อภิชาติ สวรรค์คำธรณ์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์สื่อสารข้อมูล บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) เผยถึงการปรับตัวของผู้ให้บริการในธุรกิจสื่อสารข้อมูลในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา
“ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการด้านเครือข่ายซึ่งต้องมีการลงทุนในInfrastructure ระดับ Backbone ของประเทศ เรามีการเรียนรู้ในเทคโนโลยียุคใหม่อย่างต่อเนื่องทั้งเทคโนโลยีสำหรับการให้บริการ ซึ่งจะต้องมีการวิเคราะห์ให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้า รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีสื่อสารข้อมูลของลูกค้ากลุ่มธุรกิจซึ่งก็มีการปรับเปลี่ยนอย่างก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน
ในช่วงปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีสื่อสารข้อมูลสำหรับธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนจากเดิมที่มีการใช้บริการวงจรสื่อสารข้อมูลแบบ Private Network จะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปใช้งาน Public Network ในลักษณะของ Virtual Private Network (VPN) ซึ่งมีความสะดวก และราคาถูกลง ขณะที่ลูกค้าบางส่วนยังคงมีความตระหนักถึงความปลอดภัย ซึ่งแม้จะมีการลงทุนในระบบรักษาความปลอดภัยบนเครือข่ายเพิ่มเติมก็อาจจะยังคงมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าการใช้ Private Network ซึ่งก็ถือเป็นยุคเปลี่ยนผ่านที่ลูกค้ามีการตัดสินใจ และเลือกใช้งานระบบเครือข่ายขององค์กรอย่างหลากหลาย ทำให้ปัจจุบัน ผู้ให้บริการได้เริ่มนำเทคโนโลยีที่จะมีความยืดหยุ่นในการให้บริการสำหรับเครือข่ายต่างๆ ให้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีของ Software-Defined Network ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าในการให้บริการ โดยลูกค้ามีความสะดวกในการเลือกใช้งานในเครือข่ายต่างๆ ทั้งPrivate หรือ Public Network รวมถึงสามารถเปลี่ยนแปลงระดับความเร็วได้ตามความต้องการของแต่ละช่วงเวลาในธุรกิจ ซึ่งผู้ให้บริการสามารถเข้าไปบริหารเครือข่ายการใช้งานของลูกค้าผ่าน Software ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทำให้ธุรกิจสามารถควบคุมและวางนโยบายการใช้งานเครือข่ายได้อย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ โดยสามารถกำหนดและให้ลำดับความสำคัญกับเครือข่ายในส่วนต่างๆ ของหน่วยงานได้อย่างเหมาะสม ลดความเสี่ยงจากความไม่ปลอดภัยของเครือข่าย และยังลดต้นทุนในภาพรวมลงได้”
“สำหรับโอกาสในธุรกิจสื่อสารข้อมูล เรามองว่าจะมาจากการปรับตัวของภาคธุรกิจ ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจาก Mega Trend ที่มีอิทธิพลที่ต่อภาคธุรกิจทั่วโลก เห็นได้อย่างชัดเจนจากธุรกิจ Best Practice ต้นแบบส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการพัฒนาเทคโนโลยีไอทีและเครือข่ายในกระบวนการทางธุรกิจ อาทิNetflix ธุรกิจ content ที่เพิ่มช่องทางสื่อไปสตรีมมิ่งออนไลน์ และขยายตลาดไปทั่วโลกจนประสบความสำเร็จ หรือ DHL ที่พัฒนานวัตกรรมโซลูชั่นโลจิสติกส์ให้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนสามารถก้าวขึ้นไปอยู่ในฐานะของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ชั้นนำระดับโลก ทั้งนี้ Mega Trend ที่สำคัญโดดเด่น ประกอบด้วย
- ผู้นำนวัตกรรม (Innovation Leader)
นวัตกรรมของธุรกิจไม่ใช่เพียงแค่การออกผลิตภัณฑ์/บริการใหม่ แต่รวมไปถึงเรื่องของการมีนวัตกรรมอยู่ในส่วนต่างๆ ของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิต / การตลาด ซึ่งได้รวมในหลายๆ เทรนด์ไว้ในเรื่องของนวัตกรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ AI เข้ามามีส่วนในการพัฒนาธุรกิจให้มีความเป็นอัจฉริยะ โดยมีกระบวนการหลักๆ คือการเรียนรู้การทำงานของระบบ เก็บข้อมูล/วิเคราะห์ แล้วสามารถตอบสนอง / แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างอัตโนมัติ ซึ่งนั่นจะเป็นการตัดสินใจและการแก้ไขปัญหาด้วยทางเลือกที่ดีที่สุดอย่างชาญฉลาด อีกส่วนหนึ่งที่ AIเริ่มเข้ามามีบทบาทก็คือการใช้ AI ในการควบคุมระบบเครือข่ายขององค์กรโดยให้ AI เรียนรู้ระบบเครือข่าย ด้วยเทคโนโลยี Machine Learning ทำให้สามารถควบคุมและแก้ไขปัญหาเครือข่ายได้แบบอัจฉริยะ ทั้งเรื่องของการเลือกเส้นทางของเครือข่าย การ Switch เครือข่ายไปยังเครือข่ายหลักหรือเครือข่ายสำรองโดยอัตโนมัติตามสถานการณ์ การควบคุมระบบเครือข่ายให้อยู่ในสภาวะปกติเมื่อมีความแปรปรวนในระบบ ซึ่งเราเรียกว่าหลักการของ Intent-Based Networking (IBN) ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นการเพิ่มขีดความสำเร็จทางธุรกิจ โดยในปัจจุบัน ผู้ผลิตHardware/Software ต่างๆ ก็มุ่งเน้นการผลิตตามหลักการของ IBN ด้วยเช่นกัน
- การยกระดับบุคลากรขององค์กร (Skills Development)
การพัฒนาบุคคลากรเป็นเรื่องที่ผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทักษะของบุคลากร การแสวงหาบุคลากรที่เหมาะสม การฝึกอบรม หรือการรักษาบุคลากรเอาไว้ โดยปัจจุบันได้ส่งเสริมการพัฒนาทักษะและปรับทัศนคติ รวมถึงวัฒนธรรมองค์กรให้บุคลากรมีความกระตือรือร้น ร่วมกันแบ่งปันองค์ความรู้ และเปิดรับเรื่องราวของเทคโนโลยีใหม่ๆ ในธุรกิจ ทำให้ลดช่องว่างของ Generation ต่างๆ ในองค์กร ไปสู่ Gen C เดินเข้าสู่ยุคดิจิทัลไปด้วยกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ธุรกิจมีการปรับใช้เทคโนโลยีได้มากขึ้น ทำให้มีการใช้บริการสื่อสารข้อมูลมากขึ้นเช่นกัน
- การขยายตัวของสังคมเมือง (Smart City)
การพัฒนาเมือง ให้ก้าวสู่การเป็น Smart City ที่มีระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะรองรับ ทั้งเมืองเชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้อาศัย มีการใช้นวัตกรรมและพลังงานทดแทน โดยใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด สร้างสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อม สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้ผู้อยู่อาศัย ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเอง ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ลงทุนและร่วมลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และ CAT ได้เป็นผู้จัดวางระบบ LoRa เพื่อการเชื่อมโยงอุปกรณ์ IoT ใน Smart City
สำหรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งมีโครงการดิจิทัลพาร์คเป็นส่วนหนึ่งนั้น ในไตรมาสแรกของปี 2561 มีมูลค่าการลงทุนสูงถึงกว่า 200,000 ล้านบาท ซึ่ง CAT ได้ร่วมพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ทั้งการเชื่อมโยงเพื่อการสื่อสารข้อมูล และศูนย์ข้อมูล Data Center ซึ่งการขยายตัวของเมืองเทคโนโลยีเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจสื่อสารข้อมูล และโทรคมนาคม เติบโตไปด้วยเช่นกัน”