ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะอนุกรรมการปราบปรามละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ได้สั่งการในที่ประชุมให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ออกตรวจเครื่องรับหรือแปลงสัญญาณในการรับรายการกิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ แบบบอกรับเป็นสมาชิก เช่น Internet TV Box และ Android Box ที่ยังละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงาน กสทช.
วันนี้ (2 พ.ค. 2561) สำนักงาน กสทช. จึงร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงพื้นที่เพื่อตรวจร้านขาย Internet TV Box และ Android Box ซึ่งสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อรับชมรายการหรือภาพยนตร์ เนื่องจากปัจจุบัน Android Box ได้รับความนิยมจากประชาชนจำนวนมาก และมีกล่องบางยี่ห้อที่ไม่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. ถือเป็นส่วนหนึ่งในการกวดขันสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการรับชมรายการโทรทัศน์ซึ่งมีการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยโทษของผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. ได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ ออกตรวจสอบตามแผนปฏิบัติการ ณ แหล่งจำหน่ายกล่องหรืออุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์ เช่น บ้านหม้อ อาคารฟอร์จูนทาวน์ ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ และศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า งามวงศ์วาน ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งจำหน่ายกล่องรับสัญญาณฯ สรุปผลการดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2557- 31 มี. ค. 2561 พบของกลางทั้งสิ้น 14,245 เครื่อง ดำเนินคดีจำนวน 15 ราย แบ่งเป็นของกลางในปี 2561 มากที่สุดจำนวน 12,011 เครื่อง ดำเนินคดี 3 ราย รองลงมาคือปี 2557 ของกลาง 1,649 เครื่อง ดำเนินคดี 3 ราย ส่วนปี 2559 ของกลาง 299 เครื่อง ดำเนินคดี 6 ราย และปี 2560 ของกลาง 286 เครื่อง ดำเนินคดี 3 ราย
สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการซื้อ Android Box หรือกล่องรับสัญญาณต่าง ๆ สามารถตรวจสอบยี่ห้อที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. ผ่านเว็บไซต์ https://broadcast.nbtc.go.th/home/ เลือกแถบ “กิจการโทรทัศน์” จากนั้นเลือกแถบ “เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ในกิจการโทรทัศน์” และเลือก “กล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Internet Tv Box)”
ขณะที่แผนการดำเนินงานต่อไปของสำนักงาน กสทช. จะมีการทำความเข้าใจแก่ผู้ให้บริการร้านค้าออนไลน์ เช่น lazada, pantip market, shopee และ Kaidee เป็นต้น ให้มีการตรวจสอบข้อมูลของผู้ประกาศจำหน่ายสินค้า และหากจะจำหน่ายอุปกรณ์หรือกล่องรับสัญญาณฯ จะต้องได้รับอนุญาตจาก สำนักงาน กสทช. เท่านั้นจึงจะสามารถจำหน่ายได้ ซึ่งได้มีการประสานกับร้านค้าต่าง ๆ ให้ตรวจสอบในเบื้องต้นไปบ้างแล้ว