สมาคมผู้นำเข้าอาหารทะเลออสเตรเลีย (Seafood Importers Association of Australia Inc) แนะผู้ส่งออกกุ้งไทยให้นำกลยุทธ์การตลาดแบบ B2C (Business to Consumer) มาใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารกับผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลการผลิตและแหล่งที่มาของวัตถุดิบ เพื่อสร้างความมั่นใจในการรับประทานและขยายช่องทางการตลาด
นายนอร์แมน แกร้นท์ ประธานกรรมการบริหาร สมาคมผู้นำเข้าอาหารทะเล ออสเตรเลีย กล่าวว่า รัฐบาลออสเตรเลียมีการตรวจสอบคุณภาพของกุ้งนำเข้าอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันโรคต่างๆ เข้าสู่ประเทศโดยเฉพาะโรคจุดขาว (White Spot Syndrome Virus) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐยังได้ร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อศึกษาวิจัยและตรวจสอบฟาร์มกุ้งในประเทศ มุ่งกำจัดโรคดังกล่าว
ออสเตรเลียประสบปัญหาโรคจุดขาวระบาดในฟาร์มกุ้งในรัฐควีนส์แลนด์ ทำให้ผลผลิตเสียหายจำนวนมาก กรมการเกษตรและประมง จึงต้องการออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อตรวจสอบและควบคุมการแพร่กระจายของโรคไปยังบริเวณใกล้เคียงทางตอนใต้ของรัฐ โดยกำหนดเป็นแผนดำเนินการกำจัดโรคจุดขาวให้หมดไปภายใน 2 ปี
“ออสเตรเลีย ให้ความสำคัญอย่างมากกับปัญหาโรคกุ้ง โดยเฉพาะโรคจุดขาวที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งจะเป็นต้องป้องกันไม่ให้ผลผลิตในประเทศติดเชื้อโรคดังกล่าว” นายแกร้นท์ กล่าว
นายแกร้นท์ กล่าวต่อไปว่า จำนวนประชากรของออสเตรเลียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งปัจจุบันมี 23-24 ล้านคน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการเข้ามาของคนเอเซีย ทำให้ปริมาณการบริโภคกุ้งสูงขึ้น ปัจจุบันการบริโภคกุ้งในประเทศเฉลี่ยปีละ 100,000 ตัน ในจำนวนนี้ 50% เป็นการนำเข้า ส่วนที่เหลือเป็นการผลิตในประเทศส่วนใหญ่เป็นกุ้งที่จับจากทะเล 80-90% และกุ้งที่เลี้ยงจากฟาร์มอีกจำนวนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคในออสเตรเลียยังมีข้อมูลเกี่ยวกับกุ้งไทยน้อยมาก โดยเฉพาะระบบการทำฟาร์มเลี้ยงกุ้ง เนื่องจากผู้ส่งออกกุ้งไทยทำการค้าโดยตรงกับผู้นำเข้าอาหารทะเล ที่มีการเข้ามาตรวจฟาร์มในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของสินค้าให้ผู้บริโภคได้รับรู้ ออสเตรเลียมีผู้นำเข้าอาหารทะเลประมาณ 200 ราย ซึ่งแต่ละรายมีวิธีทำการตลาดที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นที่ผู้ส่งออกไทยต้องหากลยุทธ์ในการเข้าถึงผู้บริโภคในออสเตรเลียโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ช่องทางการตลาดแบบ B2C รวมถึงการเพิ่มรายละเอียดของฟาร์มและแหล่งที่มาของวัตถุดิบบนบรรจุภัณฑ์มากขึ้น
“ถ้าไม่มีการให้รายละเอียดของสินค้ากับผู้บริโภคอย่างถูกต้อง ผู้บริโภคก็จะหันไปหาเนื้อสัตว์ประเภทอื่น เช่น เนื้อแกะ หรือ ไก่ เพราะราคาถูกกว่า คนออสเตรเลียรู้จักอาหารทะเลดีว่ามันดีต่อชีวิต และมันทำให้พวกเขามีความสุข” นายแกร้นท์ กล่าว
นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ฟาร์มเลี้ยงกุ้งของบริษัทฯเป็นฟาร์มระบบปิดแบบครบวงจร ที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิตร่วมกับการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันยังมีการตรวจสอบคุณภาพกุ้งอย่างเขิมงวดตามมาตรฐานสากลตลอดเวลา เพื่อป้องกันเชื้อและโรคติดต่อต่างๆ
“บริษัทฯใช้ชุดตรวจสอบคุณภาพกุ้งซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับที่ใช้ในประเทศออสเตรเลีย ควบคู่ไปกับการตวจสอบคุณภาพกุ้งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าผลผลิตของบริษัทไม่มีโรคใดๆ ที่สำคัญไม่มีการตรวจพบโรคจุดขาวในฟาร์มของบริษัทฯ” นายเปรมศักดิ์ กล่าว
ประเทศไทยส่งออกกุ้งไปออสเตรเลียเฉลี่ยปีละ 5,000-6,000 ตัน ซึ่งเป็นกุ้งต้มทั้งตัวและกุ้งปรุงสำเร็จเป็นหลัก
ซีพีเอฟ ยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบการเลี้ยงแบบ 3 สะอาด ประกอบด้วย บ่อสะอาด พันธุ์กุ้งสะอาดและน้ำสะอาด ทำให้แก้ปัญหาอาการกุ้งตายด่วน หรือ อีเอ็มเอส (Early Mortality Syndrome) ได้เป็นอย่างดี ซึ่งบริษัทฯได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตกรทั่วประเทศ เพื่อลดการแพ่รระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้.