รู้จักขุมพลังงานของไทย 25 ปี “แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช” กับงานส่งต่อ “องค์ความรู้” ในการแสวงหาพลังงาน

DCIM101MEDIA

แหล่งก๊าซธรรมชาติ นับเป็นแหล่งพลังงานที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยก๊าซธรรมชาติที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้กว่า 75% เป็นก๊าซฯ ที่ผลิตในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าทั้งในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน อีกทั้ง ยังนำไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์    จากปิโตรเคมีที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน จึงเรียกได้ว่า “ก๊าซธรรมชาติ” เป็นฟันเฟืองหลักด้านพลังงานของประเทศไทย

หนึ่งในแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีความสำคัญยิ่งต่อประเทศ คือ “แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช” ตั้งอยู่ในอ่าวไทย ห่างจากชายฝั่งจังหวัดสงขลา ประมาณ 200 กิโลเมตร เป็นแหล่งก๊าซฯ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในเชิงปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติใต้พื้นดิน ด้วยอัตราการผลิต 900 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้ก๊าซของประเทศได้มากถึงร้อยละ 20 หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของปริมาณก๊าซฯ ที่ผลิตได้ภายในประเทศ

แหล่งบงกชเป็นแหล่งก๊าซฯ แห่งแรกที่ดำเนินการโดยบริษัทคนไทย นั่นคือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ. โดยในปี 2544 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ “พื้นที่ปิโตรเลียมนวมินทร์” ให้แก่ ปตท.สผ. ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ผลิตของแหล่งบงกช และแหล่งอาทิตย์ในอ่าวไทย นำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล เป็นมิ่งขวัญและกำลังใจสูงสุดแก่พนักงานทุกคนให้ปฏิบัติหน้าที่ในการแสวงหาพลังงานให้กับประเทศอย่างสุดความสามารถ

ที่สำคัญ แหล่งบงกชยังนับเป็นจุดเริ่มต้นของคนไทยในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน เป็นสัญลักษณ์แห่งการพัฒนาและส่งต่อองค์ความรู้ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของคนไทยจากรุ่นสู่รุ่น ให้คนไทยได้สั่งสมความรู้และประสบการณ์จนเชี่ยวชาญทัดเทียมบริษัทน้ำมันนานาชาติ

นายพงศธร ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ปตท.สผ. เล่าถึงจุดเริ่มต้นขององค์ความรู้ในแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชว่า แรกเริ่มนั้นแหล่งบงกชถูกค้นพบโดยบริษัทต่างชาติ ทว่ารัฐบาลขณะนั้นเล็งเห็นถึงประโยชน์มหาศาลหากคนไทยสามารถพัฒนาแหล่งบงกชเอง เพื่อเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของประเทศ จึงตัดสินใจซื้อสัมปทานคืนจากบริษัท เท็กซัส แปซิฟิค ในปี 2531 และมอบหมายให้ ปตท.สผ. ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของรัฐ ซื้อสัมปทานแหล่งบงกช และเป็นแกนนำในการพัฒนาแหล่งบงกชให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาตินับแต่นั้นมา

แหล่งบงกชเริ่มทำการผลิตก๊าซเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม ปี 2536 หรือเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ในช่วงแรกของการผลิตก๊าซฯ แหล่งบงกชมีบริษัทน้ำมันชั้นนำของโลกอย่าง “โททาล” จากฝรั่งเศสเป็นผู้ดำเนินการและเป็นผู้ร่วมทุน ภายใต้ข้อตกลงว่า ปตท.สผ. จะเข้ารับช่วงต่อเป็นผู้ดำเนินการหลังจากที่ผลิตไปแล้ว 5 ปี โดยระหว่างนั้น ปตท.สผ.ต้องเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์จากโททาลเพื่อรับช่วงการเป็นผู้ดำเนินการแหล่งบงกชต่อให้ได้ และในที่สุดภารกิจที่ท้าทายก็ประสบความสำเร็จ ในปี 2541 ปตท.สผ. เข้าเป็นผู้ดำเนินการในแหล่งบงกชได้อย่างราบรื่น ไม่มีปัญหาในการส่งก๊าซฯ ให้ประเทศ

“การพัฒนาแหล่งบงกชโดย ปตท.สผ. ถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญมากของประเทศในเวลานั้น เนื่องจากหากประเทศหรือโลกเกิดวิกฤติด้านพลังงาน คนไทยยังมี ปตท.สผ. ที่จะทำหน้าที่สำรวจและผลิตพลังงานให้คนไทยต่อไปได้ เราไม่อยากให้มีบริษัทต่างชาติเข้ามาผูกขาดการผลิต รัฐจึงอยากให้ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการในแหล่งบงกช เพราะนอกจากจะรักษาดุลอำนาจในการแข่งขันแล้ว ยังเป็นการพัฒนาคนไทยให้ไปพัฒนาแหล่งอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ แหล่งก๊าซฯ และน้ำมันอีกหลายแห่งคงไม่เกิดขึ้นหากเราไม่มีประสบการณ์จากบงกชมาก่อน

ตลอด 25 ปี ที่ผ่านมาของแหล่งบงกช เราได้เดินตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่วางไว้ นั่นคือการมอบประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ ซึ่งไม่เพียงแต่การสร้างความมั่นคงทางพลังงานด้วยการใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานภายในประเทศเท่านั้น แต่บงกชยังเป็นเสมือนสถาบันของคนไทยในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม  ซึ่งถ่ายทอดและส่งต่อองค์ความรู้ในการแสวงหาพลังงานให้กับคนไทยต่อไปในอนาคตด้วย” นายพงศธร กล่าว

จากระยะแรกเริ่มของแหล่งก๊าซบงกชที่มีกำลังการผลิตเพียง 250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ปัจจุบันสามารถพัฒนากำลังการผลิตได้สูงถึง 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน การผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการต่อยอดด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ บุคลากร และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เช่น การออกแบบหลุมผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ ตอบโจทย์การใช้งาน   อ่าวไทยที่มีโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่ซับซ้อนและประกอบไปด้วยแหล่งก๊าซฯ กระเปาะเล็ก ๆ กระจัดกระจาย โดยเราออกแบบหลุมให้มีขนาดเล็ก ทำให้เจาะได้เร็วและต้นทุนต่ำ แต่คงไว้ซึ่งประสิทธิภาพ ซึ่งโมเดลนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับแหล่งอื่นๆ ที่มีสภาพทางธรณีวิทยาใกล้เคียงกับอ่าวไทยได้

แหล่งบงกชจึงเป็นที่ ๆ ให้ ปตท.สผ. ได้สั่งสมประสบการณ์ ตลอดจนความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียม การพัฒนาเทคโนโลยี ระบบการทำงาน ล้วนเป็นฐานเพื่อขยายขอบเขตการทำงานออกไปยังแหล่งปิโตรเลียมอื่น ๆ ในต่างประเทศ เช่น “แหล่งก๊าซธรรมชาติซอติก้า” ในอ่าวเมาะตะมะ ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดที่ ปตท.สผ. ดำเนินการเองในต่างประเทศ ก็มาจากองค์ความรู้ที่ได้จากการสำรวจและผลิตก๊าซฯ ในแหล่งบงกช  ทุกวันนี้ ก๊าซฯ จากแหล่งซอติก้าเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามาใช้เป็นพลังงานในประเทศไทยด้วย

ภารกิจของ ปตท.สผ. ในวันนี้คือการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่แค่ให้คนไทยมีพลังงานจากปิโตรเลียมใช้ แต่ต้องมีองค์ความรู้ในการแสวงหาพลังงานที่เป็นของคนไทยอย่างแท้จริง เพราะพลังงานจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป แต่ “องค์ความรู้” ที่เป็นของคนไทยยิ่งใช้…ยิ่งงอกงาม…ไม่มีวันหมด

เกี่ยวกับโครงการบงกช

โครงการบงกชเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในอ่าวไทย ประกอบด้วย แปลงบี 15 แปลงบี 16 แปลงบี 17 และแปลงจี 12/48 โดย ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ และถือสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 66.6667 และมีบริษัท โททาล ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันชั้นนำจากฝรั่งเศสเป็นผู้ร่วมทุนในสัดส่วนร้อยละ 33.3333 โดยก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศไทย ช่วยทดแทนการนำเข้า และลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งบงกช คิดเป็นร้อยละ 30 ของการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ภายในประเทศ

แหล่งบงกชยังเป็นแหล่งก๊าซฯ แห่งแรกที่บริษัทคนไทยเป็นผู้ดำเนินการ โดยครบรอบการผลิต 25 ปีในเดือนกรกฎาคม 2561 ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถของคนไทยในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้อย่างมีประสิทธิภาพทัดเทียมบริษัทน้ำมันนานาชาติ

นอกจากนี้ ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชยังช่วยผลักดันอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยและเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่สำคัญของปิโตรเคมี รวมถึง ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนและอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศ