กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศย้ำความสำคัญสิทธิมนุษยชนแรงงานไทย จัดงานสัมมนา T Mark “เคล็ด (ไม่) ลับ ลุยตลาดโลก (Borderless Economy)”


กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ขานรับนโยบายรัฐบาลผลักดันการพัฒนาการค้าควบคู่ไปกับการสร้างความ เชื่อมั่นด้านมาตรฐานแรงงานไทย  พร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนในองค์กร ผ่านการจัดสัมมนา Thailand Trust Mark “เคล็ด (ไม่) ลับ ลุยตลาดโลก (Borderless Economy)” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน และ กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมหน่วยงานภาคเอกชนมาร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่ผู้ร่วมงาน


ม.ล.คฑาทอง ทองใหญ่  ผู้อำนวยการสํานักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า “จากกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงการใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้ภาคธุรกิจต้องเร่งผลักดันตนเองเพื่อให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าและบริการของตน ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินโครงการ Thailand Trust Mark เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญด้านแรงงาน สิทธิมนุษยชน และกระบวนการผลิตที่ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมได้สมัครขอรับตรา T Mark เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเชื่อมั่น และความไว้วางใจว่าเป็นสินค้าและบริการที่มาจากองค์กรที่คำนึงถึงสังคม นอกจากนี้ทางรัฐบาลเองได้มีการประกาศวาระแห่งชาติ ในการใช้สิทธิมนุษยชน ในการขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ดังนั้นตราสัญลักษณ์ T Mark ของกระทรวงพาณิชย์จึงเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่จะช่วยผลักดันคุณภาพสินค้า เคียงคู่สิทธิมนุษยชนของแรงงาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อตอกย้ำปณิธานและความมุ่งมั่น ในการยกระดับคุณภาพสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง”


ด้วยบทบาทของโครงการ Thailand Trust Mark มีหน้าที่ในการดำเนินการและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าและบริการไทยจึงประสานขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาให้ความรู้เรื่องของมาตรฐานแรงงานไทย และอุตสาหกรรมสีเขียวที่จะช่วยผลักดันแบรนด์ไทยให้มีความพร้อมเพื่อเข้าสู่ตลาดโลก ผ่านการจัดสัมมนาภายใต้โครงการการสนับสนุนสินค้าและบริการไทยที่มีคุณภาพ “Thailand Trust Mark” ในหัวข้อ “เคล็ด (ไม่) ลับ ลุยตลาดโลก (Borderless Economy)” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันมาถ่ายทอดความรู้ ได้แก่


ศาตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นบรรยายในเรื่องสิทธิมนุษยชน : ความรับผิดชอบต่อสังคม โดยได้ให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจ เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ประกอบการถึงการสร้างคุณภาพมาตรฐานแรงงานและสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านมุมมอง 3 มิติหลัก คือ

มิติที่ 1 : การสร้างมาตรฐานแรงงาน ตามกรอบและระเบียบของกฏหมายแรงงาน

มิติที่ 2 : การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การแสดงความรับผิดชอบต่อ สังคม

มิติที่ 3 : การสร้างมาตรฐานสินค้าให้ ได้คุณภาพทั้งมาตรฐานภายใน และ มาตรฐานสากล


ในส่วนการเสวนา “เคล็ด (ไม่) ลับ ลุยตลาดโลก (Borderless Economy)” โดย

  • คุณณัฐภาณุ นพคุณ

ผู้อํานวยการกองการสังคม กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

  • คุณยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์

ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

  • คุณสําราญ สอนผึ้ง ผู้อํานวยการ

ฝ่ายอาวุโส ฝ่ายหน่วยตรวจสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ

  • คุณบุญธรรม ว่องประพิณกุล

ผู้อำนวยการประจำกลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและบริหาร จากกลุ่มมิตรผล


ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงแนวทางของสิทธิมนุษยชน การจัดการปัญหาแรงงานในองค์กรและการใช้แรงงานที่เป็นธรรมตามหลักกฎหมาย ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพแรงงานไทย  ให้ก้าวสู่ตลาดโลก


พร้อมผู้แทนจาก 2 หน่วยงาน คุณวิชญพรรณ พลอยทับทิม ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และคุณสุกิจ ครุฑคง ผู้อำนวยการพัฒนากลุ่มงานระบบมาตรฐานแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ร่วมเสวนาในเรื่อง “ความสำคัญของมาตรฐานแรงงานไทยและอุตสาหกรรมสีเขียว”


“ด้วยความมุ่งหวังที่จะทำให้ประเทศไทยภายในปี 2575 เป็นประเทศที่ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และลดปัญหาการใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรม รัฐบาลจึงประกาศให้เรื่องสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจถือเป็นวาระ    แห่งชาติเพื่อช่วยขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ และขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 ให้บรรลุผล โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ผลักดันโครงการสำคัญอย่าง Thailand Trust Mark ในการสร้างแรงจูงใจ
ให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้มีคุณภาพ ภายใต้เงื่อนไขการผลิตที่ได้มาตรฐาน คือ มีสถานประกอบการที่มีคุณภาพระดับมาตรฐานสากลได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย (Thai Labour standard) เป็นอุตสาหกรรมที่คํานึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environmental Concern) และมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) รวมถึงมีการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน” ม.ล.คฑาทอง เพิ่มเติม


ในแง่ของการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ผลกำไรอาจเป็นมาตรวัดที่ให้ผลได้ชัดเจน แต่ในแง่ของการบริหารงานที่มีคุณภาพ ผู้บริหารจำเป็นต้องมีองค์ประกอบครบทั้งในแง่ของหลักมนุษยธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคม และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศหวังเป็นอย่างยิ่ง ที่จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศให้เป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพในสายตานานาประเทศ


ทั้งนี้จุดประสงค์ของการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ Thailand Trust Mark ในวงกว้าง เเละเพื่อเชิญชวนผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจสินค้าและบริการในประเทศไทย เข้าร่วมโครงการเพื่อให้นานาชาติ รับรู้ว่าสินค้าและบริการของบริษัทท่านมีการใช้แรงงานที่เป็นธรรม มีกระบวนการผลิตที่ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม หากสนใจสามารถสมัครขอรับตราได้ที่ www.thailandtrustmark.com