วันนี้ ทีโอทีและดีแทคได้เปิดทดสอบ dtac-T คลื่น 2300 MHz จำนวน 10 แห่ง ใจกลางกรุงเทพ เน้นจุดพื้นที่ใช้งานหนาแน่น อาทิ สุขุมวิท สาทร-นราธิวาสราชนครินทร์ สีลม ราชประสงค์ พระราม 3 เป็นต้น ในการเปิด 10 เสาแรกในไทย เพื่อเปิดทดสอบสัญญาณเตรียมความพร้อม ก่อนที่จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แก่ลูกค้าทั่วไปเร็วๆ นี้ โดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดทดสอบการใช้งานเป็นครั้งแรกในไทย พร้อม ดร.พิเชษฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้เกียรติร่วมในฐานะกำกับดูแลหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงทีโอที และมีบทบาทในการขับเคลื่อนตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ดร. มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า “สัญญาทางธุรกิจและความร่วมมือระหว่างทีโอทีและดีแทคในการใช้งานคลื่นความถี่ 2300 MHz บนแบนด์วิดท์ที่กว้างที่สุดถึง 60 MHz (2310 – 2370 MHz) เพื่อให้บริการการสื่อสารความเร็วสูงมิติใหม่ของประเทศ เป็นการปักหมุดความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่นำเทคโนโลยีล่าสุดของโลก4G LTE-TDD มาให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเทอร์เน็ตไร้สายประจำที่(Fixed Wireless broadband) เพื่อขยายบริการให้ครอบคลุมชุมชนหรือครัวเรือนต่างๆ ในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของคนไทยในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ที่สำคัญความร่วม มือครั้งประวัติศาสตร์นี้จะเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศไทยให้ก้าวทันกับนานาประเทศตามนโยบาย รัฐบาลที่จะนำพาประเทศก้าวสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ให้เข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก โดยบริการคลื่น 2300 MHz นับเป็นกุญแจสำคัญต่อความสำเร็จในอนาคตของระบบโทรคมนาคม และระบบดิจิทัลในประเทศไทย”
ดร. มนต์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “การเปิดให้บริการคลื่น 2300 MHz นอกจากจะสร้างประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในการพัฒนาประเทศแล้ว จะเป็นการเสริมศักยภาพบริการของ ทีโอที ทั้งบริการโมบายบนคลื่น 2100 MHz และบริการบรอดแบนด์ของ ทีโอที ซึ่งจะรองรับความต้องการใช้งานของภาครัฐ ของธุรกิจเอกชน ธุรกิจ SME และประชาชนได้มากขึ้น โดย ทีโอที พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาสที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะทำให้ตลาดโมบายและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของ ทีโอที เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่มีจุดแข็งที่ได้เปรียบทั้งในเรื่องของแบนด์วิดท์และความครอบคลุมของพื้นที่ให้บริการ โดยจะสามารถสร้างยอดลูกค้าเพิ่ม Market Shareให้กับทีโอที”
นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคได้วางแผนการให้บริการคลื่น 2300 MHz ด้วยงบลงทุน (CAPEX) ปี พ.ศ. 2561 ประมาณ 15,000 – 18,000 ล้านบาท สำหรับการขยายสถานีฐานและเสาสัญญาณ โดยเมื่อหักกลบค่าใช้บริการระหว่างกันดีแทคสามารถให้ค่าตอบแทนแก่ทีโอทีเป็นจำนวน 4,510 ล้านบาทต่อปีจนถึง ปี พ.ศ. 2568 ทั้งนี้ ดีแทควางแผนที่จะขยายบริการบนคลื่น 2300 MHz ไม่ต่ำกว่า 37 จังหวัดในปีนี้ โดยพื้นที่แรกที่จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์จะเน้นไปที่บริเวณที่มีการใช้งานดาต้าสูง และพร้อมเปิดให้บริการภายในไตรมาส 2 ของปีนี้”
การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของการใช้งานข้อมูลในประเทศไทย ที่มีอัตราเฉลี่ยมากกว่า 8 GB ต่อผู้ใช้งานต่อเดือน และการที่โครงข่ายการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้กลายเป็นส่วนที่สำคัญมากของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สนับสนุนระบบเศรษฐกิจของชาติ
นายลาร์ส กล่าวเพิ่มเติมว่า “ดีแทคเลือกเทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อการสื่อสารมาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยคลื่นความถี่ 2300 MHz และเทคโนโลยี Time Division Duplex (TDD) จะถูกนำมาใช้งาน โดยTDD สามารถจัดการแบนด์วิดท์สำหรับการอัพลิงค์ และดาวน์ลิงค์บนแบนด์วิดท์เดียวได้พร้อมกันตลอดเวลา ความร่วมมือกันระหว่างดีแทคและทีโอทีครั้งนี้มีความสำคัญที่นำคลื่นความถี่กว้าง 60 MHz ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมาใช้งานเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น”
TDD และ Massive MIMO คือเทคโนโลยีที่ปฏิวัติเพิ่มการรับและส่งดาต้าในแต่ละเสาสัญญาณได้มากกว่าเดิม นับเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ก้าวสู่ “5G-ready” โดยคลื่นใหม่ที่จะนำมาให้บริการจะมีความจุที่มากที่สุด และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคนี้
นายลาร์ส กล่าวต่อไปว่า “สมาร์ทโฟนจำนวนมากกว่า 70% ที่รองรับ 4G ในขณะนี้ จะสามารถใช้งานบนคลื่นความถี่ 2300 MHz TDD ได้ อีกทั้ง ไม่เพียงแต่ผู้ใช้งานบนคลื่น 2300 MHz จะได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น แต่ผู้ที่ใช้งานสมาร์ทโฟนบนคลื่น 2100 MHz ยังจะได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้นอีกด้วย จากที่มีการเพิ่มคลื่นความถี่หรือ Off Load จากผู้ใช้งานบนระบบ TDD ทั้งนี้ ทำให้ลูกค้าดีแทคทุกคนจะได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้นในการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง”
นี่เป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ไม่ใช่เฉพาะสำหรับทีโอทีและดีแทค แต่ยังสำคัญกับประเทศไทย4.0 อีกด้วย ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ประเทศไทยต้องการในการก้าวเป็นผู้นำด้านดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังทำให้การบริการดิจิทัลของทีโอทีมีการเติบโตอย่างมั่นใจในระยะยาว นอกจากนั้น ยังเพิ่มความแข็งแกร่งของโครงข่ายดีแทคในการให้บริการในประเทศ และช่วยให้คนไทยยกระดับการใช้งานดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากที่สุด
ทั้งนี้ 10 เสาแรกในไทยที่ทีโอทีและดีแทคร่วมเปิดทดสอบการใช้บริการในพื้นที่ใจกลางเมืองสำคัญของกทม ก่อนที่จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แก่ลูกค้าทั่วไปเร็วๆ นี้ ได้แก่ สาทร แหล่งธุรกิจ ย่านนัดพบของคนทำงาน สังสรรค์ ย่านของกินอร่อยใจกลางเมือง, พระราม 3 ย่านเมืองใหม่ จุดเชื่อมต่อกรุงเทพและเส้นทางเข้าสู่ใจกลางเมืองจุดสำคัญ, สีลม ถนนธุรกิจใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานคร หรือ “วอลล์สตรีตของกรุงเทพ” แหล่งรวมธนาคาร โรงแรม สำนักงานชั้นนำขนาดใหญ่ และศูนย์การค้า พร้อมแหล่งท่องเที่ยว แหล่งซื้อสินค้าที่ระลึก ทั้งกลางวันและกลางคืน, ราชประสงค์ ศูนย์กลางแหล่งช้อปปิ้งที่ยิ่งใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, สุขุมวิท ย่านที่พักไฮเอนท์ ศูนย์การค้าชั้นนำ แหล่งธุรกิจ และจุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ เจริญกรุง แหล่งท่องเที่ยวชุมชนเก่าใจกลางกรุงเทพมหานคร ทางเลือกในการท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตของคนในชุมชนสไตล์อันซีน ของนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ เป็นต้น