“กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร-KKP” ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายธุรกิจที่วางไว้ เผยครึ่งปีแรกสินเชื่อเติบโตโดดเด่นที่ 10.2% ครึ่งปีหลังยังคงเน้นธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ อาทิ การทำสินเชื่อที่ให้ผลกำไรเหมาะสม ตลอดจนขยายธุรกิจ Wealth Management ที่ปัจจุบันมีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำอยู่ที่ 459,000 ล้านบาท โดยร่วมมือกับบริษัทชั้นนำเพื่อนำลูกค้าไปลงทุนในต่างประเทศ (Offshore Investment) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (Mr. Aphinant Klewpatinond, Chief Executive Officer, Kiatnakin Phatra Financial Group) เปิดเผยว่า จากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ที่มียอดการเติบโตของสินเชื่อที่แข็งแกร่ง (10.2%) ส่งผลให้ภาพรวมผลประกอบการออกมาดีเกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้ โดยมีกำไรสุทธิ ไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 3,064 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.1% จากงวดเดียวกันของปี 2560 ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของกลุ่มธุรกิจฯ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดตั้งสายช่องทางการตลาดและพัฒนาฐานลูกค้า และการยกระดับกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) และการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ซึ่งทำให้ธนาคารวิเคราะห์จำแนกกลุ่มลูกค้า (Segmentation) ได้โดยละเอียด และสามารถลดสินเชื่อกลุ่มที่ไม่มีคุณภาพ และขยายสินเชื่อกลุ่มที่ให้ผลกำไรเหมาะสมและมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือสินเชื่อ KK SME นอกจากนั้น ยังได้รับแรงสนับสนุนในด้านต้นทุนการเงินจากผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อการลงทุน KKPSS (KK Phatra Smart Settlement) ที่ให้ดอกเบี้ยสูงเหมือนเงินฝากประจำสำหรับลูกค้า Wealth Management ของ บล. ภัทรโดยเฉพาะ ซึ่งนับเป็นการระดมเงินฝากจำนวนมากให้กับธนาคารโดยไม่ต้องใช้ต้นทุนในด้านสาขาและบุคลากรเพิ่มเติม ทั้งนี้ หลังเปิดตัวเพียงเมื่อต้นปี 2561 ปัจจุบันมียอดกว่า 2 หมื่นล้านบาท
“สำหรับทิศทางธุรกิจในครึ่งปีหลัง กลุ่มธุรกิจฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนา Business Model ใน 3 ธุรกิจหลัก เพื่อกระจายโครงสร้างรายได้ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ ได้แก่ 1. ด้านธุรกิจสินเชื่อยังคงมุ่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นในผลิตภัณฑ์และกลุ่มลูกค้าที่เลือกแล้วว่ามีอัตราผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยง (risk-adjusted return) ที่เหมาะสม หรือสามารถนำไปสู่รายได้ด้านอื่นแก่กลุ่มธุรกิจฯ อาทิ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อลอมบาร์ด สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สำหรับลูกค้าขนาดใหญ่หรือบริษัทจดทะเบียน 2. ด้านธุรกิจ Wealth Management จะมุ่งเติบโตทั้งในด้านสินทรัพย์ของลูกค้า และสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำ โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มสัดส่วนการให้บริการของกลุ่มธุรกิจฯ ในกระเป๋าของลูกค้า (share of wallet) โดยขยายผลผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนอย่าง บัญชี KKPSS, หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง (Structured Note), Shark-Fin Note, Daily Range Accrual Note (DRAN), Fund Linked Note ซึ่งจะเป็นทั้งฐานเงินฝากและค่าธรรมเนียมของธนาคารต่อไป ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากมีลูกค้า Wealth Management จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สนใจโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ กลุ่มธุรกิจฯ จึงจะเปิดตัวบริการการลงทุนในต่างประเทศ (Offshore Investment) โดยร่วมกับ Investment Bank และ Asset Management ของต่างประเทศ ประมาณ 10 แห่ง ที่ผ่านการกลั่นกรองโดยทีมวิจัยลูกค้าบุคคล (CIO Office) และนำเสนอต่อลูกค้าแต่ละรายโดยทีมที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Consultant) และทีมที่ปรึกษาวางแผนการลงทุน (Investment Advisor) พร้อมกันนั้น ยังยกระดับสาขาธนาคารให้เป็น Financial Hub หรือศูนย์บริการทางการเงินครบวงจรที่สามารถให้บริการในด้านการลงทุนให้กับลูกค้า โดยปัจจุบันมี 3 สาขา คือ เซ็นทรัลเวิลด์ ทองหล่อ และเยาวราช 3. ด้านธุรกิจสินเชื่อบรรษัท ธุรกิจตลาดการเงิน และธุรกิจวานิชธนกิจ ของกลุ่มธุรกิจฯ ยังเติบโตก้าวกระโดดจากการผสานความร่วมมือและบูรณาการอย่างเป็นผลระหว่างบริษัทในกลุ่มธุรกิจฯ ในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนจากสินเชื่อที่เติบโตกว่า 60% และการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนรายได้ที่เกิดจากการทำงานร่วมกัน” นายอภินันท์ กล่าว
นายชวลิต จินดาวณิค ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (Mr. Chavalit Chindavanig, Head of Finance and Budgeting, Kiatnakin Bank Plc.) กล่าวถึงผลการดำเนินงานงวดหกเดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ของธนาคารเกียรตินาคิน และบริษัทย่อยว่า “กลุ่มธุรกิจฯ มีกำไรสุทธิ ไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 3,064 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.1% จากงวดเดียวกันของปี 2560 เป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) (ทุนภัทร) และบริษัทย่อย ได้แก่ บล.ภัทร และ บลจ.ภัทร จำนวน 824 ล้านบาท มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 5,397 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9%จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ อยู่ที่ 2,206 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.7% และรายได้อื่น 1,160 ล้านบาท รวมเป็นรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 8,763 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 จากงวดเดียวกันของปี 2560 ครึ่งปีแรกสินเชื่อโดยรวมขยายตัวที่ 10.2% โดยสินเชื่อมีการขยายตัวในทุกประเภท รวมถึงสินเชื่อเช่าซื้อที่ยังคงมีการขยายตัวต่อเนื่องที่ 2.8 % จากสิ้นปี 2560 ในด้านคุณภาพของสินเชื่อ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมยังคงปรับลดลง ณ สิ้นไตรมาส 2/2561 อยู่ที่ 4.5% ลดลงเมื่อเทียบกับ 5.0% ณ สิ้นปี 2560 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นปี 2560 อยู่ที่ 16.27% โดยเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ12.72% แต่หากรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 2/2561 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะเท่ากับ 17.35% และเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 13.80%”
ทั้งนี้ ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (Dr. Pipat Luengnaruemitchai, Assistant Managing Director, Head of Private Wealth Management Research (CIO Office) of Phatra Securities Public Company Limited, a member of Kiatnakin Phatra Financial Group) ได้ให้มุมมองภาวะเศรษฐกิจโลกประกอบว่า “อยู่ในช่วงฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ในหลายประเทศเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวลงบ้าง แต่เศรษฐกิจสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกายังคงมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และตลาดแรงงานที่ตึงตัว อย่างไรก็ตามมีโอกาสที่อัตราการเจริญเติบโตอาจชะลอตัวลงได้หลังหมดแรงกระตุ้นจากนโยบาย ประเด็นที่ยังคงต้องจับตามองคือผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนเรื่องนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และความเปราะบางของเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่รวมถึงประเทศจีน ส่วนเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคและการลงทุนในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้น บล. ภัทร คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ในอัตรา 4.2% ในปี 2561 นี้ และ 3.8% ในปีหน้า ในขณะที่หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงอ่อนแอ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจจะยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันที่ดีมากต่อความผันผวนของตลาดการการโลก ทั้งจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล แรงกดดันเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้จากความกังวลเรื่องปัจจัยเสี่ยงภายนอก รวมถึงแนวโน้มกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีแนวโน้มถูกปรับลดลง บล. ภัทร คาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอาจจะยังมีความผันผวนอยู่ได้ โดยให้เป้าหมายสิ้นปี 2561 ที่ 1670-1820 ”