เปิดใจลูกจ้างชาวไทยกลัวแข่งขันไม่ได้ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล สงครามแย่งคนเก่ง 1 ใน 4 เตรียมเปลี่ยนงานภายใน 12 เดือน

เมื่อโลกดิจิทัลคือปัจจัยของเศรษฐกิจยุคใหม่ และได้กลายเป็น “เงื่อนไข” สำคัญของคนทำงานยุคนี้ ที่ต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้

เวิร์กเดย์ (Workday) แอปพลิเคชั่นคลาวด์ระดับองค์กรสำหรับการบริหารการเงินและทรัพยากรบุคคล เผยแพร่ผลการวิจัยหัวข้อ ‘The Drive for the Digitally-enable Workforce’ พบว่า 45% ของลูกจ้างในประเทศไทยขาดความมั่นใจว่ามีทักษะที่เหมาะสมกับการแข่งขันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

การศึกษาครั้งนี้ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัทการตลาดระดับโลกไอดีซี (IDC) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นลูกจ้างจำนวน 1,404 คนใน 8 ประเทศทั่วภูมิภาคได้แก่ประเทศไทย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฮ่องกงนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลี

เพื่อประเมินทัศนคติและความพร้อมที่มีต่อยุคเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการรับรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่อาชีพของตนเองได้รับจากการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (เช่นอุปสรรคและโอกาส) สิ่งที่ลูกจ้างตั้งใจจะทำหรือกำลังทำซึ่งเกิดจากการรับรู้ของพวกเขาและความท้าทายที่ลูกจ้างจะต้องเผชิญเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต

ผลวิจัยระบุด้วยว่า บริษัททั่วทั้งภูมิภาคมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลในธุรกิจต่าง ๆ โดยผลการศึกษาของไอดีซีระบุว่า ภายในปี พ.ศ. 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศอย่างน้อย 60 % ของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น จะมาจากการเปลี่ยนแปลงด้วยดิจิทัล

เนื่องจากการเติบโตในทุก ๆ อุตสาหกรรมจะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นสินค้าและบริการที่ดีขึ้น การปฏิบัติงานและความสัมพันธ์

ด้วยแนวโน้มนี้ ธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศไทย และทั่วเอเชียแปซิฟิก จึงต้องสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อเตรียมพนักงานให้พร้อมรับมือกับความท้าทายจากเศรษฐกิจดิจิทัล

เดวิด โฮป ประธานบริษัทเวิร์กเดย์เอเชียแปซิฟิก กล่าว

*** ความสุขคือกุญแจสู่ความสำเร็จ ใช่หรือไม่

ประเทศไทยมีพนักงานที่มีความสุขมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก โดยที่ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 96 ระบุว่าพวกเขาพึงพอใจและรู้สึกมีส่วนร่วมในที่ทำงาน

เงินเดือนและผลตอบแทนที่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของตลาดคือแรงขับเคลื่อนหลักสำหรับความสุขและปฏิสัมพันธ์ระหว่างงานและลูกจ้างในประเทศไทย (ร้อยละ 14) ตามมาด้วยความมั่นคงในการทำงาน (ร้อยละ 12) และโอกาสในการทำงาน (ร้อยละ 11)

*** สงครามแย่งคนเก่ง

แม้ว่าพนักงานในประเทศไทยจะความพึงพอใจในงานอยู่ในระดับสูงแต่กลับพบว่าพนักงานมากกว่า 1 ใน 4 (ร้อยละ 29) มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนงานภายในหนึ่งปีนี้

สาเหตุหลักที่ดึงดูดในการเปลี่ยนงานในประเทศไทยประกอบด้วย เงินเดือน/ผลตอบแทน (ร้อยละ 20) โอกาสในการทำงานที่มากกว่า (ร้อยละ 17) และสวัสดิการในการทำงาน (ร้อยละ 14)

ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้พนักงานคิดเปลี่ยนงาน คือ ขาดโอกาสในการทำงาน (ร้อยละ 16) เงินเดือนต่ำกว่าเกณฑ์ (ร้อยละ 14) และความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับเพื่อนร่วมงาน (ร้อยละ 13)

*** ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล

ประเทศไทยคือ 1 ใน 3 ประเทศแรกที่ขาดความมั่นใจในทักษะด้านดิจิทัล (ร้อยละ 45) รองมาจากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี

พนักงานร้อยละ 63 ในประเทศไทยคาดหวังความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากเทคโนโลยีอย่างชัดเจนในที่ทำงาน ในขณะที่ 2 ใน 5 (ร้อยละ 40) รู้สึกว่าผู้จัดการของพวกเขาไม่มีมาตรการเชิงรุกในการช่วยให้พวกเขามีส่วนร่วมกับความเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล เพื่อปกป้องหน้าที่การงานของพวกเขา

ลูกจ้างชาวไทยมีความเป็นผู้ประกอบการมากที่สุด โดยร้อยละ 35 บอกว่าพวกเขาต้องการจะเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองหากอาชีพของพวกเขาได้รับผลกระทบจากกรเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามประกอบด้วยตัวแทนจากกลุ่มธุรกิจเกิดใหม่ (Start-Up) และธุรกิจที่ก่อตั้งมานานแล้วจากธุรกิจหลากหลายขนาดและเป็นบุคคลต่างเพศและวัย ซึ่งรวมถึงพนักงานกลุ่มมิลเลนเนียลร้อยละ 50 เจนเนอเรชั่น เอ็กซ์ร้อยละ 40 และเบบี้ บูมเมอร์ ร้อยละ 10 นอกจากนั้นผู้ตอบแบบสอบถามยังมีทั้งผู้ที่ทำงานในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญร้อยละ 36 พนักงานระดับธุรการร้อยละ 31 พนักงานฝ่ายขายและบริการร้อยละ 10 และผู้บริหารระดับสูงร้อยละ 7.