วิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา โรงเรียนที่จะสอนให้หมูบินโดยไม่ต้องรอให้ถึงปากเหว

ดีลระหว่าง แจ็ค หม่า และกลุ่มอาลีบาบา กับรัฐบาลไทย ยังไม่จบ เพราะหลังมาเปิดตลาดอีคอมเมิร์ซรอบใหญ่ อาลีบาบา ยังมีพันธกิจที่จะช่วยคนไทยเข้าใจอีคอมเมิร์ซโดยเฉพาะในแพลตฟอร์มของอาลีบาบามากขึ้น ในโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลและส่งเสริมบุคลากรไทยในการพัฒนาและขีดความสามารถด้านดิจิทัลอีคอมเมิร์ซ

โดยมี 2 หน่วยงานสำคัญอย่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ดูแลและจัดกิจกรรมสัมมนาแนะนำวิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา

วิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา เป็นสถาบันการศึกษาที่ก่อตั้งขึ้นโดยมหาวิทยาหังโจวนอร์มอล แห่งประเทศจีน และอาลีบาบา กรุ๊ป เมื่อเดือนตุลาคม 2551 ปัจจุบันรับผิดชอบดูแลงานด้านการฝึกสอนเชิงวิชาการเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ ซึ่งจะนำรูปแบบเดียวกันนี้มาใช้ในไทย

ผู้เรียนจะได้รับการรับรองจากมหาวิทยาลัยเถาเป่า หรือฝ่ายฝึกอบรมผู้ค้าของเว็บไซต์เถาเป่าของกลุ่มอาลีบาบา มีจุดยืนคือเป็นแพลตฟอร์มการศึกษา ทำหน้าที่ฝึกอบรมผู้ค้า โดยเชื่อว่าผู้ค้าที่มีศักยภาพซ่อนอยู่แต่ขาดประสบการณ์ และยึดมั่นในหลักการที่จะช่วยทำกำไรจากการพัฒนาตนเองจากการทำความเข้าใจความต้องการของผู้ค้า

อาลีบาบาใช้การสัมมนาครั้งนี้เป็นเหมือน Open House แนะนำหลักสูตร โดยมี หยาง เหวินหย่า นำทีมบรรยายในหัวข้อ “e-Commerce Makes Shopping Fun and Business More Efficient” เน้น 3 หัวข้อหลัก 3 ดังนี้

1. เส้นทางสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของประเทศจีน

หลักสูตรนี้จะเริ่มจากการวิเคราะห์พฤติกรรมบริโภคของคนจีนเพื่อทำธุรกิจให้ตอบรับกับผู้บริโภคมากที่สุด ตัวอย่างเช่น จากเดิมพฤติกรรมของผู้บริโภคซื้อเพราะราคาและคุณภาพ ตอนนี้ก็ต้องเพิ่มในเรื่องของดีไซน์ขึ้นมา อีกทั้งช่องทางต่างๆ ในการจัดจำหน่ายสินค้าเพิ่มมากขึ้น

2. การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในยุคดิจิทัล

เป็นหลักสูตรต่อเนื่องจากหัวข้อแรกสู่ยุคดิจิทัล โดยยกตัวอย่างกรณีของLazadaที่อาลีบาบาเข้ามาเทกโอเวอร์ในไทย ซึ่งต้องเพิ่มการขายที่มากขึ้น เช่น การใส่การบรรยายสินค้าให้ผู้บริโภคเห็นมากที่สุด ว่าสินค้าเป็นอย่างไร ใส่ในโอกาสไหนได้บ้าง เป็นต้น เพราะทุกวันนี้ช้อปปิ้งออนไลน์สามารถช่วยให้ผู้ขายขายสินค้าได้ง่ายขึ้น ผู้ซื้อก็ซื้อได้ง่ายขึ้น แถมระบบก็จะช่วยวิเคราะห์ว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นอย่างไร ชอบสินค้าประเภทไหน และก็จะช่วยแนะนำสินค้าให้ในครั้งต่อๆ ไป

“พฤติกรรมของผู้บริโภคสมัยนี้ส่วนใหญ่จะไม่ค้นหาคีย์เวิร์ดแล้วว่าได้อะไร แต่จะเลื่อนไปเรื่อยๆ พอเห็นอะไรน่าสนใจจึงค่อยซื้อ ฉะนั้นการบรรยายให้น่าสนใจและเห็นภาพจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะดึงดูดผู้บริโภคนั่นเอง” หยาง ยกตัวอย่างพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งผู้เรียนสามารถค้นพบได้จากการเรียนในหลักสูตรของอาลีบาบา

3. กลยุทธ์การตลาดรูปแบบใหม่เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในตลาดอีคอมเมิร์ซ

เมื่อได้วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคและบริบทต่างๆ ก็สามารถมาผสานรวมกันให้เกิดเป็นกลยุทธ์การตลาดรูปแบบใหม่ได้ ซึ่ง หยาง เน้นย้ำคำว่า New Retail (นิวรีเทล) เพื่อให้ทุกคนได้จดจำไว้อย่างขึ้นใจในการทำธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซไว้ว่า

“อย่างแรกคือใช้ประสบการณ์ของผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ซึ่งทุกอย่างเราต้องคิดจากประสบการณ์ของผู้บริโภคว่าขณะที่เขาตัดสินใจซื้อสินค้า เขามีความรู้สึกอย่างไร อย่างที่สองก็คือการประมวลข้อมูลหรือการนำข้อมูลต่างๆ มาประยุกต์ใช้ และอย่างสุดท้ายคือการเป็นรีเทลที่ไม่มีรูปแบบตายตัว มันเป็นการค้าปลีกที่ผสมผสานการค้าปลีกหลายๆ อย่างมารวมกัน”

วิทยาลัยอาลีบาบา หลักสูตรที่จะทำให้หมูบินได้ ในโลกการค้าออนไลน์

หยาง เปรียบเปรยความสำเร็จในยุคการค้าออนไลน์ไว้ว่า สำหรับใครที่รู้จักฝึกฝนเรียนรู้และปรับตัวเองให้พร้อมรับมือกับการออนไลน์แล้วนั้น ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับเรื่องอะไรที่คาดไม่ถึงเหมือนหุบเหว ก็ไม่ต่างอะไรจากมองเห็นโอกาสแห่งความสำเร็จ เพราะความพร้อมที่มี ต่อให้เป็นหมู ก็จะกลายเป็นหมูบินได้ที่โบยบินเข้าคว้าโอกาสนั้นได้ในทันที

คอนเซ็ปต์นี้เหมือนกับที่หลายองค์กรเชื่อว่า ถ้าบริษัทสามารถพัฒนาคนดีคนเก่งให้มีอยู่ในองค์กรและทำให้คนเหล่านั้นทำงานด้วยความตั้งใจ แม้เวลาต้องเผชิญกับงานที่ไม่เคยทำมาก่อน ก็จะสามารถทำเป็นและทำได้ดี เป็นความหมายที่เปรียบเป็นคำคมเรื่อง ต่อให้เป็นหมู ก็เป็นหมูบินได้ ที่คนจีนนิยมพูดถึงกันนั่นเอง

คำว่า หมูบินได้ นี้ ที่ หยาง ยกมาเปรียบเปรยนี้เขาบอกว่า เป็นคำที่เขาประทับใจจากที่เคยได้ยิน ซีอีโอของเสี่ยวมี่ (Xioami) กล่าวไว้ ที่ต้องการสื่อในนัยเดียวกันว่า ถ้ามีความพร้อมต่อให้ยืนอยู่ปากเหวก็สำเร็จได้ และสามารถเปลี่ยนให้ทั้งหุบเหวเป็นโอกาสและทำให้หมูซึ่งเป็นสัตว์ที่ถูกมองว่ามีความสามารถน้อยก็เหมือนมีพลังวิเศษที่ทำเรื่องยากให้สำเร็จได้แบบหมูๆ

ดังนั้น ถ้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือคนทั่วไปสนใจเรียนรู้การค้าออนไลน์ให้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยอาลีบาบา ทุกคนก็มีโอกาสที่จะสร้างปรากฏการณ์หมูบินได้ให้กับตัวเองในอนาคตเช่นกัน

“อนาคตอีคอมเมิร์ซในไทยจะเติบโตไปได้อีกมาก แล้วไทยมีผลผลิตทางการเกษตรที่น่าอิจฉา ถ้าคนไทยเตรียมตัวให้พร้อม ก็จะสามารถก้าวไปสู่คำว่า New Retail ได้ไม่ยาก เพราะฉะนั้นต้องจำไว้ว่า โอกาสมักจะมีให้สำหรับคนที่เตรียมพร้อมเสมอ ถ้าคุณมองเห็นโอกาสและพร้อมที่ลงมือกับมัน นั่นก็คือโอกาสที่แท้จริงสำหรับคุณ เพราะใครๆ ก็อยากเป็นหมูที่บินได้ลงบนความสำเร็จ และอย่าปล่อยให้ตัวเองเป็นหมูที่อยู่ข้างล่างคอยดูหมูตัวอื่นบินอยู่” หยาง กล่าวทิ้งท้าย.