นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (9 พ.ค. 2561) ที่ประชุม กสทช. มีมติให้พักใช้ใบอนุญาตช่อง PEACE TV โดยอาศัยอำนาจตาม ข้อ 19 ของ ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 เป็นเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่ง และหากยังคงฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอยู่อีก จะใช้มาตรการทางปกครองที่สูงขึ้นต่อไป
ทั้งนี้เนื่องจาก การออกอากาศรายการ เดินหน้าต่อไป เมื่อวันที่ 26, 27 มี.ค. และวันที่ 5 เม.ย. 2561 เวลา 14.30-15.30 น. โดยประมาณ รายการ หยิบข่าวมาคุย เมื่อวันที่ 27 มี.ค. และวันที่ 9 เม.ย. 2561 เวลา 10.30-12.00 โดยประมาณ รายการ เหลียวหลังแลไปข้างหน้า เมื่อวันที่ 26, 27 มี.ค. และวันที่ 9 เม.ย. 2561 เวลา 17.00-18.00 น. โดยประมาณ รายการ เข้าใจตรงกันนะ เมื่อวันที่ 27 มี.ค. เวลา 18.20-19.20 น. โดยประมาณ ทางช่องรายการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ช่อง PEACE TV มีเนื้อหารายการอันเป็นการส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร และยังเป็นการนำเสนอที่ขัดต่อคำสั่งศาลปกครอง ที่มีคำสั่งให้บริษัท พีซ เทเลวิชั่น จำกัด ปฏิบัติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 97/2557 ลงวันที่ 18 ก.ค. 2557 และฉบับที่ 103/2557 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2557 ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำผิดซ้ำซาก
การออกอากาศรายการดังกล่าวทั้งหมด เป็นการขัดต่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ลงวันที่ 18 ก.ค. 2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 103/2557 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 อันเป็นการขัดต่อข้อกำหนดในบันทึกข้อตกลง ลงวันที่ 26 ส.ค. 2557 ระหว่างสำนักงาน กสทช. และบริษัท พีซ เทเลวิชั่น จำกัด ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ช่อง PEACE TV ซึ่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษความสงบแห่งชาติ ที่ 41/2559 ลงวันที่ 13 ก.ค. 2559 ถือว่าเนื้อหาดังกล่าวเป็นการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 37 ประกอบมาตรา 63 และมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551
นายฐากร กล่าวว่า จากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้มติมอบหมายให้ท่านประธาน กสทช. พิจารณามอบอำนาจให้เลขาธิการ กสทช. มีอำนาจในการระงับการออกอากาศโฆษณาที่ผิดกฎหมายเป็นการชั่วคราว กรณีมีการเผยแพร่โฆษณาที่ผิดกฎหมายผ่านโทรทัศน์ วิทยุ หรือผ่านเว็บไซต์ หลังจากที่ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่มานั่งมอนิเตอร์การออกอากาศโฆษณาที่ผิดกฎหมายรวมกับเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. ณ ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาที่ผิดกฎหมายของสำนักงาน กสทช. ได้ส่งรายงานพบการออกอากาศโฆษณาที่ผิดกฎหมายมาให้สำนักงาน กสทช. เพื่อให้สั่งระงับการออกอากาศโฆษณาดังกล่าวทันที เพื่อเป็นการลดขั้นตอน เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล
ทั้งนี้ ขั้นตอนปกติเมื่อมีผู้ร้องเรียนเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย จะต้องนำเนื้อหาดังกล่าวเข้าสู่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ที่มี กสทช. พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ เป็นประธาน เพื่อพิจารณา ซึ่งเมื่อพบว่ามีโฆษณาที่ผิดกฎหมาย หรือการโฆษณาเกินจริง สำนักงาน กสทช. ก็จะมีการสอบถามไปยัง อย. โดย อย. จะทำการตรวจสอบก่อนส่งเรื่องกลับมาที่สำนักงาน กสทช. รวมระยะเวลากระบวนการจะใช้เวลา 45-60 วัน ถึงจะสามารถยุติการออกอากาศรายการนั้นได้
สำหรับการดำเนินการที่สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ อย. ในการดำเนินงานเพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการดังกล่าว ทางทีมเจ้าหน้าที่ อย. จะเข้ามาร่วมมอนิเตอร์กับสำนักงาน กสทช. ณ ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาที่ผิดกฎหมายของสำนักงาน กสทช. เป็นเวลา 3 เดือน ขณะเดียวกันก็ส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาการกระทำอันเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ตามปกติ เมื่อคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเรียบร้อยแล้ว จะส่งเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้การระงับโฆษณาดังกล่าวจะต้องระงับไปจนกว่า จนกว่าผลการพิจารณาจะเป็นข้อยุติ
กรณีที่ผู้ประกอบกิจการฝ่าฝืน จะมีโทษปรับตามประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ข้อ 5 (2) ที่ระบุว่าการออกอากาศรายการหรือการโฆษณาที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้าโดยหลอกลวง หรือกระทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือโดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท และหากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับวันละ 100,000 บาท