การนำ AI มาประยุกต์ใช้ในระดับของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ผสมผสานกับเครือข่ายลอจิสติกส์ ทั้งในรูปแบบเดิมและในแบบดิจิทัล จะสร้างมูลค่าเพิ่มในการบริการ
เสริมศักยภาพของมนุษย์ด้วยระบบอัจฉริยะที่สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง ค้นคว้าหาแง่มุมที่น่าสนใจจากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจากบิ๊กดาต้า และจัดการกับภารกิจที่ซับซ้อนได้ด้วยตนเอง
AI ในธุรกิจลอจิสติกส์ครอบคลุมระบบงานอัตโนมัติในแบ็คออฟฟิศ การดำเนินการเชิงคาดการณ์ ทรัพยากรลอจิสติกส์อัจฉริยะ และรูปแบบประสบการณ์ที่แปลกใหม่สำหรับลูกค้า
ดีเอชแอล ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ชั้นนำระดับโลก และไอบีเอ็มร่วมศึกษาและประเมินศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) สำหรับการใช้งานด้านลอจิสติกส์ และชี้ให้เห็นถึงรูปแบบการประยุกต์ใช้งานที่เหมาะสมที่สุดเพื่อพลิกอุตสาหกรรมดังกล่าวและยกระดับสู่ทรัพยากรด้านลอจิสติกส์อัจฉริยะ (Intelligent Logistics) และการดำเนินงานที่เหนือชั้น ดีเอชแอลและไอบีเอ็มแนะนำแนวทางที่ผู้บริหารซัพพลายเชนจะสามารถใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติที่สำคัญของ AI รวมถึงโอกาสในการพัฒนาประสิทธิภาพ ความสามารถในการเข้าถึง และการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย
รายงานที่จัดทำร่วมกันนี้ระบุถึงนัยยะสำคัญและกรณีการใช้งาน AI สำหรับอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ โดยชี้ว่า AI มีศักยภาพในการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรได้อย่างมาก ปัจจุบัน AI ได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายในแวดวงผู้บริโภค ดังจะเห็นได้จากการเติบโตที่รวดเร็วของโปรแกรมผู้ช่วยอัจฉริยะที่สั่งงานด้วยเสียง (Voice Assistant) ขณะเดียวกันดีเอชแอลและไอบีเอ็มพบว่า เทคโนโลยี AI มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี AI ช่วยให้ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ต่อยอดประสบการณ์ของลูกค้า (Customer Experiences) ผ่านการสนทนา และยังสามารถจัดส่งสินค้าได้ล่วงหน้าก่อนที่ลูกค้าจะทำการสั่งซื้ออีกด้วย
“ปัจจุบัน สภาพแวดล้อมทั้งในเชิงเทคโนโลยี ธุรกิจและสังคมในปัจจุบัน ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจลอจิสติกส์หันมาใช้กลยุทธ์การทำงานเชิงรุกที่คาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตในรูปแบบที่ไม่สามารถทำได้ในอดีต” นายแมทเทียส ฮิวท์เกอร์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายนวัตกรรมทั่วโลกของดีเอชแอล กล่าว “ขณะที่เทคโนโลยี AI ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เรามีหน้าที่ที่จะหาโอกาสในการใช้ประโยชน์จาก AI โดยการสำรวจความเป็นไปได้กับลูกค้าและพนักงานถึงศักยภาพของ AI ในการสร้างอนาคตของอุตสาหกรรมลอจิสติกส์”
หลายๆ อุตสาหกรรมประสบความสำเร็จในการปรับใช้เทคโนโลยี AI ให้เข้ากับการดำเนินธุรกิจในแต่ละวัน เช่น อุตสาหกรรมการผลิตและวิศวกรรม โดย AI ถูกใช้งานในสายการผลิตเพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับการผลิตและการบำรุงรักษา โดยอาศัยการจดจำเป็นรูปภาพและอินเทอร์เฟซการสนทนา ส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ AI ถูกใช้งานอย่างกว้างขวางเพื่อปรับปรุงความสามารถด้านการเรียนรู้ด้วยตนเองของรถยนต์ไร้คนขับ นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างอีกมากมายที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของ AI ซึ่งสามารถพลิกอุตสาหกรรมต่างๆ หลังจากที่ส่งผลกระทบและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางต่อผู้บริโภค
อุตสาหกรรมลอจิสติกส์สามารถนำเทคโนโลยี AI เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานจากการตั้งรับไปสู่การดำเนินการเชิงรุกโดยอาศัยการคาดการณ์ล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยสร้างข้อมูลเชิงลึกที่ดีกว่า โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า ทั้งในส่วนของระบบหลังบ้าน การปฏิบัติงาน และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการลูกค้า ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี AI สามารถใช้การจดจำรูปภาพเพื่อตรวจสอบสถานะสินค้าต่างๆ ที่มีการจัดส่ง ทั้งยังรองรับการขนส่งอัตโนมัติแบบครบวงจร หรือคาดการณ์ความผันผวนของปริมาณการจัดส่งสินค้าทั่วโลกล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดขึ้นจริงได้ แน่นอนว่า AI ช่วยยกระดับขีดความสามารถของบุคลากร โดยแบ่งเบาภาระในส่วนของงานประจำ และช่วยให้บุคลากรด้านลอจิสติกส์สามารถทุ่มเทเวลาอย่างเต็มที่ให้กับงานที่สำคัญกว่าและเพิ่มมูลค่ามากกว่าได้
“เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่มูลค่า (Value Chains) ของอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ รวมถึงอีโคซิสเต็มส์อันส่งผลให้องค์กร อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง” นายคีธ เดียร์คส์ หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมทั่วโลกสำหรับการขนส่ง ลอจิสติกส์ และขนส่งทางรถไฟ ของไอบีเอ็ม กล่าว “ด้วยการผสานรวม AI เข้าไว้ในกระบวนการหลัก บริษัทต่างๆ จะสามารถลงทุนเพิ่มในส่วนที่จำเป็นให้ทันสมัย หรือยกเลิกระบบแอพพลิเคชั่นรุ่นเก่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ และช่วยให้บุคลากรมีเวลามากขึ้นในการพัฒนาทักษะและขีดความสามารถของตน”
จากรายงานที่ศึกษาร่วมกันระหว่างดีเอชแอลและไอบีเอ็ม สรุปว่า เทคโนโลยี AI จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องและถูกใช้งานอย่างกว้างขวางในแวดวงอุตสาหกรรมเหมือนที่เกิดกับโลกของผู้บริโภคในปัจจุบัน AI จะนำไปสู่การปฏิรูปอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ โดยก่อให้เกิดระบบงานอัตโนมัติแบบเชิงรุกที่อาศัยการคาดการณ์ล่วงหน้าและสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของลูกค้าแต่ละราย รายงานดังกล่าวระบุถึงภาพรวมและแนวทางปฏิบัติที่ดี ซึ่งจะช่วยให้บริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมลอจิสติกส์สามารถปรับใช้เทคโนโลยี AI ในระบบซัพพลายเชนทั่วโลก