลยรวมกันทั่วโลกมากถึง 4 พันล้านตันทุกปี และในอเมริกาพบว่า 50% ของอาหารไม่เคยถูกกินเลย อีกทั้งในทุกปี 33% ของเนื้อสัตว์โดยเฉลี่ยที่ชาวอเมริกันซื้อไว้ไม่เคยถูกกินมีแต่เก็บเน่าจนต้องทิ้ง ด้วยเหตุนี้ ของเสียจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยตรง ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์เมื่อปี พ.ศ. 2558 ที่อนุญาตให้ผู้ผลิตสามารถใช้ส่วนประกอบต่างๆ ในบรรจุภัณฑ์ได้ตราบเท่าที่ไม่ส่งผลให้รสชาติของผลิตภัณฑ์เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผมเชื่อว่าภายในสิ้นปี พ.ศ. 2561 เราจะเริ่มเห็นบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะบุกเข้าสู่ร้านค้าปลีกทั่วไปภายใต้การสนับสนุนขององค์กรและหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการจัดการปัญหาด้านของเสียให้สำเร็จ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการกับเนื้อสัตว์ก่อนเป็นอันดับแรก
จะเห็นได้ว่าวันที่ “บริโภคก่อน” และ “ใช้ไม่เกิน” บนบรรจุภัณฑ์ในทุกวันนี้ยังไม่ถูกต้องชัดเจนเลยทีเดียว ซึ่งหมายถึงต้องเสียเวลาผลิตไปโดยเปล่าประโยชน์ และจะเกิดอะไรขึ้นหากตัวบรรจุภัณฑ์บอกคุณได้เลยว่าสินค้าเหลือเวลาให้ใช้ได้อีกกี่วัน หรือได้เวลาแล้วต้องรีบนำไปบริโภคทันที และหากลงลึกการแจ้งเตือนไปถึงระดับชั่วโมงด้วยล่ะ แน่นอนว่าการประหยัดเวลา อาหาร และค่าใช้จ่ายจากการใช้บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะย่อมสร้างความสามารถในการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะประเภทนี้มีพร้อมให้ใช้งานแล้ว มาทำความรู้จักกับบริษัท ripeSense ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับผลไม้กัน เริ่มจากเซ็นเซอร์อัจฉริยะบนฉลากบรรจุภัณฑ์ของของผลไม้จะเปลี่ยนสีเพื่อบอกให้ผู้บริโภคทราบว่าผลไม้มีความสุกมากน้อยเพียงใดแล้ว ตั้งแต่ความกรอบ (สีแดง) ความแน่น (สีส้ม) ไปจนถึงความฉ่ำ (สีเหลือง) โดยเซ็นเซอร์จะทำปฏิกิริยากับกลิ่นที่ปล่อยออกมาจากผลไม้เมื่อสุก และบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะของ ripeSense จะช่วยให้ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อผลไม้ที่เหมาะกับความต้องการได้อย่างง่ายดาย ทั้งยังช่วยยืดอายุผลิตภัณฑ์และลดการเกิดของเสียได้อย่างมากอีกด้วย
ทั้งนี้ สมาคมบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะทั่วโลกที่ชื่อว่า Active & Intelligent Packaging Industry Association (AIPIA) ได้คำนวณมูลค่าตลาดของบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบันว่าอยู่ที่ระดับ 1.35 พันล้านยูโรต่อปี และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุก 5 ปี ด้วยเหตุนี้ บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะที่สามารถช่วยลดของเสียได้อย่างมากจึงกำลังขยายตัวอย่างมากในตอนนี้ และด้วยเทคโนโลยีที่สมบูรณ์ในราคาย่อมเยา เช่น เซ็นเซอร์แสง, อาร์เอฟไอดี (RFID – Radio frequency identification), เซ็นเซอร์ชีวภาพ, เซ็นเซอร์สารเคมี และเซ็นเซอร์ก๊าซ ล้วนมีส่วนสำคัญในการช่วยยืดอายุความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์บนชั้นวางได้อีกหลายวัน ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจของผู้ผลิตแบบต่อเนื่องโดยตรงทั้งเรื่องเวลา การวางแผน และรายได้
3) 1 ใน 4 ของผู้ผลิตอาหารระดับโลกจะสร้างความร่วมมือรูปแบบใหม่เพื่อรับประกันถึงความพร้อมของวัตถุดิบที่หายาก
“จงใกล้ชิดกับเพื่อนๆ แต่ใกล้ชิดกับศัตรูให้มากกว่า” เป็นคำกล่าวสุดคลาสสิกตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 จากตำราพิชัยสงครามของซุนวู และตอกย้ำอีกครั้งโดยไมเคิล คอร์เลโอเนที่พูดวลีนี้ในเรื่อง The Godfather II ดูเหมือนว่าทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี พ.ศ.2561 น่าจะสอดคล้องกับคำกล่าวดังกล่าวและน่าจะเป็นปีแห่ง “ศัตรูผู้เป็นมิตร” (frenemies) และ “การร่วมมือแข่งขัน” (coopetition) ที่พร้อมเป็นแรงผลักดันที่แท้จริงของกระแสโลกาภิวัตน์ โดยเห็นได้จากการร่วมมือกันครั้งล่าสุดระหว่าง Kellogg, Pillsbury และ Nabisco เกี่ยวกับการขายออนไลน์ที่แสดงให้เห็นว่าในโลกที่กำลังขาดแคลนทรัพยากรนั้น ความร่วมมือกับคู่แข่งก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมาก
การรวมกิจการและการเข้าซื้อกิจการจะยังคงเป็นวิธีการที่ใช้กันทั่วไปสำหรับบริษัทต่างๆ ในการจัดหาวัสดุและอุปทานทั่วโลก แต่แนวทางดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าใช้จ่ายและสร้างความท้าทายใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น การเข้าซื้อกิจการของซัพพลายเออร์ในบราซิล อาจทำให้ผู้เข้าซื้อกิจการมั่นใจได้ถึงจำนวนทรัพยากรที่แน่นอน แต่ก็อาจเกิดความยุ่งยากรูปแบบใหม่ๆ ในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย การร่วมทุนเพื่อความคล่องตัวและการเป็นพันธมิตรระหว่างกันของผู้แพ้ในตลาดอาจกลายเป็นสิ่งปกติแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2561 เนื่องจากบรรดาคู่แข่งจะหันมาจับมือและทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ซึ่งนั่นจะนำไปสู่การได้รับมูลค่าสูงสุดจากห่วงโซ่อุปทานและรับประกันได้ถึงวัตถุดิบในมือ นวัตกรรมที่เพิ่มมากขึ้นจะสร้างกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากขึ้นซึ่งจะช่วยผลักดันให้ผู้เล่นขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางเดินหน้าเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ต้องมีความร่วมมือระหว่างกันเพิ่มขึ้น และแน่นอนว่าเป็นรูปแบบของ “การร่วมมือแข่งกัน”
แนวทางการทำงานร่วมกันที่เรียกว่า รู้จักมิตรผู้เป็นศัตรู’ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับผู้ผลิตได้อย่างมาก การค้นหาผู้ที่สามารถทำสิ่งต่างๆ ที่คุณทำไม่ได้ และในทางกลับกันนั้น จะช่วยขยายข้อเสนอของคุณไปยังผู้ค้าปลีกโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเงินเป็นจำนวนมาก และเพื่อรับมือกับแนวโน้มทั้งหมดนี้ คุณจะต้องแน่ใจให้ได้ว่ามีความสามารถด้านระบบคลาวด์และเว็บที่เหมาะสม ซึ่งนั่นจะทำให้คุณสามารถแข่งขันและทำงานร่วมกับทรัพยากรที่มีอยู่ได้ทุกที่ตามต้องการ
เกี่ยวกับไอเอฟเอส
ไอเอฟเอส (IFS™) เป็นผู้นำระดับโลกด้านการพัฒนาและนำเสนอซอฟต์แวร์สำหรับการวางแผนทรัพยากรองค์กร (Enterprise Resource Planning หรือ ERP) การบริหารจัดการสินทรัพย์ขององค์กร (Enterprise Asset Management หรือ EAM) และ การบริหารจัดการงานบริการขององค์กร (Enterprise Service Management หรือ ESM) ทั้งนี้ ไอเอฟเอสก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2526 โดยมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสามารถดำเนินธุรกิจได้ดีขึ้น ตลอดจนผลักดันให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน พร้อมทั้งจัดเตรียมสิ่งต่างๆ สำหรับอุตสาหกรรมเพื่อให้พร้อมรับมือกับอนาคต ไอเอฟเอส มีพนักงาน 2,800 คนที่พร้อมให้การสนับสนุนผู้ใช้ทั่วโลกมากกว่า 1 ล้านคนผ่านสำนักงานสาขาในเขตพื้นที่ต่างๆ และผ่านเครือข่ายพันธมิตรที่กำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้น สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดไปที่เว็บไซต์: IFSworld.com
ติดตามเราทาง Twitter: @ifsworld
เยี่ยมชมบล็อกของไอเอฟเอสเกี่ยวกับเทคโนโลยี นวัตกรรม และผลงานสร้างสรรค์ต่างๆ: http://blog.ifsworld.com/