เป็นไปตามความคาดหมายเมื่อกลุ่มทรู ประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่น 1800 MHz รอบใหม่ของ กสทช. ด้วยเหตุผลหลักคือ ทรูมูฟ เฮช มีคลื่นอยู่ถึง 55 MHz ยังมากเพียงพอที่จะรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นได้กว่าเท่าตัว และการประมูลครั้งนี้ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ผู้ที่ชนะประมูลจะมีความได้เปรียบอย่างมีนัยสำคัญ จึงไม่คิดจะเข้าร่วมประมูลเพียงเพื่อปั่นราคาประมูลเพื่อแกล้งคู่แข่งให้รับภาระสูงขึ้น
เท่ากับว่าเวลานี้จะเหลือเพียง 2 ราย เอไอเอส และดีแทค ที่มีศักยภาพสูงสุดที่จะเข้าร่วมประมูล ซึ่งต่างยังสงวนท่าที รอเวลา
กสทช.ได้ประกาศเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz สำหรับธุรกิจมือถือรอบใหม่ไปแล้วไม่นานนี้ และเปิดให้เอกชนผู้สนใจเข้าร่วมประมูลมารับเอกสารเตรียมการเข้าร่วมประมูลตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม โดยมีเอกชนยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมทั้ง 3 รายของไทย เอไอเอส, ทรู และดีแทค ต่างให้ความสนใจเข้ารับเอกสารจากกสทช.อย่างพร้อมเพรียงกันถ้วนหน้าในวันที่ 15 พฤษภาคม
ทั้งเอไอเอส และดีแทค ขอรับเอกสารการประมูลรายละ 2 ชุด ในขณะที่ทรู รับเอกสารไปเพียงชุดเดียว พร้อมกับเอกสารชี้แจงที่เกริ่นนำมาล่วงหน้าในวันดังกล่าวว่า อาจจะไม่ร่วมประมูล แต่ต้องรอบอร์ดบริษัทตัดสินใจก่อน
นอกจากเหตผลที่ทรูได้ประกาศไปแล้ว ถึงการไม่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ อีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ คือเหตุผลด้านสถานะความพร้อมด้านการเงิน
สถานะการเงินหลังประกาศผลไตรมาส 1/61
เมื่อดูผลการดำเนินงานของทั้ง 3 ค่ายมือถือใหญ่ที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาสแรกเมื่อเร็วๆ นี้ สะท้อนชัดเจนว่า สถานะทางการเงินยัง “เป็นโจทย์” ที่ท้าทายสำหรับทรู เมื่อเทียบคู่แข่งอีก 2 ราย เพราะแม้จะมีรายได้รวมสูง แต่ยังขาดทุน แถม Free Cash Flow ยังติดลบถึง 14,838 ล้านบาท หนี้สินรวมกว่า 3 แสนล้าน และยังมีภาระที่จะต้องจ่ายค่าคลื่นทั้ง 900 MHz และ 1800 MHz ที่จะต้องจ่ายในปีต่อๆ ไปอีกมหาศาล หากจะประมูลก็จะใช้เงินทุนอีกจำนวนมาก อาจะไม่เป็นผลดีกับทรู เท่ากับใช้ประโยชนจากคลื่นอยู่ในมือตอนนี้ 55 MHz จึงน่าจะเพียงพอ และไม่จำเป็นต้องเข้าประมูลอีก
ในขณะเดียวกันทรูยังมีความหวังที่จะให้รัฐบาลช่วยเหลือผ่อนผันการจ่ายงวดประมูลคลื่น 900MHz ที่จะถึงกำหนดการจ่ายวงเงิน 60,218 ล้านบาท ในปี 2563 ออกไปหลังจากที่ คสช.ปัดข้อเสนอ ส่งกลับให้ กสทช.ไปทบทวนใหม่อีกครั้ง จึงเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับทรูมากกว่าการเข้าประมูล
ในขณะที่เอไอเอส แม้ว่าจะมีภาระการจ่ายค่าคลื่น 900 MHz ในวงเงิน 59,574 ล้านบาท ในปี 2563 เช่นกัน แต่ด้วยสถานการเงินอันแข็งแกร่งของเอไอเอส มีผลประกอบการไตรมาสแรก รายได้อยู่ที่ 41,241.65 ล้านบาท กำไร 8,037.30 ล้านบาท และยังมี free cash flow สูงถึง 11,267 ล้านบาท แม้จะมีหนี้สินรวมกว่า 2 แสนล้าน แต่ยังมีความสามารถในการระดมเงินได้อย่างสบาย จึงไม่น่าจะมีปัญหาหากจะเข้าร่วมประมูลคลื่นรอบใหม่ หากเอไอเอสเข้าประมูลและคว้าคลื่นมาได้ก็จะมีคลืนความถี่ในมือเหนือคู่แข่ง
ดีแทค ความจำเป็นต้องมีคลื่น 1800 MHz
สำหรับดีแทค ด้วยสถานะการเงินที่พร้อม จากการไม่ได้ร่วมประมูลคลื่นมูลค่ามหาศาล ทั้ง 900 MHz และ 1800 MHz ในรอบที่แล้ว มีหนี้สินรวมน้อยที่สุดไม่ถึงแสนล้านบาท จึงเป็นรายเดียวที่เป็นตัวเต็งว่าจะต้องเข้าประมูลคลื่นในรอบนี้ เพื่อความอยู่รอด
แม้ว่าจะสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจากการไปเซ็นสัญญากับทีโอที ในการใช้คลื่น 2300 MHz มาได้ แต่ปัญหาอาจติดในเรื่องตัวโทรศัพท์มือถือ ที่ลูกค้าปัจจุบันอาจจะต้องมีการเปลี่ยนเครื่องเพื่อรองรับการให้บริการ
นอกจากนี้ ประมาณ 25% ของเครือข่ายทั้งหมดของดีแทค เป็นโครงข่ายในคลื่น 1800 MHz ทั้งบริการ 4G และ 2G หากไม่มีคลื่นย่านนี้มาให้บริการหลังจากสิ้นสุดอายุสัมปทานกับแคท ในวันที่ 15 กันยายนนี้ ย่อมมีผลกระทบกับลูกค้าที่ใช้งานอยู่ในขณะนี้ด้วยเช่นกัน
ปัญหาของดีแทค คือ ราคาคลื่นที่ประมูลครั้งนี้ เป็นราคาเดียวกับที่ทั้งเอไอเอสและทรูประมูลไปได้เมื่อปี 2558 โดยที่ครั้งนั้นดีแทคหยุดการประมูลคลื่น 1800 MHz อยู่ที่เพียง 17,504 ล้านบาทเท่านั้น แต่ราคาตั้งต้นในครั้งนี้สูงถึง 37,457 ล้านบาทต่อคลื่น 15 MHz ทำให้ดีแทคแสดงความไม่สบายใจกับราคาคลื่นสูงมากเกินไป
อีกทั้งเงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นมาในการประมูลครั้งนี้คือ สูตร N-1 ที่ว่า จะให้ใบอนุญาตน้อยกว่า 1 ใบตามจำนวนผู้เข้าประมูลเพื่อให้เกิดการแข่งขัน หากทั้งเอไอเอสและดีแทคเข้าร่วมประมูล ก็จะมีผู้ได้ใบอนุญาตเพียง 1 ราย ด้วยหลักเกณฑ์ข้อนี้ ก็เชื่อว่าจะมีการแข่งขันด้านราคาอีกครั้งแน่
อย่างไรก็ตาม การประมูลครั้งนี้ กสทช.ได้เปิดช่องไว้ว่า หากมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว กสทช.จะขยายเวลาไปอีก 30 วัน หากยังไม่มีก็จะเดินหน้าประมูลต่อไปเพียงรายเดียว โดยจะได้ใบอนุญาตในราคาตั้งต้นนี้ไป
เงื่อนไขนี้ เชื่อว่าเป็นการใส่เพื่อเปิดช่องทางให้ดีแทคเข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันระหว่าง 3 ผู้ประกอบการในการจ่ายค่าคลื่นในราคามาตรฐานเดียวกัน ก่อนที่จะนำคลื่นที่เหลือ ออกเปิดประมูลในรอบต่อไปอีกครั้งในอนาคต โดยที่อาจจะไม่ได้มีราคาประมูลตั้งต้นแพงเหมือนในขณะนี้ก็เป็นได้
การที่ทรูชิงนำแจ้งไม่เข้าร่วมประมูล อาจจะเป็นการเริ่มแย้มถึงทิศทางต่อการตัดสินใจของเอไอเอส จะเข้าสู้เพื่อดึงราคาให้ดีแทค ได้คลื่นได้ราคาแพงขึ้น หรือเข้าสู้เพื่อให้ภาพการประมูลดูสวยงาม ที่อย่างน้อยมี 2 รายเข้าร่วมประมูล แต่สุดท้ายประกาศถอนตัวไปด้วยเลย เพื่อเปิดทางให้ดีแทคได้คลื่นไปด้วยราคาที่เท่าเทียมกับเอไอเอสและทรู ที่ได้ไปก่อนหน้านี้
เกมนี้ขึ้นอยู่กับว่าดีแทคจะยินยอมที่จะรับราคาประมูลนี้หรือไม่ เพราะหากดีแทคไม่ตกลง การประมูลครั้งนี้ก็อาจจะต้องจบลง
หน้าตาการประมูลรอบใหม่นี้ จะมีบทสรุปเช่นไร อาจจะต้องรอไปถึงวันที่ 15 มิถุนายนนี้ เพราะเป็นวันกำหนดให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ที่จะเห็นหน้าตาของคนเข้าร่วมประมูลว่าจะมีหรือไม่ หรือมีทั้งหมดกี่ราย อยู่ที่เกมแพลนของทั้งเอไอเอส และดีแทคด้วยว่า จะวางกลยุทธ์กันอย่างไร
ถึงแม้จะมีผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่เพียงแค่ 3 รายในประเทศ แต่เกมนี้เกี่ยวพันกับรายได้และผลประโยชน์มหาศาล ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรในวงการ วันนี้ค่ายหนึ่งอาจจะจับมืออีกค่ายหนึ่ง แต่วันต่อมาเกมอาจเปลี่ยนพลิกผันได้ตลอดเวลา.