เทคนิคปั้นแบรนด์ผ่าน Instagram ที่นักการตลาดควรรู้

หลายคนอาจคิดว่าอินสตาแกรม (IG-Instagram) คือพื้นที่สำหรับเซลฟี่ โพสต์รูปสวยๆ เวลาไปท่องเที่ยวเพื่อแชร์ระหว่างเพื่อนฝูงแต่แท้ที่จริงแล้ว อินสตาแกรมเป็นขุมทรัพย์ของนักการตลาดชั้นยอดเพราะเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้เล่นถึง 800 ล้านคน มี 25 ล้านบัญชีที่เป็นบัญชีทางธุรกิจ และมีผู้ลงโฆษณาอีก 2 ล้านที่เลือกใช้อินสตาแกรมเป็นโซเชียลมีเดียสำหรับกลยุทธ์ทางการตลาดของแบรนด์

เอมี่ โคล หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ อินสตาแกรม กล่าวว่า แบรนด์ต่างๆ จะบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาในแบบเดียวกับที่นิยมทำกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์โดยตรงและสร้างบทบาทให้กับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่ อินสตราแกรมเป็นพื้นที่สำหรับแบรนด์ขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดเล็ก รวมไปถึงผู้บริโภคทั้งหมดที่มารวมตัวอยู่ที่เดียวกัน ทุกคนมีโอกาสแบบเดียวกัน ในการสร้างเพจ หาจำนวนผู้ติดตาม (Follower) และสร้างคอนเนคชั่น ซึ่งเป็นโอกาสทองที่ทุกธุรกิจไม่อยากพลาดที่จะคว้าไว้

บริษัทส่วนใหญ่มักใช้อินสตาแกรมเป็นเครื่องมือในการสร้างแบรนด์รวมไปถึงสร้างแบรนด์รอยัลตี้และมีคีย์เวิร์ด 3 ประการ ในการใช้งานหลัก ๆ  คือ  การสร้างคอนเนคชั่นกับกลุ่มผู้ติดตาม การแสดงผลิตภัณฑ์ผ่านหน้าเพจของตัวเองโดยใช้ประโยชน์จากอินฟลูเอนเซอร์ และการจ่ายผ่านโฆษณา

60% ของผู้เล่น อินสตาแกรมในอังกฤษกล่าวว่า พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการบนแพลตฟอร์มในฐานะที่เป็นเครื่องมือของการโฆษณาที่มีบทบาทสำคัญ

แต่ ช่องทางอย่าง อินสตาแกรมควรจะเป็นแรงบันดาลใจและเชื่อมโยงแบรนด์เข้ากับผู้คนได้มากกว่ารูปภาพของสินค้าแต่เพียงอย่างเดียว เพราะผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยสนใจและเชื่อมั่นว่า จะได้บางสิ่งบางอย่างกลับมาจากคอนเทนต์ที่เห็น ซึ่งแบรนด์ที่ใช้อินสตาแกรมมักจะเป็นกลายเป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้ตั้งแต่วันแรก โดยมีถึง 80% ของผู้ใช้ที่ชอบกดติดตาม (Follow) โดยอัตโนมัติ จนกลายเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ

แน่นอนว่านี่เป็นมิติใหม่ในการโฆษณาที่เติบโตมาพร้อมกับโซเชียลมีเดียยุคนี้ด้วย   เพราะมันสามารถส่งผ่านข้อความจากเจ้าของแบรนด์ออกไปได้โดยตรง ต่างจากแต่ก่อนที่ต้องพึ่งพาสื่อสิ่งพิมพ์หรือกองบรรณาธิการเป็นกระบอกเสียงให้ แต่ตอนนี้เจ้าของแบรนด์หรือแม้แต่ผู้บริโภคทั่วไป สามารถส่งผ่านได้ทั้งข้อความภาพและเสียง ไปสู่กลุ่มคนที่ติดตามหรือสู่สาธารณะได้อย่างตรงไปตรงมา ทั้งยังช่วยให้แบรนด์สามารถหาว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง รวมไปถึงหาวิธีการสื่อสารกับพวกเขา โดยดูจากการตอบรับว่า สิ่งไหนที่ผู้บริโภคต้องการและไม่ต้องการให้แบรนด์ทำ

เมื่อ อินสตาแกรมกลายเป็นช่องทางการตลาดที่ทรงพลังได้ขนาดนี้  การขยายช่องทางและเพิ่มประสบการณ์อันไร้ขีดจำกัดก็เป็นสิ่งที่ตามมา อย่างเช่น การเปิดฟีเจอร์ Shoppable organic posts ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถขายสินค้าผ่านรูปที่โพสต์ลงใน อินสตาแกรมได้เรียกว่าเอาใจขาช้อปกันสุดๆ  และทำให้การขายของผ่าน E- Commerce สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ฟีเจอร์นี้นอกจากอเมริกาแล้ว ยังขยายการใช้งานไปอีกใน8 ประเทศ  เช่น แคนาดา, บราซิล, อังกฤษ, เยอรมัน, ฝรั่งเศส, อิตาลี, สเปนและออสเตรเลีย ถ้าได้รับการตอบรับดีไม่นานก็คงถึงไทย

เลือกใช้อินสตาแกรม ต้องใช้ประโยชน์จากเรื่องราว (Story) ให้มากที่สุด

ในขณะที่หน้าโปรไฟล์ช่วยให้แบรนด์มีโอกาสในการดูแลคอนเทนต์ฟังก์ชันการเล่าเรื่องราวผ่านสตอรี่ ก็มีเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเอมี่ โคลแนะว่าสตอรี่นั้นจะเป็น behind-the-scenes ที่สามารถดูเพิ่มเติมได้ ซึ่งที่ผ่านมา 30% ของเรื่องราวที่มีผู้ชมมากที่สุดมาจากแบรนด์

ตัวอย่างเช่นกรณีของเครื่องประดับแบรนด์ Missoma  แบรนด์เครื่องประดับที่ Kylie Minogue สวมใส่ที่เลือกใช้อินสตาแกรมในการสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ ก็ใช้กลยุทธ์นี้เช่นเดียวกันโดยเลือกทำโฆษณาด้วยการเพิ่มการใช้สตอรี่ในช่ว ง6 ดือนที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคมีความสัมพันธ์กับแบรนด์ในแบบส่วนตัวมากขึ้น เพราะทำให้ผู้ติดตามเห็นได้ว่า แบรนด์กำลังทำอะไร หรือพยายามแก้ไข ปรับปรุงสินค้าและบริการมากน้อยแค่ไหนผ่านอินสตาแกรมที่พยายามสื่อออกไป

ผลปรากฏว่าผู้ติดตามติดแฮชแท็กเพื่อให้กำลังใจแบรนด์ และเปลี่ยนมุมมองการรับรู้ของผู้บริโภคให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น

อินสตาแกรมเอง ยังพัฒนาเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่เพื่อปรับปรุงการสื่อสารระหว่างแบรนด์และผู้บริโภค ไปเมื่อ 9 พฤษภาคม2018 ที่ผ่านมา เพื่อช่วยจัดการระบบและสอบถามข้อมูลเพื่อเอื้อต่อธุรกิจมากขึ้น อย่างเช่น การเพิ่มปุ่ม call-to-action ในโปรไฟล์ธุรกิจที่ให้เลือกรวมทั้งวิธีใหม่ ๆ สำหรับธุรกิจในการกรองข้อความโดยตรงจากอินสตาแกรม

อีกทั้งปัจจุบันยังมีผู้ใช้งาน 150 ล้านคน คุยธุรกิจผ่านInstagram Direct ในแต่ละเดือนและ1 ใน3 ของข้อความเหล่านี้เริ่มถูกบิวท์มาจาก Instagram Story

บทบาทของอินฟลูเอนเซอร์ใน อินสตาแกรม

ด้วยความนิยมของแบรนด์ที่หันมาทุ่มงบกับการใช้อินฟลูเอ็นเซอร์มาร์เก็ตติ้งเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่าการใช้อินฟลูเอ็นเซอร์แต่ละแบรนด์ก็จะแตกต่างกัน ทั้งอิทธิพล และจำนวนผู้ติดตาม

ตัวอย่างเช่น ในวันเซนต์แพทริค Pernod Ricard ส่ง micro-influencers ไปยังบาร์ท้องถิ่นเพื่อดื่มเหล้าวิสกี้ชีวาส ซึ่ง Sille Opstrup หัวหน้าฝ่ายดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง (Head of Digital Marketing) ของ Pernod Ricard UKให้ข้อมูลว่า มียอดผู้ติดตามถึง 2 ล้านคน ถือเป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จมากกับการสร้างเอ็นเกจเมนท์ในช่องทางออนไลน์

เอมี่ โคล ยังชี้ให้เห็นว่าคอนเทนต์ของแบรนด์ในอินสตาแกรมจะได้รับความสนใจอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับโพสต์ทั่วไปดังนั้นอินสตาแกรมจึงได้พัฒนาและหาวิธีการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพราะเมื่อแบรนด์ทำงานร่วมกับเหล่า ครีเอเทอร์หรือคนดัง พวกเขาสามารถโพสต์ข้อความ ในฐานะพาร์เนอร์กับตัวแบรนด์และทำให้ผู้คนสนใจในวงกว้างได้

แต่อย่างไรก็ตามการใช้อินฟลูเอนเซอร์ ก็ต้องระวังและเลือกประเภทให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ไม่อย่างนั้นจะเกิดผลเสียต่อความไว้วางใจของผู้บริโภคต่อตัวแบรนด์และลดระดับความเชื่อมั่นของผู้ติดตามที่มีต่ออินฟลูเอนเซอร์ได้

ส่วนจะทำการตลาดโดยใช้ Instagram มากแค่ไหนขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแบรนด์ หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างคอนเนคชั่น ควรเลือกใช้เพจของทางแบรนด์ แต่ถ้าเป็นการสร้างการรับรู้และตระหนักถึง ควรมุ่งเน้นไปที่การโฆษณา อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงควรใช้ทั้งสองอย่างร่วมกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภค

ดังนั้น ถ้าแบรนด์ไหนกำลังวางแผนจะปั้นแบรนด์ให้มีคุณภาพ โดยใช้อินสตาแกรมเป็นช่องทาง ก็ต้องรู้จักการประยุกต์ในหลากหลายรูปแบบ  ทั้งการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ เลือกสตอรี่ในการเล่าเรื่องราวที่โดนใจผู้บริโภค และการใช้ช่องทางและโพสต์ในช่วงเวลาที่เหมาะสม.

Source