นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (11 เม.ย. 2561) ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งเตือนไปยังสถานีโทรทัศน์ทุกช่องให้ระงับการออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร คอร์ดี้ พลัส และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลินจือโกะ เนื่องจากเนื้อหาโฆษณาที่มีการเผยแพร่อยู่ในปัจจุบันเป็นเนื้อหาที่มีการโฆษณาเกินจริง ว่ามีผลในการป้องกันและรักษาโรค ซึ่งตามข้อเท็จจริงสำนักงานอาหารและยา (อย.) ได้กำหนดให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจัดเป็นอาหารไม่ใช่ยา จึงไม่มีสรรพคุณในการป้องกันบำบัดหรือรักษาโรค และเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคที่มีสุขภาพร่างกายปกติ ไม่ใช่ผู้ป่วย
นอกจากนี้การโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับอนุญาตเป็นอาหาร ซึ่งกำหนดให้ต้องมีคำเตือนในฉลากของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารว่า “ไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรค” ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับฉลาก และประกาศกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เข้าข่ายเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารทางวิทยุโทรทัศน์อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 40 และมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 จึงเป็นการทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตามความในข้อ 5(2) ของประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555
จากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติให้ชะลอการพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785/1835-1880 MHz ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน890-895 MHZ/935-940 MHz ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่านความถี่ 824-839/869-884 เมกะเฮิรตซ์ และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการเคลื่อนที่ ย่านความถี่ 885-895/930-940 เมกะเฮิรตซ์ ออกไปก่อน จนกว่า สนช. จะมีการดำเนินการลงมติสรรหา กสทช. ชุดใหม่ในวันที่ 19 เม.ย. 2561 หากผลการดำเนินการเป็นประการใด สำนักงาน กสทช. จะได้พิจารณาดำเนินการต่อไปอีกครั้งหนึ่ง
นายฐากร กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบร่างขอบเขตงานโครงการประเภทที่ 2 ประจำปี 2561 ครั้งที่ 1 ของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จำนวน 6 โครงการ รวมวงเงินงบประมาณ 64,300,000 บาท ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารกองทุน กทปส. เรียบร้อยแล้ว ก่อนนำเสนอประธาน กสทช. ลงนามในประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการ ต่อไปนี้
1.โครงการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของโครงการเน็ตประชารัฐและการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม งบประมาณ 21,300,000 บาท
2.โครงการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมในการจัดตั้ง และการให้บริการของศูนย์ความรู้เฉพาะด้าน Internet of Things (IoT) งบประมาณ 3,000,000 บาท
3.โครงการศึกษาเพื่อการพัฒนาระบบตรวจสอบการใช้คลื่นความถี่ สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้กำลังส่งต่ำ งบประมาณ 15,000,000 บาท
4.โครงการพัฒนาต้นแบบโรงเรียนใช้งานอินเทอร์เน็ตไปสู่โรงเรียนอัจฉริยะ (Smart School) งบประมาณ 10,000,000 บาท
5.โครงการจัดทำแผนแม่บทการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ระยะ 5 ปี งบประมาณ 5,000,000 บาท
6.โครงการพัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับติดตั้งในโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อวัดความแรงการแพร่กระจายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ งบประมาณ 10,000,000 บาท
จากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดประมูลเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นเลขหมายสวย ครั้งที่ 1/2561 ในวันที่ 27 พ.ค. 2561 ณ สำนักงาน กสทช. โดยในการประมูลครั้งนี้จะนำเลขหมายหมายออกมาประมูลทั้งสิ้น 259 เลขหมาย โดยแบ่งเป็นกลุ่มของเลขหมายสวยเก่าที่เคยนำออกมาประมูลแล้วแต่ยังไม่มีผู้เคาะราคาประมูลจำนวน 11 เลขหมาย และเป็นกลุ่มเลขหมายสวยใหม่ที่ยังไม่เคยนำออกประมูลจำนวน 248 เลขหมาย โดยกลุ่มเลขหมายสวยเก่าจำนวน 11 เลขหมาย ที่เคยนำออกมาประมูลแล้วแต่ยังไม่มีผู้เคาะราคาจะนำมาประมูลครั้งนี้ด้วยวิธีการประมูลถอยหลัง โดยตั้งเพดานราคาสุดท้ายไว้ที่ราคาไม่ต่ำกว่า 75% ของราคาเริ่มต้น ส่วนการประมูลกลุ่มเลขหมายสวยใหม่ที่ยังไม่เคยนำออกมาประมูลจำนวน 248 เลขหมาย จะใช้วิธีการประมูลด้วยการเสนอราคาแบบปกติ ทั้งนี้การประมูลเลขหมายสวยในครั้งนี้จะมีการนำเลขหมายสวยที่ประชาชนสามารถที่จะเป็นเจ้าของได้เพราะมีการตั้งราคาเริ่มต้นไว้ที่ 150,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่น่าสนใจ และถูกกว่าราคาที่ขายกันอยู่ในท้องตลาดมากมาประมูล จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้
เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า พร้อมกันนั้น ในวันนี้ สำนักงาน กสทช. ได้นำเงินรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 4,020 ล้านบาท นำส่งกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวของสำนักงาน กสทช. เป็นไปตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 45 ที่กำหนดว่า ผู้ใดประสงค์จะใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ และกำหนดให้เงินที่ได้จากวิธีการประมูลเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วให้ส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน