พาณิชย์แถลง ครึ่งปีแรกผลงานเปรี้ยง เศรษฐกิจฐานรากปรับตัวดีต่อเนื่อง พร้อมดันเศรษฐกิจยุคใหม่ เชื่อมการค้าระหว่างประเทศ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อม นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันแถลงข่าวผลการทำงานช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา จากเป้าหมายของกระทรวงที่มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการ เกษตรกร และผู้บริโภค “กินดี อยู่ดี” รวมทั้ง “เพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มคุณภาพชีวิต” ผ่านการดำเนินนโยบายที่สำคัญ 3 ประการ คือ

1. Local Economy หรือการพัฒนา “เศรษฐกิจท้องถิ่น/ในประเทศ”

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากที่มุ่งให้ชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ กินดี-อยู่ดี และมีรายได้เพิ่มขึ้น ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินมาตรการทางด้านการตลาด ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ 18,700 บาท/ตัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาหน้าโรงงานสูงกว่า 10 บาท/กก.

พร้อมเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาผลไม้ครบวงจรเพื่อมุ่งให้ไทยเป็นมหานครผลไม้ของโลก ทั้งนี้ ได้เริ่มดำเนินการส่งเสริมการตลาดทุเรียนเป็นสินค้านำร่อง ภายใต้โครงการ Thailand Amazing Durian and Fruit Festival 2018 ทั่วประเทศ

ด้านการดูแลค่าครองชีพและปากท้องของพี่น้องประชาชน กระทรวงพาณิชย์มีผลงานที่สำคัญอย่าง โครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายประชารัฐสวัสดิการที่รัฐบาลมุ่งให้ความช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 11.4 ล้านคน จนถึงขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้จัดหาร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ จำนวน 28,705 ร้านค้าทั่วประเทศ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ยอดขายกว่า 30,000 ล้านบาท

2. New Economy หรือการพัฒนา “เศรษฐกิจยุคใหม่”

เพื่อยกระดับและเชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่น/ในประเทศ ให้เท่าทันและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก (Upgrade Connect Local to Global) เศรษฐกิจยุคใหม่ที่สำคัญ อาทิ ธุรกิจดิจิทัลและการค้าออนไลน์ ธุรกิจนวัตกรรม ธุรกิจสร้างสรรค์ ธุรกิจบริการยุคใหม่ ธุรกิจสีเขียว และธุรกิจเพื่อสังคม โดยมีผลงานสำคัญ ดังนี้

2.1.ด้าน e-Commerce

สร้างแพลตฟอร์ม National e-Marketplace ที่เป็นศูนย์กลางการค้าออนไลน์ของประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการไทยผ่าน “ไทยเทรดดอทคอม” (Thaitrade.com) มีผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก 25,000 ราย มีผู้ซื้อจากทั่วโลก 1.7 แสนราย จำนวนสินค้า 2.5 แสนรายการ และมีมูลค่าการซื้อขายแล้วกว่า 5,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงสินค้าเกษตรและอื่นๆ เข้าไปจำหน่ายยังเว็บไซต์ Tmall.com ในเครือ Alibaba ที่มีลูกค้าทั่วโลกกว่า 650 ล้านคน โดยสามารถจำหน่ายทุเรียนได้ 80,000 ลูก ภายใน 1 นาที และมีคำสั่งซื้อล่วงหน้า 130,000 ลูก รวมมูลค่า 70 ล้านบาท มูลค่าจำหน่ายสินค้าเกษตรและอื่นๆ 200 ล้านบาท ซึ่งการเชื่อมโยงกับ Platform ระดับโลกนี้ จะช่วยเปิดตลาดให้กับสินค้าไทย เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ขยาย Demand ส่งผลดีต่อการยกระดับราคาสินค้าไทย

2.2 จัดตั้ง New Economy Academy

เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพรองรับและทันต่อกระแสการค้า นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ ขณะนี้ได้พัฒนาผู้ประกอบการแล้วกว่า 77,000 ราย ผ่านการจัดหลักสูตรฝึกอบรมและสัมมนาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วประเทศ และหลักสูตรออนไลน์ เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงจัดกิจกรรมจับคู่ผู้ประกอบธุรกิจ Startup เพื่อยกระดับและต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และหาตลาดให้ Startup ไปพร้อมกัน

3. Global Economy หรือการพัฒนา “เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนไปต่างประเทศ”

เพื่อเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก (Connect to the World) โดยเฉพาะตลาดที่มีความสำคัญ อาทิ อาเซียน CLMV จีน อเมริกา ยุโรป และตลาดใหม่ โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2561 การส่งออกเริ่มฟื้นตัว ขยายตัวร้อยละ 11.5 (มูลค่ารวม 81,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี มาตรการสำคัญที่ดำเนินการ อาทิ

1. เร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก ทั้งในรูปแบบตลาด Physical และ Digital ทั้งตลาดเฉพาะกลุ่ม และตลาดเมืองรอง เน้นการส่งเสริมสินค้ารายคลัสเตอร์ มีผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายได้รับการส่งเสริมไปขยายตลาด 2,850 ราย เกิดมูลค่าการสั่งซื้อประมาณ 47,000 ล้านบาท ได้แก่ กลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ กลุ่มอุตสาหกรรมหนัก กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ และกลุ่มเกษตรและอาหาร และในธุรกิจบริการ เช่น ธุรกิจภาพยนตร์ สิ่งพิมพ์/บรรจุภัณฑ์ สุขภาพ การบริหารการจัดงาน โลจิสติกส์การค้า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ดิจิทัล และครีเอทีฟ ฯลฯ ทั้งนี้ มูลค่าการเจรจาซื้อขายในงาน THAIFEX – World of Food ASIA 2018 รวม 11,000 ล้านบาท

2. ผลักดันให้สหรัฐฯ ปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ให้ดีขึ้นจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority Watch List: PWL) เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) หลังจากที่ไทยอยู่ในบัญชี PWL มาเป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2550 ส่งผลดีต่อไทยในด้านภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี นอกจากนี้ ผลการจัดอันดับด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยดีขึ้นมาก ในด้านจำนวนสิทธิบัตรที่ถูกยื่นคำขอ และจำนวนสิทธิบัตรที่มีผลบังคับใช้

3. เจรจาและสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ (Strategic partnership) เพื่อขยายความร่วมมือ และแก้ไขหรือลดอุปสรรคทางการค้าผ่านการเจรจาทั้งระดับทวิภาคีและภูมิภาค ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) จำนวน 12 ฉบับ กับ 17 ประเทศคู่ค้า ครอบคลุมมูลค่าการค้า 2.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนร้อยละ 59 ของมูลค่าการค้ารวมของประเทศ

ทั้งนี้ FTA ที่มีมูลค่าการค้าและส่งออกปี 2560 สูงสุด 5 อันดับ นับตั้งแต่ความตกลงการค้าเสรีต่างๆ มีผลบังคับใช้ ได้แก่ 1) AFTA ขยายตัว 707% (59.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) 2) FTA ไทย-อินเดีย ขยายตัว 406% (6.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) 3) FTA อาเซียน-จีน ขยายตัว 262% (29.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) 4) FTA ไทย-นิวซีแลนด์ ขยายตัว 194% (1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) 5) FTA ไทย-ออสเตรเลีย ขยายตัว 132% (10.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)

4. เชื่อมโยงไทยกับภูมิภาค CLMV โดยสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (YEN-D Program) ได้ดำเนินโครงการแล้ว 4 รุ่น สามารถสร้างสมาชิกเครือข่ายได้แล้ว 1,100 คน เกิดมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกันแล้วกว่า 2,800 ล้านบาท

นอกจากนั้น กระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพการจัดงาน CLMVT Forum 2018 : Taking-Off Through Technology ในเดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งเป็นงานประชุมสำหรับผู้กำหนดนโยบายภาครัฐ ผู้นำทางธุรกิจ นักวิชาการ แห่งเดียวในภูมิภาค CLMVT เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนร่วมกันในภูมิภาค CLMVT

5. การเตรียมการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 โดยจะมุ่งผลักดันประเด็นการค้าต่างๆ อาทิ การพัฒนาตลาดออนไลน์ (e-Commerce) การพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งขยายความร่วมมือกับ HK จะจัดตั้ง Headquarter (HKETO) ในไทย ในต้นปีหน้า เป็น Gateway สู่ ASEAN และจีน

ที่สำคัญ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้การปรับภารกิจของกระทรวง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน และการปฏิบัติภารกิจภายใต้นโยบายของรัฐบาล อาทิ

  • เปลี่ยนบทบาทจากผู้กำกับดูแล (Regulator) เป็นผู้ส่งเสริมและอำนวยความสะดวก (Facilitator & Promoter) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาภาคธุรกิจให้มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น
  • ปรับแนวความคิดโดยการนำมาตรการส่งเสริมการใช้ตลาดเป็นตัวนำ (Demand Driven) ให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด
  • ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) มุ่งเน้นการใช้ระบบเทคโนโลยีนวัตกรรม การบริการและความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินธุรกิจ ยกระดับการค้าและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยสู่สากล
  • การพัฒนาการให้บริการต่างๆ ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) เช่น การส่งงบการเงินออนไลน์ (e-Filing) การจดทะเบียนธุรกิจออนไลน์ (e-Registration) ฯลฯ ซึ่งจากการดำเนินการเหล่านี้จะส่งผลให้การจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจด้านการเริ่มต้นธุรกิจของไทย (Starting Business) ที่กระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพหลัก มีอันดับดีขึ้นจากอันดับ 78 เป็น 36 ในปี 2018