ผลประกอบการเอสซีจีไตรมาสที่ 2 เป็นที่น่าพอใจ โดยมีกำไรใกล้เคียงกับ ไตรมาสก่อน แม้จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยต้นทุนที่สูงขึ้นและการซบเซาของตลาดตามฤดูกาล เผยเดินหน้า ธุรกิจหลักในอาเซียนรับการขยายตัวของตลาดอย่างต่อเนื่อง พร้อมรุกธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่และการกระจายสินค้า โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเสริมประสิทธิภาพการตอบโจทย์ลูกค้า รวมทั้งขยายธุรกิจขนส่งไปในจีนตอนใต้ พร้อมหนุน ความร่วมมือด้านนวัตกรรม เพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้องค์กร
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจี ในไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2561 มีรายได้จากการขาย 120,447 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่มีปริมาณขายและราคาขายเพิ่มขึ้น โดยมีกำไรสำหรับงวด 12,402 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลการดำเนินงานของธุรกิจเคมิคอลส์ และรายได้เงินปันผลรับจากเงินลงทุนในธุรกิจอื่นลดลง แต่ยังคงใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน เพราะแม้ว่าธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากช่วงฤดูกาลซบเซาของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง แต่ยังมีรายได้เงินปันผลรับจากเงินลงทุนในธุรกิจอื่นช่วยสนับสนุน
สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2561 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 238,697 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จาก ช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีกำไรสำหรับงวด 24,808 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 19 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปีที่ผ่านมามีกำไรจากการขายเงินลงทุน รวมถึงราคาวัตถุดิบปิโตรเคมีที่สูงขึ้น และค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการส่งออกครึ่งปีแรก 64,993 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27 ของยอดขายรวม โดยไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับผลการดำเนินงานของเอสซีจี นอกเหนือจากประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561
เอสซีจีมีรายได้จากการขายในภูมิภาคอาเซียน เท่ากับ 57,044 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24 จากยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้จากการขายในภูมิภาคอื่น ๆ 43,019 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 จากยอดขายรวม
สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561 มีมูลค่า 590,719 ล้านบาท โดยร้อยละ 25 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน
ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 และครึ่งปีแรกปี 2561 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้
ธุรกิจเคมิคอลส์ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีรายได้จากการขาย 57,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15จากช่วงเดียวกันของ ปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น โดยมีกำไรสำหรับงวด 8,131 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน เนื่องจากปัจจัยเงินบาทแข็งค่าและต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ทำให้ในครึ่งปีแรกของปี 2561 มีรายได้จากการขาย109,920 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น โดยมีกำไรสำหรับงวด 16,266 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 27 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัจจัยเงินบาทแข็งค่าและต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีรายได้จากการขาย 44,658 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากสภาพตลาดผลิตภัณฑ์ก่อสร้างและเซรามิกในไทยยังคงซบเซา โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,677 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงร้อยละ 32 จากไตรมาสก่อน จากปัจจัยฤดูกาล ทำให้ในครึ่งปีแรกของปี 2561 มีรายได้จากการขาย 91,119 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกัน ของปีก่อน จากการขยายตัวของตลาดในภูมิภาค โดยมีกำไรสำหรับงวด 4,161 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีรายได้จากการขาย 21,792 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12จากช่วงเดียวกัน ของปีก่อน เนื่องจากราคาขายและปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นในสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ แต่ลดลงร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,598 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 59 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากไตรมาสก่อน ทำให้ใน ครึ่งปีแรกของปี 2561 มีรายได้จากการขาย 43,773 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 3,110 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า “เอสซีจีเดินหน้าขยายธุรกิจหลักสู่ภูมิภาคอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ซึ่งเป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรรายแรกในเวียดนามที่คืบหน้าอย่างต่อเนื่อง หลังจากนายกรัฐมนตรีของเวียดนามพร้อมด้วยข้าราชการระดับสูงได้ร่วมวางศิลาฤกษ์โครงการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ล่าสุดเอสซีจีได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจากร้อยละ 71 เป็นร้อยละ 100 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และมีแผนจะลงนามสัญญาเงินกู้มูลค่าประมาณ 3,200 ล้านดอล์ลาร์สหรัฐกับสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศในเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะเริ่มดำเนินการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการก่อสร้างโรงงาน (Engineering, Procurement and Construction หรือ EPC) ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 เพื่อเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในครึ่งปีแรกของปี 2566 ซึ่งโครงการนี้จะก่อให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ สนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจเวียดนามต่อไป
ส่วนในไทย เอสซีจีได้ขยายกำลังการผลิตของโครงการมาบตาพุดโอเลฟินส์ (MOC) จากปัจจุบัน 1.7ล้านตันต่อปีเป็น 2.05 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะทำให้โครงการมีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้วัตถุดิบและสร้างโอกาสในการใช้ก๊าซโพรเพนซึ่งมี ต้นทุนต่ำเป็นวัตถุดิบ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขัน
นอกจากธุรกิจหลักแล้ว เอสซีจียังสร้างการเติบโตของธุรกิจให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของตลาดและพฤติกรรมลูกค้า ด้วยการรุกธุรกิจบริการ จัดจำหน่าย และกระจายสินค้าอย่างเต็มรูปแบบ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเข้าถึงและตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผ่านการร่วมมือกับสตาร์ทอัพที่พัฒนาซอฟต์แวร์และแพลทฟอร์มสำหรับบริหารต้นทุนและซื้อขายสินค้าออนไลน์ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และขยายฐานลูกค้าร่วมกัน
ล่าสุด เอสซีจีได้เข้าซื้อหุ้นร้อยละ 29 ใน PT Catur Sentosa Adiprana Tbk (CSA) ซึ่งเป็นธุรกิจชั้นนำของอินโดนีเซีย เพื่อเสริมศักยภาพให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขยายจำนวนร้านค้าปลีกสมัยใหม่สำหรับสินค้าเกี่ยวกับบ้านและวัสดุก่อสร้างภายใต้ชื่อ “Mitra10” ให้รองรับความต้องการลูกค้าได้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน 27สาขา ซึ่งมากและครอบคลุมที่สุดในประเทศ เป็น 50 สาขาภายในปี 2564 และการเพิ่มประสิทธิภาพของการกระจายสินค้าไปยังเครือข่ายร้านค้าปลีกอื่น ๆ อีกมากกว่า 30,000 แห่ง ทั่วประเทศ ด้วยระบบบริหารคลังสินค้าและนวัตกรรมใหม่ ๆ หลังจากที่โกลบอลเฮ้าส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (GBI) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของเอสซีจีได้เข้าซื้อหุ้นร้อยละ 30 ใน PRO 1 GLOBAL Company Limited ซึ่งเป็นธุรกิจจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและตกแต่งบ้าน และเครือข่ายร้านค้าปลีกชั้นนำในเมียนมาภายใต้ชื่อ “Pro1-Global” เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขยายสาขาของร้านซึ่งปัจจุบันมี 6 สาขา และการพัฒนาระบบบริหาร Supply chain รวมทั้ง IT ให้รองรับ Omni Channelในอนาคต
นอกจากนี้ เอสซีจียังเข้าร่วมทุนกับ Jusda Supply Chain Management International (JUSDA) เพื่อจัดตั้งบริษัทขนส่งและบริหารจัดการ Supply chain ที่ให้บริการทางตอนใต้ของจีนและอาเซียน ซึ่งปัจจุบันมีการค้าขายระหว่างสองภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น ในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง สินค้าเกษตรและอาหาร และธุรกิจต่อยอดแบบคัดคุณภาพ รวมทั้งการซื้อขายออนไลน์ โดยคาดว่าจะจัดตั้งบริษัทแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้
เอสซีจียังมุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนในสังคม และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) 45,257 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 38 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมียอดขาย HVA ในครึ่งปีแรกของปี 2561 ทั้งสิ้น 91,101 ล้านบาท โดยล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทันตนวัตกรรม ร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทันตแพทยสภา เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมไทยสู่การพึ่งพาตนเอง ทำให้ประเทศสามารถลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ร้อยละ 20-30 และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น จากการนำผลิตภัณฑ์ไปขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยของกระทรวงการคลัง รวมทั้งเอสซีจียังได้พัฒนาสินค้าและบริการให้ ตอบโจทย์ลูกค้าในยุคดิจิทัลอย่าง Smart Toilet หรือสุขภัณฑ์อัจฉริยะ ของ COTTO ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในตลาดด้วย”
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี2561 ในอัตรา 8.50 บาทต่อหุ้น เป็นเงินทั้งสิ้น 10,200 ล้านบาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันที่22 สิงหาคม 2561 กำหนดวันที่ XD ในวันที่ 8 สิงหาคม 2561 และกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล (Record date) วันที่ 9 สิงหาคม 2561