การประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟไทย ACID 2018 (ACID 2018 THAILAND EXCELLENT COFFEE) เผย 11 รายชื่อเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟไทยคุณภาพที่ผ่านการคัดเลือก เพื่อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟไทยคุณภาพสนใจส่งเมล็ดกาแฟเข้าร่วมประกวดรายการการประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟไทย ACID 2018 คึกคักกว่า 70 ตัวอย่าง ล่าสุดคณะกรรมการตัดสินการประกวดฯ ประกาศ 11 รายชื่อเกษตรกรและกลุ่มเกษตรที่เข้ารอบ เพื่อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งจะมีการประกาศผลผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศในการจัดงานโครงการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียน ครั้งที่ 1 ที่จังหวัดเชียงใหม่

นายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะอำนวยการจัดประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียน ครั้งที่ 1 หรือ 1st ASEAN Coffee Industry Development Conference : (ACID 2018) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟไทย ACID 2018 (ACID 2018 THAILAND EXCELLENT COFFEE) ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพกาแฟไทยตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ว่า กิจกรรมการประกวดฯ นับว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ เนื่องจากในเบื้องต้นทางคณะผู้จัดงานฯ ตั้งเป้าผู้ส่งผลผลิตเมล็ดกาแฟเข้าประกวดเพียง 40 ตัวอย่าง แต่ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจในการพัฒนาคุณภาพเมล็ดกาแฟของเกษตรกร ประกอบกับ การประกวดรายการนี้เป็นรายการใหญ่ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในการพระราชทานถ้วยรางวัล ทำให้เกษตรกรเกิดการตื่นตัวในการส่งเมล็ดกาแฟเข้าร่วมประกวดจำนวนมากถึง 70 ตัวอย่าง

แม้การจัดการประกวดฯ ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรก แต่การคัดเลือกและการตัดสินถือว่ามีความเข้มข้นสูง โดยในการคัดเลือกรอบแรกคณะกรรมการได้ใช้เกณฑ์การให้คะแนนตามมาตรฐานของสมาคมกาแฟพิเศษสหรัฐอเมริกา หรือ SCAA (Specialty Coffee Association of America) ในการคัดเลือกเมล็ดกาแฟ และ ประเมินคุณภาพกาแฟโดยใช้ประสาทสัมผัส (Cupping) ในส่วนของรสชาติ กลิ่น และ ความรู้สึกที่มีต่อกาแฟ จากนั้นในการคัดเลือกเมล็ดกาแฟที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศทางคณะกรรมการได้ใช้เกณฑ์การประเมินคุณภาพกาแฟตามมาตรฐาน COE (Cup of Excellence) ของ กลุ่มพันธมิตรเพื่อความเป็นเลิศทางกาแฟ หรือ ACE (Alliance of Coffee Excellence) ซึ่งคณะกรรมการตัดสินประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อต้องการค้นหาสุดยอดเมล็ดกาแฟไทยที่มีความโดดเด่นและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติอย่างแท้จริง

โดยล่าสุดคณะกรรมการการประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟไทย ACID 2018 ได้มีการประกาศผลผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายที่มีคะแนนรวมสูงกว่า 82 คะแนน จำนวน 11 ราย ได้แก่

– กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรจากโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาอมก๋อย บ้านขุนอมแฮดใน ต.สบโขง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ (Honey Process)

– กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรจากโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาอมก๋อย บ้านขุนอมแฮดใน ต.สบโขง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ (Dry Process)

– นางสาวบงกชษศฏา ไชยพรหม ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ (Wet Process)

– นายบัญชา ยั่งยืนกุล บ้านขุนช่างเคี่ยน ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ (Wet Process)

– นางสาวปนิดา คิดงาม ต.เทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ (Wet Process)

– นายไพศาล โซ่เซ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย (Wet Process)

– นางภัทรานิษฐ์ พรอิทธิกิจ บ้านผาฮี้ ต.โป่งงาม อ.แม่สาย จ.เชียงราย (Wet Process)

– นายสิรวิชญ์ สิริโชควัฒนกุล บ้านแม่จันใต้ ต.ท่าก๊อ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย (Wet Process)

– นายศิวกร โอ่โดเชา หมู่บ้านหนองเต่า ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ (Wet Process)

– ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย ต.ดอยช้าง อ.วาวี จ.เชียงราย (Dry Process)

– ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย ต.ดอยช้าง อ.วาวี จ.เชียงราย (Wet Process)

โดยการประกาศอันดับและผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศนั้นจะมีขึ้นในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 และ มีพิธีรับมอบรางวัลถ้วยพระราชทาน ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2561 ในการจัดงานโครงการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียน ครั้งที่ 1 ณ จังหวัดเชียงใหม่

ด้านนายเซียะ เฉิน เซา (Mr. Shieh Chen Hsiao, International Jury Cup of Excellence, Taiwan) ในฐานะประธานกรรมการการตัดสินการประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟไทย ACID 2018 และ กรรมการการตัดสิน COE ระดับนานาชาติ กล่าวว่า กาแฟที่ผลิตได้จากประเทศไทยนับว่ามีการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราพบว่ากาแฟไทยที่สามารถทำคะแนนได้เกิน 80 คะแนนมีปริมาณมากขึ้น จนถึงวันนี้มีกาแฟไทยจำนวนหนึ่งสามารถทำคะแนนได้สูงกว่า 85 คะแนน ทำให้ก้าวขึ้นสู่กาแฟที่เรียกได้ว่าเป็นกาแฟพิเศษ หรือ Cup of Excellence อย่างแท้จริง ถือเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมกาแฟของไทยในระดับสากล

ผลที่เกิดขึ้นจากการประกวดฯ ครั้งนี้ นอกจากจะแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ปลูกกาแฟของไทย ความสามารถในการปลูก การดูแลต้นกาแฟ ผลผลิตกาแฟ และกระบวนการผลิตเมล็ดกาแฟของเกษตรกรไทยแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือและความมุ่งมั่นของผู้อยู่ในอุตสาหกรรมกาแฟและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของไทย ซึ่งร่วมมือกันพัฒนาและผลักดันให้ประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตกาแฟชั้นนำของโลกอีกด้วย