คน คือ ทรัพยากรสำคัญอันทรงคุณค่าในการสร้างสรรค์แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค เพื่อให้สอดคล้องกับแผนนโยบายการพัฒนาชาติ
สำหรับประเทศไทย รัฐบาลกำหนดแผนแม่บทเป็นระยะ สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจโลก เพื่อให้ประชาชนสามารถปรับพื้นฐานเข้ากับเศรษฐกิจได้ทันท่วงที เริ่มต้นที่ ไทยแลนด์ 1.0 ยุคแห่งเกษตรกรรม เราสร้างรายได้จากเกษตรกรรมและปศุสัตว์ ก่อนเข้าสู่ช่วงอุตสาหกรรมเบา หรือ Thailand 2.0 ที่เริ่มใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาเสริมศักยภาพการผลิต และยุคอุตสาหกรรมหนัก Thailand 3.0 ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จนถึงยุค Thailand 4.0 เราใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่เศรษฐกิจ จนเกิดการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดและรุนแรงส่งผลต่อเศรษฐกิจทุกระดับซึ่งสอดคล้องกับกระแสโลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง และเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกกระดานหรือ Disruptive World
ทุกอาชีพต้องเจอ Disruptive World แล้วเราจะทำอย่างไร?
หลายคนต้องเคยได้ยินมาแล้วว่า ในโลกยุค Disruptive World จะมีคนจำนวนมากที่ถูกหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ในการทำงาน หลายๆ อาชีพจะหมดไป ตัวอย่างเช่น อาลีบาบา (Alibaba) เริ่มมีการพัฒนาและทดลองระบบสมองกล Artificial Intelligence (AI) ในวงการแพทย์ โดยให้ AI ศึกษากรณีของโรคต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 2 ล้านราย เพื่อดำเนินการให้คำปรึกษาและวินิจฉัยทางการแพทย์ที่มีความแม่นยำสูง หรือตอนนี้มีการพัฒนาโดยให้สมองกล (AI) วิเคราะห์กองทุนที่น่าสนใจและมีโอกาสรับผลตอบแทนในประเทศสหรัฐอเมริกา สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเห็นว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทุกวินาที เราในฐานะมนุษย์ถึงเวลาที่ต้องเพิ่มศักยภาพและใช้นวัตกรรมเพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจและความมั่นคงในอาชีพให้เกิดประสิทธิภาพสูง
เปลี่ยนมุมมองทรัพยากรบุคคล สู่ HR 4.0
นางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ เอสอีเอซี (SEAC) ศูนย์พัฒนาผู้นำและผู้บริหารระดับสูงกล่าวว่า “HR หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลนับเป็นแม่ทัพเงาขององค์กรก็ว่าได้ เพราะต้องเก่งทั้งบุ๋นและบู๊เสมือนเป็นหน้าด่านสำคัญในการสรรหาบุคคลากรเข้าสู่องค์กร แถมต้องทำหน้าที่อีกมากมาย ทั้งการดูแลสวัสดิการ ผลประโยชน์ ความก้าวหน้าของพนักงานทุกระดับ และหน้าที่อันสำคัญ คือ การพัฒนาบุคลากร ส่งเสริมศักยภาพบุคลากรให้แข็งแกร่งพร้อมขับเคลื่อนองค์กรในปัจจุบันและอนาคต ประกอบกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น และคนกลุ่มใหญ่ที่เป็นกำลังหลักของคนวัยทำงานก็กำลังเปลี่ยนแปลงสู่กลุ่ม Millennials ดังนั้น HR จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุค 4.0 ให้ทันท่วงที ต้องเสริมศักยภาพใหม่ เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และสร้างกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อดึงดูดใจคนกลุ่มใหม่ๆ เข้าสู่องค์กร”
เสริมอาวุธกับ 4 กลยุทธ์ เพื่อพัฒนาสู่ HR 4.0
องค์กรชั้นนำทั่วโลกต่างตื่นตัวกับเทรนด์นี้ไม่ว่าจะเป็น LinkedIn, Aon Hewitt, Deloitte และ Society for Human Resource Management (SHRM) หรือแม้แต่นิตยสารด้านทรัพยากรบุคคล Inside HR ได้ทำการศึกษาและหยิบยกการปรับตัวขององค์กรโดยเฉพาะฝ่ายทรัพยากรบุคคลในหลากหลายองค์กรในยุค Disruptive World โดยต่างให้ความคิดเห็นที่คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับองค์ความรู้ในการยกระดับและพัฒนาบุคลากรด้านทรัพยากรบุคคล (HR) ซึ่งทาง SEAC วิเคราะห์และสรุปออกมาได้เป็น 4 ทักษะที่จะช่วยให้ HR สามารถก้าวกระโดด และติดสปีดในการทำงานในยุคนี้ ได้แก่
1. Business Acumen 2. HR Technology and Data Analytics 3. Marketing Expertise และ 4. HR Agility
-
Business Acumen : HR ยุคใหม่ต้องมีปฏิภาณทางธุรกิจ ต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ด้านการดำเนินธุรกิจขององค์กร และต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งความเป็นเลิศของ HR ยุคใหม่ ต้องอ่านเกมส์ทั้งในเรื่องบุคลากรและวัตถุประสงค์ขององค์กรได้อย่างชัดเจน เพราะในทุกวันนี้เศรษฐกิจมีความเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว กลุ่มลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมและความสนใจตลอดเวลา องค์กรต้องทำงานด้วยอาศัยความเร็ว ซึ่งนับเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้บุคลากรในองค์กรต้องเสริมทักษะ สร้างความหลากหลาย สามารถปรับเปลี่ยนและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ นอกจากนี้ HR ก็ต้องปรับเปลี่ยนการคัดสรรคอร์สการเรียนรู้เพื่อเสริมบุคลากรให้แข็งแกร่งให้เหมาะสมกับเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปนี้
-
HR Technology and Data Analytics : HR ยุคใหม่ ต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีให้ทันยุคเพื่อแสวงหาความต้องการของบุคลากร ต้องอ่านข้อมูลและแปลความหมายได้อย่างถูกต้องและครบสมบูรณ์ คือ ปัจจุบันการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อค้นหาและเข้าถึงข้อมูลเฉพาะบนโลกออนไลน์นับมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง HR ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นคลังค้นหาข้อมูลที่อัดแน่นด้วยข้อมูลหลากหลายมิติ ต้องทำงานจากข้อมูลจริงของทั้งพนักงานและสถานการณ์แวดล้อม เพื่อเข้าถึงความต้องการของบุคลากรในองค์กร หรือจัดข้อมูลเพื่อให้ทีมผู้บริหารแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งใช้เครื่องมือใหม่ๆ เพื่อให้บุคลากรสนุกกับการตอบคำถาม หรือง่ายต่อการเก็บข้อมูล นั่นแปลว่าองค์กรไม่สามารถจะลงทุนแค่กับเรื่องเทคโนโลยี แต้ต้องพัฒนาทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูลให้กับ HR ด้วย
-
Marketing Expertise HR ยุคใหม่ ต้องขายของให้เป็น กล่าวคือ HR ต้องเข้าใจสถานการณ์และความต้องการขององค์กร เพื่อที่จะคัดสรรและปรับเปลี่ยนรูปแบบการคัดสรรบุคลากรที่จะเข้าร่วมงานกับองค์กรได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ HR ต้องดูแลพนักงาน สื่อสารกับพนักงานเปรียบเสมือนลูกค้า คือ เข้าใจ เป็นมิตร ใกล้ชิด เพื่อจะได้ศึกษา รับรู้พฤติกรรม ความต้องการ และสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานในการขับเคลื่อนองค์กรตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้ายของการทำงานในรูปแบบเดียวกับที่ฝ่ายการตลาดใช้เครื่องมือมาร์เก็ตติ้งในการดึงดูดลูกค้า
-
HR Agility HR ยุคใหม่ ต้องพร้อมปรับตัว และสร้างความคล่องตัวให้ได้มากที่สุด ปัจจุบัน สภาวะเศรษฐกิจที่เคลื่อนไหวรุนแรงและรวดเร็ว นับเป็นความท้าทายครั้งสำคัญสำหรับทุกองค์กร HR ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการเพิ่มทักษะใหม่ๆ ในการทำงานหรือสามารถทำงานมากกว่าที่ตนเองรับผิดชอบได้ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับบุคลากรคนอื่นๆ เกิดการเรียนรู้และเสริมทักษะใหม่ๆ ให้ได้มากที่สุด เพราะทุกวันนี้ต้องมองว่าคู่แข่งไม่ได้มาจากเพียงแค่ธุรกิจแบบเดียวกัน แต่ยังมีคู่แข่งจากกลุ่มธุรกิจอื่นๆ มาเป็นตัวแปรสำคัญ อาทิ กลุ่มอาหารและบริการ ทุกวันนี้ไม่ใช่เพียงเปิดร้านอาหารหรือภัตตาคารอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นคู่แข่งกันละกัน ยังมีคู่แข่งใหม่ๆ ที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาด อาทิ สตรีทฟู้ด (Street Food) หรือแม้แต่กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ที่หันมาทำธุรกิจฟู้ด เดลิเวอรี่ (Food Delivery) เป็นต้น
ทุกวันนี้ ทุกองค์กรต้องเผชิญกับ Disruptive World อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการปรับตัว วิธีคิด วิธีการทำงาน และการบริหารขององค์กรย่อมมีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการติดต่อทั้งภายนอกและภายในองค์กรย่อมต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว รวมทั้งติดองค์ความรู้ เสริมทักษะให้ครบเพื่อเป็นขุมพลังสำคัญให้กับองค์กรต่อไป