จุฬาฯ หนุนนิสิตบูรณาการข้ามศาสตร์เพื่อนำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ส่งแผนธุรกิจ “แกรนด์โกลด์:นวัตกรรมนำส่งสารออกฤทธิ์ด้วยอนุภาคนาโนทองคำประสิทธิภาพสูงสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและยา” ผลงานวิจัยของนิสิตปริญญาเอกสาขาเคมี คว้าเงินทุนสูงสุด 2 ล้านบาทจากกองทุน TED Fund เตรียมจัดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินการผลิตสินค้าต้นแบบและทำการตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร.นงนุช เหมืองสิน ผู้อำนวยการหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUTIP: ซียูทิพ) และอาจารย์ภาควิชาเคมีคณะวิทยาศสตร์ เปิดเผยว่า แกรนด์โกลด์ (GrandGold) เป็นหนึ่งในแผนธุรกิจนวัตกรรมที่ CUTIP และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่งเข้าสู่กระบวนการนำเสนอต่อกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TED Fund ในโครงการจัดสรรเงินสนับสนุนผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่อยู่ภายใต้สถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นหลักสูตรการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และธุรกิจนวัตกรรม ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการกองทุนฯ ได้รับเงินทุนจำนวน 2 ล้านบาทซึ่งเป็นวงเงินสูงสุดของโครงการฯ และนอกจากนี้ก็ยังมีแผนธุรกิจอีก 3 โครงการที่ CUTIP ส่งเข้าประกวด และผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการโครงการแล้วเช่นกันแต่อยู่ระหว่างการพิจารณาวงเงินที่จะได้รับการสนับสนุนได้แก่ โครงการ i-Enfant อุปกรณ์กกลูกสุกรอัจฉริยะ โครงการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซินไบโอติก (Synbiotic) จากกล้วย และโครงการ ออโต้แพร์
สำหรับโครงการ “แกรนด์โกลด์”นั้น เป็นแผนธุรกิจ ที่เกิดจากผลงานวิจัย “นวัตกรรมนำส่งสารออกฤทธิ์ด้วยอนุภาคนาโนทองคำสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและยา” ของ นายศักดิ์ชัย หลักสี นิสิตปริญญาเอก สาขาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ซึ่งมองเห็นว่า นับวันอุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกลุ่มสตรีและบุรุษ แต่ปัญหาของเครื่องสำอางในปัจจุบันคือ ต้องการตอบโจทย์ของผู้บริโภคที่ต้องการเห็นผลการใช้งานที่รวดเร็วเช่นขาวใสภายใน 3 วัน 7 วัน ดังนั้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ดังกล่าว ผู้ผลิตจึงมักจะใส่สารเคมีต้องห้ามในลงไปเป็นส่วนผสมเครื่องสำอางบำรุงผิว หรือมีการใช้สารในปริมาณที่เกินกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย จนส่งผลให้เกิดอันตรายต่างๆตามมาเช่น การสะสมสารเคมีในร่างกาย และการเกิดผดผื่นการแพ้ที่ผิวหนังเกิดอาการระคายเคือง เป็นสิวหรือฝ้า และบางทีทำให้ใบหน้าเสียโฉม และร้ายที่สุดอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเกิดมะเร็งที่ผิวหนัง
จึงสนใจที่จะพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ทางเครื่องสำอางด้วยการใช้อนุภาคนาโนทองคำขึ้น และได้มีการสังเคราะห์และการพัฒนา จนได้นวัตกรรมนำส่งสารออกฤทธิ์ด้วยอนุภาคนาโนทองคำ ซึ่งเป็นระบบนำส่งสารออกฤทธิ์ด้วยอนุภาคนาโนทองคำด้วย วิธีการที่ไม่เป็นพิษ ง่าย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง ดังกล่าวขึ้น
นายศักดิ์ชัย หลักสี ได้กล่าวเสริมว่า กระบวนการขับเคลื่อนผลงานวิจัยดังกล่าวออกสู่เชิงพาณิชย์ นอกจากตนเองที่รับตำแหน่ง CEO แล้วยังประกอบด้วยทีมงานอีก 3 ท่าน ได้แก่ นางสาวอุฬาริกา ลือสกุล นิสิตปริญญาเอกสาขาเดียวกัน รับตำแหน่งเป็น Chief technology officer (CTO) นายบุริม โอทกานนท์ นิสิตปริญญาเอก สาขาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับตำแหน่งเป็น Chief Marketing Officer (CMO) และนายธเนศ ทับทิมทอง นิสิตปริญญาโท หลักสูตรปิโตรเคมีและวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับตำแหน่งเป็น Chief Operation Officer (COO) โดยทั้งหมดนี้ตนเองได้รับการสนับสนุนจาก CUTIP ในการเข้ามาช่วยผลักดันและบูรณาการความรู้ ประสานความร่วมมือระหว่าง สาขา หลักสูตร คณะต่างๆภายในจุฬาฯ เพื่อให้ได้ซึ่งพันธมิตรทางธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก ในการนำผลงานวิจัยในห้องวิจัย (Lab) ออกสู่ตลาด จนสามารถมีทีมงานที่จะมาช่วยดำเนินการเพื่อก่อตั้งบริษัทและได้รับเงินทุนเริ่มต้นจำนวน 2 ล้านบาทจากกองทุน TED Fund ในที่สุด
นายศักดิ์ชัย หลักสี กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินงานต่อไปจากนี้ว่า ตนเองและทีมงานจะเริ่มต้นจัดตั้งบริษัท และเริ่มต้นพัฒนาระบบนำส่งสารออกฤทธิ์ด้วยอนุภาคนาโนทองคำ เพื่อขยายเสกลการสังเคราะห์และการผลิตสินค้าต้นแบบ วางแผนความเป็นไปได้ทางการตลาดการเพื่อนำอนุภาคนาโนทองคำไปใช้งานจริงกับทั้งอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและยา จนถึงขั้นการผลิตขาย ซึ่งตนเองมั่นใจว่าโดยศักยภาพของนวัตกรรมนี้จะสามารถนำไปทำตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศเพราะ ระบบนำส่งสารออกฤทธิ์ด้วยอนุภาคนาโนทองคำ เป็นกระบวนการที่นอกจากจะนำส่งสารออกฤทธิ์ ที่มีประสิทธิภาพ ด้วยวิธีการที่ไม่เป็นพิษ ง่าย สะดวก รวดเร็ว จะส่งผลให้ผู้ผลิตใช้สามารถลดปริมาณสารเคมีหรือสารออกฤทธิ์ที่อาจเป็นอัตรายต่อผู้บริโภคหากใช้ในปริมาณมากลง แต่มีประสิทธิภาพในการใช้งานที่สูงแล้ว ยังช่วยในเรื่องการลดต้นทุนในกระบวนการผลิตได้มหาศาลอีกด้วย