หลังจากสิ้นสุดสัญญากับโทคาเรโด ไทม์ ผู้จัดจำหน่ายเดิม บริษัท ไซโก (ประเทศไทย) จำกัด ก็เดินหน้าจัดจำหน่ายและทำตลาดนาฬิกาเอง และหวังคืนชีพแบรนด์ “แกรนด์ ไซโก” (Grand Seiko หรือ GS) ในตลาดไทย มั่นใจขยายฐานจากลูกค้านักสะสมไปสู่กลุ่มลูกค้าทั่วไปที่ชื่นชอบคุณค่าในนาฬิกาหรูสายพันธุ์ซามูไร ด้วยกลยุทธ์ในการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์แกรนด์ ไซโก ที่เป็นหนึ่งเดียวทั่วโลก ผ่านทั้งสินค้าหลากดีไซน์ หลายคอลเลคชั่น, ช่องทางจัดหน่าย,บริการ รวมถึงกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดที่มีประสิทธิภาพและเป็นแบบแผนเดียวกัน เพื่อต่อกรและแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่ง Swiss Madeอย่างโรเล็กซ์ ย้ำ! ยึดมั่นในตลาดเทรดดิชั่นแนล ไม่สนใจตลาดสมาร์ทวอทช์ แม้เติบโตดี
สมาร์ทวอทช์โตได้โตไป เทรดดิชั่นแนลยังไงก็รุ่ง
คัตซึมิ คูโบตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซโก (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า “ตลาดนาฬิกาข้อมือในเมืองไทยไมไ่ด้หดตัว แต่มีการเปลี่ยนแปลง แม้สมาร์ทวอทช์จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีแนวโนมที่จะเข้ามาแทนที่นาฬิกาข้อมือแบบเทรดดิชั่นแนลมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดที่มีราคาเรือนละต่ำกว่า 30,000 บาท ขณะเดียวกันราคาของสมาร์ท วอร์ชก็มีแนวโน้มที่จะต่ำลงเรื่อย ๆ ด้วย อย่างไรก็ตามตลาดนาฬิกาข้อมือหรูในไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากสมาร์ทวอทช์ ไม่เหมือนกับตลาดในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ที่นาฬิกาข้อมือราคาต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯ ถูกสมาร์ท วอทช์ และอุปกรณ์ส่วมใส่อัจฉริยะอย่างฟิตเนส เกียร์ แย่งตลาดไปไม่น้อย”
“ตลาดเมืองไทย นาฬิกาข้อมือแบบเทรดดิชั่นแนลก็ยังคงเติบโตดี และมีกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ที่มีอายุน้อยลงเพิ่มมากขึ้น เช่น วัย 20+ ซึ่งมองเห็นคุณค่าอื่น ๆ ของนาฬิกานอกเหนือจากเป็นเครื่องบอกเวลาปกติ เช่น เป็นเครื่องบ่งบอกสถานะ เป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ สะท้อนถึงตัวตน ความเป็นมืออาชีพ และการประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงาน เป็นต้น ทำให้ไซโกยืนหยัดที่จะปักหลักในตลาดนาฬิกาข้อมือหรูแทน โดยชูแกรนด์ ไซโค เป็นเรือธง โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของแกรนด์ ไซโก ในไทย คือ คนกรุงเทพฯ ที่มีกำลังซื้อ หลงใหลในตำนาน คุณภาพ และชื่นชมใของแกรนด์ ไซโก ที่มองหานาฬิกาที่จะมอบคุณค่าด้านอื่น ๆ ให้กับชีวิต รวมถึงนักท่องเที่ยวด้วย”
ทั้งนี้ข้อมูลจาก International Data Corporation (IDC) ระบุว่า จะมีการจัดจำหน่ายอุปกรณ์สวมใส่ข้อมือ 124.9 ล้านเรือนภายในปี 2018 เพิ่มขึ้น 8.2% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งน้อยกว่าปี 2017 ที่เติบโต 10.3% จากปี 2016 แต่ก็คาดการณ์ว่าจะกลับมาเติบโตด้วยตัวเลขสองหลักในปี 2019-2022 จากความนิยมของสมาร์ทวอทช์ที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2018 นี้จะมียอดจำหน่ายสมาร์ทวอทช์ทั่วโลก 44 ล้านเรือน และสมาร์ทวอทช์จะมีส่วนแบ่งการตลาด 44.6% จากตลาดอุปกรณ์สวมใส่ข้อมือทั้งหมด ภายในปี 2022
ชู Luxury Craftmanship จุดเด่นอันเป็นตำนาน
จุดเด่นสำคัญของแกรนด์ ไซโก ได้แก่ นวัตกรรมแห่งเทคโนโลยีที่ผสมผสานกับผลงานอันปราณีต พร้อมทั้งดีไซน์เรียบหรู คลาสสิก อันเป็นเอกลักษณ์ และกระบวนการผลิตจากช่างฝีมือชั้นสูงชาวญี่ปุ่น ขึ้นชื่อในเรื่องการบอกเวลาที่เที่ยงตรง แม่นยำ จนทำให้แบรนด์ แกรนด์ ไซโก เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และเป็นหนึ่งในแบรนด์นาฬิกาข้อมือหรูชั้นนำ ด้วยความพิถีพิถันในรูปลักษณ์อันงดงามทุกรายละเอียด ประกอบกับฟังก์ชั่นการใช้งานที่เปี่ยมไปด้วยความสมบูรณ์แบบแห่งเรือนเวลาระดับโลก ซึ่ง Made In Japan ที่ชิ้นส่วนทุกชิ้นถูกผลิตขึ้นในMorioka Seiko Instruments โรงงานของไซโก ณ เมืองชิซุกุอิชิ จังหวัดอิวาเตะ ได้สะท้อนถึงคุณภาพและ Craftmanshipของแกรนด์ ไซโก ได้เป็นอย่างดี รวมถึงความแข็งแกร่งของแบรนด์แกรนด์ ไซโก ซึ่งถือเป็นแบรนด์นาฬิการะดับไฮ–เอนด์ที่มีชื่อเสียง และมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 1960 นับเป็นคุณค่าในแง่ของตำนานที่หาไม่ได้ง่าย ๆ โดยทั้งโลโก้ รูปแบบตัวอักษรที่ใช้ สี และสัญลักษณ์ของแกรนด์ ไซโก ก็ยังคงเป็นแบบเดิมเช่นเดียวกับที่รังสรรค์ขึ้นมาครั้งแรก ขณะที่ไซโก ก็ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1881 และปีนี้ก็เป็นปีที่ 137 ของไซโกแล้ว
อัดนวัตกรรม พร้อมปูพรมสินค้าหลากดีไซน์ หลายคอลเลคชั่น
นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ที่แกรนด์ ไซโก บุกตลาดทั่วโลก จากเดิมเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าใครก็ตามหากต้องการจะครอบครองแกรนด์ ไซโก จะต้องเดินทางไปซื้อหาที่ญี่ปุ่นเท่านั้น ทำให้ปัจจุบันแกรนด์ ไซโก มีความพร้อมในเรื่องของกำลังการผลิตและซัพพลายที่พร้อมจะตอบสนองดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันแกรนด์ ไซโก มีกำลังการผลิตน้อยกว่า 100,000 เรือนต่อปี ส่วนโรเล็กซ์ มีกำลังการผลิต 800,000 เรือนต่อปี (ข้อมูลจาก Rene Weber นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมนาฬิกาข้อมือหรูที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปี และกรรมการผู้จัดการธนาคาร Vontobel,สวิสเซอร์แลนด์)
นอกจากนี้แกรนด์ ไซโกจะเน้นถ่ายทอดความหรูหราและสื่อถึงความพรีเมี่ยม (Premiumnization) ผ่านนวัตกรรม ความหลากหลายของดีไซน์และคอลเลคชั่นต่าง ๆ ในสนนราคาเรือนแสนบาทขึ้นไป เช่น Sport Collectionมีสนนราคาตั้งแต่เรือนละ 1 แสนบาท เรื่อยไปจนถึง 4.5 แสนบาท ขึ้นอยู่กับความสลับซับซ้อนของกลไกและเทคโนโลยี รวมถึงวัสดุที่ใช้ผลิต ส่วนรุ่นเด่นที่เป็น Limited Edition เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปี การวางจำหน่ายนาฬิกากลไก Caliber 9S ของแกรนด์ ไซโก ซึ่งเปิดตัวในงานบาเซิล เวิลด์ 2018 ที่ผ่านมา นั่นคือ Hi-Beat 36000 V.F.A SBGH265J (Grand Seiko Heritage Collection) ในไทยมีจำหน่าย 1 เรือน จาก 20 เรือนทั่วโลก ราคาเรือนละ 2.04 ล้านบาท
ช่องทางจำหน่ายโดดเด่น ตอกย้ำภาพลักษณ์นาฬิกาข้อมือหรู
จุดจำหน่ายถือเป็น Touch Point สำคัญ เป็นด่านหน้าที่จะทำให้ผู้บริโภคได้มองเห็น สัมผัส และรู้สึกหรือมีประสบการณ์ร่วมกับแบรนด์ ดังนั้นจึงมีการปรับโฉม “ไซโก บูทีค” ดิ เอ็มโพเรียม ชั้น M โดยเคาน์เตอร์ของแกรนด์ ไซโก ยังคงตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับไซโก แต่มีการแยกโซนกันอย่างชัดเจน เพื่อสร้าง Brand Awarness และสื่อถึงความแตกต่างระหว่างPositioning ของทั้งสองแบรนด์ พร้อมเปิดเคาน์เตอร์จัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 3 สาขา ภายในเดือนกรกฏาคมนี้ ณ ห้างหรูกลางเมือง ได้แก่ สยามพารากอน ,เซ็นทรัลชิดลม และเซ็นทรัลลาดพร้าว
ไซโก บูทีค ที่ ดิ เอ็มโพเรียม ตกแต่งด้วยมาตรฐานและให้บรรยากาศที่สะท้อนถึงความภูมิฐานและความพรีเมี่ยมของแบรนด์แกรนด์ ไซโก เช่นเดียวกับ แกรนด์ ไซโก บูทีค แห่งแรกของโลก ที่เบเวอร์รี่ ฮิลล์,แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2017ตามมาด้วยแฟลกชิป สโตร์ ของไซโก ที่ไนท์สบริดจ์, ลอนดอน สหราชอาณาจักร และไซโก บูทีค กินซ่า ซิกส์ ,โตเกียว ญี่ปุ่น (สองแห่งหลังรวมจุดจำหน่ายของทั้งสองแบรนด์ แต่แยกโซน)
โดยปัจจุบัน แกรนด์ ไซโก มีจุดจำหน่าย371 แห่ง ทั่วโลก แบ่งเป็น เฉพาะในญี่ปุ่น 143 แห่ง เอเชีย 83 แห่ง อเมริกาเหนือ 61 แห่ง ยุโรป 61 แห่ง โอเชียเนีย 12 แห่ง ตะวันออกกลาง 10 แห่ง และละตินอเมริกา (เอกวาดอร์) 1 แห่ง
สื่อสารเป็นหนึ่งเดียวทั่วโลก
ขณะเดียวกันการรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงใช้กลยุทธ์สื่อสารการตลาด และการจัดอีเวนท์เล็กๆ เฉพาะกลุ่ม จะเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้เพื่อขับเคลื่อนยอดขายของแกรนด์ ไซโก ให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ผู้บริหาร ไซโก (ประเทศไทย) ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยรายละเอียดแต่อย่างใด
แม้ไซโก จะมีการใช้อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม เป็น Brand Ambassador ในไทยจนประสบความสำเร็จ และในระดับโลกมี โนวัค ดยอโควิค อดีตนักเทนนิสมือ 1 โลก ชาวเซอร์เบีย เป็น Brand Ambassador แต่สำหรับแกรนด์ ไซโก ไม่ได้ใช้ Brand Ambassador และไม่มีนโยบายในการใช้กลยุทธ์ Localized Communication เพราะต้องการให้ Brand Image ตลอดจนกระบวนการสื่อสารต่าง ๆ เป็นหนึ่งเดียวกันทั่วโลก
บริการหลังการขาย คือหัวใจสำคัญ
นอกจากนี้ขึ้นชื่อว่านาฬิกาข้อมือหรู บริการหลังการขายเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมาก ปัจจุบันไซโก (ประเทศไทย) มีลูกค้าปีละ 30,000 ราย มีช่างทั้งหมด 17 คน โดยช่าง 3 คนในจำนวนนั้นถูกส่งไปฝึกอบรมที่ญี่ปุ่นจนกระทั่งได้รับประกาศนียบัตรการันตีว่ามีความชำนาญและความเชี่ยวชาญในการซ่อมแกรนด์ ไซโก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า
สำหรับความเคลื่อนไหวปีที่ผ่านมาของไซโก (ประเทศไทย) ได้จัดจำหน่ายนาฬิากา Litmited Edition “SEIKO Number 9” จำนวน 2,999 เรือน และนำรายได้ราว 9 ล้านบาท บริจาคให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา
Made In Japan กลยุทธ์ที่สวนทางกับ Swiss Made
หลังจากเพียง 3 ปี ที่แอปเปิ้ล ส่งสมาร์ทวอทช์ลงตีตลาดเมื่อปี 2015 ก็ทำให้ตลาดนาฬิกาโลกเปลี่ยนแปลงไป โดยแอปเปิ้ล กลายเป็นเบอร์หนึ่งมหาอำนาจผู้จำหน่ายนาฬิกาโลก ท้าทายคู่แข่งเจ้าตลาดเดิมแต่ต่างเซ็กเมนท์อย่างโรเล็กซ์ การ Disrupt ด้วยสมาร์ทวอทช์ที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคดิจิทัล รวมถึงราคาที่ต่ำกว่านาฬิกาหรูแบบเทรดดิชั่นแนลนี้ ทำให้นาฬิกาสัญชาติสวิสฯ หลายแบรนด์ตัดสินใจลงเล่นในตลาดนี้ด้วย โดยออกรุ่นที่มีราคาเอื้อมถึงง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังคงเน้นในตลาดหลักอย่างนาฬิกาข้อมือหรูเช่นเคย เพราะตลาดส่งออกก็ยังเติบโตอยู่ แต่จะเน้นการออกแบบที่มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น และบางรุ่นที่มีราคาสูงก็เพิ่มเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ชีวิตแบบสมาร์ท ไลฟ์
ในขณะที่นาฬิกาสัญชาติญี่ปุ่นอย่างไซโก และซิติเซ่น เลือกที่จะปลุกปั้นในไลน์นาฬิกาข้อมือหรูแบบเทรดดิชั่นแนล หรือเน้นความพรีเมี่ยมมากขึ้น โดยเมื่อปี 2016 ซิติเซ่นซื้อกิจการ เฟรดเดอริค คอนสแตนท์ กรุ๊ป ของสวิสเซอร์แลนด์ ขยายพอร์ทจับกลุ่มผู้บริโภคกำลังซื้อสูง
จากผลสำรวจ The Deloitte Swiss Watch Industry Study 2017 ระบุว่า ผู้บริหารบริษัทนาฬิกาสวิสฯ มองว่าสมาร์ทวอทช์ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ โดย 72% คาดว่าไม่มีผลกระทบต่อยอดขาย และ 14% มองว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะต่อยอดต่อไปได้ ขณะที่ข้อมูลอื่น ๆ ที่น่าสนใจคือ แม้ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะซื้อนาฬิกาในช็อปหรือจุดจำหน่ายตามศูนย์การค้า แต่กว่า 60% จะใช้ช่องทางออนไลน์ในการศึกษาข้อมูล เปรียบเทียบราคา ทำให้่ช่องทางนี้เป็นหน้าด่านที่สำคัญและต้องพัฒนาให้ดี และทันท่วงทีกับการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ