BEAUTY มองเทรนด์ธุรกิจเครื่องสำอางครึ่งปีหลังยังแจ๋ว ลุยขยายช่องทางจำหน่ายทุกรูปแบบ

BEAUTY มองเทรนด์ธุรกิจเครื่องสำอางครึ่งปีหลังยังแจ๋ว ลุยขยายช่องทางจำหน่ายทุกรูปแบบ เพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายผ่านช้อปแบรนด์ โมเดิร์นเทรดและออนไลน์ จับมือพันธมิตรจีน ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ TMALL, KAOLA, VIP, YUNJI และ JD ขยายช่องทางจัดจำหน่ายผ่าน Cross border E-commerce มุ่งเน้นกลยุทธ์ O2O มั่นใจผลประกอบการทั้งปีโตตามเป้า ไม่ต่ำกว่า 4,290 ล้านบาท

นายแพทย์สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) (BEAUTY) ผู้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายปลีกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและบำรุงผิว เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกเครื่องสำอางในช่วงครึ่งปีหลังยังสามารถเติบโตในเกณฑ์ดี เนื่องจากกำลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภคยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้น และเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนซีซั่นของแฟชั่นที่จะเกิดความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เทรนด์ใหม่ ซึ่งถือเป็นการเริ่มเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจและสินค้าของ BEAUTY

ทั้งนี้แผนการดำเนินงานครึ่งปีหลังของตลาดในประเทศ จะขยายสาขาของทุก Shop Brand โดยเน้นการขยายสาขาออกไปตามต่างจังหวัด หัวเมืองท่องเที่ยว และในกรุงเทพ รวมทั้งการพัฒนาสินค้าและขยายช่องทางจำหน่ายเข้าสู่ตลาดคอนซูเมอร์ที่เป็น Mass Market เพิ่มขึ้น อีกทั้งบริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับ 7-11 ปรับขนาดสินค้า เพื่อจะนำไปวางจำหน่ายใน 7-11 กว่า 10,000 สาขาทั่วประเทศ รองรับกำลังซื้อจากกลุ่มลูกค้าในประเทศ นักท่องเที่ยวทั้งจีนและประเทศอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้ พร้อมทั้งจัดระบบ CRM สร้างยอดขายจากฐานลูกค้าขนาดใหญ่ที่มีอยู่และเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมภาพลักษณ์การเปิดตัวสินค้าใหม่ให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น

ปัจจุบันบริษัทมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 348 สาขา แบ่งเป็น BEAUTY BUFFET 265 สาขา BEAUTY COTTAGE 75 สาขา BEAUTY MARKET 8 สาขา อีกทั้งยังมีจุดขาย ณ คิง พาวเวอร์ 8 สาขา 22 จุดจำหน่าย วางจำหน่ายสินค้าผ่านร้าน 7-ELEVEN จำนวน 650 สาขา และ Boots 145 สาขา

ขณะที่ตลาดต่างประเทศ บริษัทจะยังมุ่งเน้นช่องทางขายรูปแบบใหม่ Cross-border E-commerce หรือ การซื้อขายออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ได้รุกขยายไปในจีนแล้ว ปัจจุบัน BEAUTY มีช่องทางจำหน่ายในอีคอมเมิร์ซทั้ง 5 เว็บไซต์สำคัญของจีน ได้แก่ TMALL, KAOLA, VIP, YUNJI และ JD ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซใหญ่อันดับต้นของจีน โดยบริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายสำหรับ 5 แพลตฟอร์มนี้ไว้ไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท/ปี เริ่มทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้

นอกจากนี้ยังมีการขยายตลาดเชิงรุกในต่างประเทศมากขึ้น โดยเน้นการสร้าง Shop License” และ “Product Distributor” ในกลุ่มประเทศ AEC ซึ่งรูปแบบการขายสินค้าจะเป็นช่องทางการจำหน่ายที่เข้าถึงง่ายทั้ง Offline Retailer และ Online Retailer ที่ได้รับความนิยมในแต่ละประเทศ อีกทั้งได้มีตัวแทนจำหน่ายใน 9 ประเทศเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว คือ ในรูปแบบ Independent Shop จำนวน 17 สาขา ที่ประเทศฟิลิปปินส์ และเวียดนาม รูปแบบ Counter sale จำนวน 10 จุดจำหน่ายที่ประเทศ ลาวและเมียนม่า และรูปแบบ Shop in Shop จำนวน 131 จุดจำหน่าย คือ ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และในไตรมาส 3 มีแผนจะเซ็นสัญญาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายใน 3 ประเทศ คือตะวันออกกลาง สิงคโปร์ และกัมพูชา โดยจะมีการจัดประชุม Annual Meeting ตัวแทนจำหน่ายพร้อมกันทั้ง 11 ประเทศเพื่อวางแผนขยายตลาดสู่ความเป็นรีจินอลแบรนด์ (Regional Brand)

“แนวโน้มธุรกิจไตรมาส 2 คาดว่าจะลดลงต่ำกว่าเป้าหมายที่เราคาดไว้ แต่ยังคงรักษาอัตรากำไรสุทธิไม่น้อยกว่า 20 % และทั้งนี้ยังคงเป้าหมายการเติบโตของทั้งปีไว้เช่นเดิมที่รายได้ไม่ต่ำกว่า 4,290 ล้านบาท และรักษาอัตรากำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 20 % โดยเน้นการใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ O2O (Online to Offline synchronization) ใช้สื่อออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มรวมทั้ง Influencer ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิด Engagement กับลูกค้าในวงกว้าง กระตุ้นการสร้างยอดขายให้แก่ช่องทางออฟไลน์ และ ออนไลน์มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่รองรับเทรนด์ความต้องการ ซึ่งการที่บริษัทพัฒนาความสามารถของพนักงานหน้าร้าน ให้สามารถแนะนำผลิตภัณฑ์ได้ทั้งช่องทาง Online และ Offline นั้น ทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น กระแสความนิยมของผลิตภัณฑ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง”นายแพทย์สุวิน กล่าว