หลังจากบริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (มหาชน)(WAVE) ของกลุ่มช่อง 3 ได้ประกาศออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนตอนต้นปี และมี “บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด” ทุ่มเงินราว 179 ล้านบาท เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนกว่า 46 ล้านหุ้น หรือราว 10% ในราคา 3.85 บาทต่อหุ้น
ล่าสุดวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมได้อนุมัติการเพิ่มทุนและเข้ามาถือหุ้นของกลุ่มเดอะมอลล์เรียบร้อยแล้ว โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ยังคงเป็น “ตระกูลมาลีนนท์” ลดสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 37% จากเดิม 42% และผู้ถือหุ้นรายย่อย 53% จากเดิม 58%
สำหรับเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนครั้งนี้ บริษัทจะนำส่วนหนึ่งใช้เป็นทุนหมุนเวียนกิจการ และอีกส่วนนำไปชำระหนี้ส่วนหนึ่ง จากมูลค่าหนี้ที่มีกว่า 900 ล้านบาท
ทั้งนี้ การที่ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” เข้าไปถือใน “เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์” นับว่าเป็นความน่าสนใจอย่างยิ่งว่าทั้ง 2 บริษัท จะใช้ “จุดแข็ง” และศักยภาพที่มีของบริษัท “ซีนเนอร์ยี” และเอื้อประโยชน์ให้กันด้านใดบ้าง?
เวฟฯ มีธุรกิจหัวหอกหลายอย่าง เช่น ไอเวฟ ที่รับจัดคอนเสิร์ต กิจกรรมพิเศษต่าง ๆ งานแถลงข่าว แสดงดนตรี ตั้งแต่วางแผนจนถึงคัดสรรศิลปินทั้งไทยเทศมาแสดง เรียกว่าทำครบวงจรตั้งแต่เริ่มต้นจนจบงานนั่นเอง, เวฟทีวี ผลิตรายการโทรทัศน์ ละครป้อนให้ช่อง 3 ที่ผ่านมามี บัลลังก์ดอกไม้ แก้วตาหวานใจ พรพรมอลเวง ออกอากาศไปแล้ว
เวฟฟู้ด มีร้านสเต๊กแบรนด์ “เจฟเฟอร์” (Jeffer) ที่เป็นเรือธงทำตลาดแมสจับกลุ่มเป้าหมายนักเรียน วัยทำงานเป็นหลัก โดยปัจจุบันมีร้านให้บริการมากกว่า 80 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ยังมี “วอลล์สตรีทอิงลิช” (Wall Street English) สถาบันสอนภาษาอังกฤษชื่อดัง มีสาขาในไทยกว่า 11 สาขา สุดท้ายคือ “อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ” ทำหน้าที่จัดอีเวนต์สารพัด งานบริการส่งเสริมด้านการตลาด เป็นต้น
“การได้เดอะมอลล์ กรุ๊ป เข้ามาถือหุ้น จะช่วยให้การขยายธุรกิจของเวฟทำได้เร็วขึ้น และง่ายขึ้น” แมทธิว กิจโอธาน กรรมการผู้จัดการ บมจ.เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ กล่าว
3 ธุรกิจหลักที่จะ “สปีด” ได้คือธุรกิจร้านสเต๊ก “เจฟเฟอร์ และสถาบันสอนภาษาอังกฤษ “วอลล์สตรีทอิงลิช” ซึ่งส่วนใหญ่มักยึด “ทำเลทองศูนย์การค้า” เปิดสาขาให้บริการแก่ลูกค้า เนื่องจากมีลูกค้าหรือ Traffic เข้ามาช้อปชิมชิลในแต่ละวันจำนวนมาก
อีกทั้งเดอะมอลล์ กรุ๊ปมีศูนย์การค้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ขณะที่ “อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ” ก็สามารถ “ซีเนอร์ยี” เพิ่มโอกาสในการรับงานอีเวนต์ได้จำนวนมาก เพราะ “เดอะมอลล์” มีการทุ่มงบการตลาดสูง จัดอีเวนต์ทุกศูนย์ทุกห้างจำนวนเป็น “ร้อยอีเวนต์” ต่อปี ทั้งซัมเมอร์ มหกรรมลดราคา ตรุษจีน ปีใหม่ เป็นต้น
“เดอะมอลล์มีศูนย์การค้าหลายแห่ง และมีแผนจะพัฒนาโครงการอีกมาก ทั้ง ดิเอ็มสเฟียร์ แบงค็อกมอลล์ บางนา บลูเพิร์ล ซึ่งถือเป็นยักษ์ใหญ่ค้าปลีกใหญ่อันดับสองของไทย ศักยภาพที่มีของเดอะมอลล์จะทำให้บริษัทได้รับองค์ความรู้ (Know how) มาขยายธุรกิจ รวมถึงการผนึกกำลังในการซื้อวัตถุดิบอาหาร และระบบการจัดการด้วย”
เกมรุกของเวฟจากนี้ไป คือเดินหน้าขยายธุรกิจด้วยโมเดล “แฟรนไชส์” เพื่อร้านเจฟเฟอร์ และวอลล์สตรีทอิงลิชได้เร็วขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
ไม่เพียงเท่านี้ บริษัทยังมองโอกาสในการ “ซื้อและควบรวมกิจการ” (M&A) ธุรกิจที่มีความน่าสนใจและมีความเกี่ยวเนื่องกับเครือ เพิ่มเสริมศักยภาพบริษัทให้เติบโต รวมถึงนำธุรกิจต่าง ๆ มาต่อยอดในรูปแบบของการแปลงเป็นคอนเทนต์เพื่อนำไปผลิตเป็นรายการในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อป้อนให้กับสถานีโทรทัศน์ได้ด้วย รวมทั้งการทำอีเวนต์ต่าง ๆ ทั้งธุรกิจอาหาร ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจไลฟ์สไตล์ด้วย
แผนดังกล่าว เวฟหวังว่าจะสร้างรายได้รวมปี 2561 อยู่ที่ 3,000 ล้านบาท โตจากปี 2560 มีรายได้รวม 2,493 ล้านบาท ขาดทุน 263 ล้านบาท และแบ่งสัดส่วนรายได้เป็น เจฟเฟอร์ราว 700 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 25%, สถาบันสอนภาษาอังกฤษวอลล์สตรีท มีรายได้ 700 ล้านบาท สัดส่วน 25% และเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูงมากในปีที่แล้ว ส่วนบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ที่ถือหุ้น 50% ปีที่แล้วมีรายได้ประมาณ 1,300 ล้านบาท หรือสัดส่วน 50%
“บริษัทฯ มองเห็นสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจภาพรวมปีนี้เริ่มดีขึ้นแล้ว ช่วงธันวาคมปีที่แล้ว โดยรวมเราก็เติบโต 2% ตอนนี้ภาครัฐบาลเองก็มีการกระตุ้นเศรษฐกิจรวม มีการลงทุนสาธารณูปโภคต่าง ๆ กำลังซื้อของผู้บริโภคเองก็เริ่มฟื้นตัวขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินหมุนเวียนในระบบดีขึ้น” นายแมทธิวกล่าว
นั่นเป็นภาพของ “เวฟ” ขณะที่ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” หลังเข้าไปถือหุ้นในบริษัทมหาชน เป็นการลงทุนที่น่าจับตามาก เพราะที่ผ่านมาไม่ได้เห็น “ตระกูลอัมพุช” ถือหุ้นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จริงจัง แต่ปี 2560 ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่า กลุ่มเดอะมอลล์ มีแผนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อใช้เป็นช่องทางในการ “หาแหล่งเงินทุน” มาขยายศูนย์การค้าที่อยู่ในแผนมูลค่าหลัก “หมื่นล้านบาท”
ดังนั้น การเข้าไปถือหุ้นในเวฟจึงเป็นการ “ชิมลาง” ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และยังเป็น “จิ๊กซอว์” ที่ช่วย “ต่อยอด” ธุรกิจศูนย์การค้าได้ โดยเฉพาะการเข้าสู่ธุรกิจอาหารเครือข่าย (เชน) เต็มรูปแบบ เพราะปัจจุบัน “ร้านอาหาร” ถือเป็นร้านค้าหลัก (Anchor) ที่สำคัญและเป็น “แม่เหล็ก” ที่ดึงดูดคนเข้าห้างได้อย่างดี เพราะรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในปัจจุบันชอบกินข้าวนอกบ้านมากขึ้น รวมถึงธุรกิจไลฟ์สไตล์อื่น ๆ ด้วย
เพราะหากเทียบคู่แข่งในสมรภูมิค้าปลีกเดียวกันจะเห็นว่ากลุ่มเซ็นทรัลมีเชนร้านอาหาร “ซีอาร์จี” มีแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอมากมายทั้งเคเอฟซี มิสเตอร์โดนัท โอโตยะ โยชิโนยะ เทนยะ อานตี้แอนส์
ส่วนกลุ่มสยามพิวรรธน์ เจ้าของสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน ก็แตกไลน์สู่อาหารมาระยะหนึ่งแล้ว เช่น การนำลิขสิทธิ์ร้านเจมี่อิตาเลียนเข้ามาเปิดในไทย และร้านอื่นอีก เป็นต้น
แต่เมื่อมองมาทางฟากเดอะมอลล์ ยังไม่มีธุรกิจฟู้ดเชนในเครือข่าย มีเพียงธุรกิจอาหารที่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง “กูร์เมต์ มาร์เก็ต” เป็นหัวหอกเท่านั้นแต่ทำรายได้ในกลุ่มอาหารมากกว่า 20,000 ล้านบาท จากรายได้รวมทั้งกลุ่มกว่า 50,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ การจัดอีเวนต์ทั้งปี จากที่จ้างคู่ค้าบริษัทภายนอก จากนี้ไปก็ใช้บริษัทในเครือให้เดิมเกมแทน รวมถึงการใช้ศิลปินดารามาร่วมแคมเปญ กิจกรรมการตลาด ทำให้สามารถ “ซีนเนอร์ยี” กับเวฟได้ทั้งสิ้น
“เวฟ” จึงเป็นหมากใหม่ที่น่าสนใจสำหรับ “เดอะมอลล์” อย่างมาก !.