Grab คิดการใหญ่ ปูพรมเปิดบริการถี่ยิบ ตั้งเป้าเป็นซูเปอร์แอป สำหรับทุกวัน แอปแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากแอปเพื่อความปลอดภัยในการโดยสารที่แตกต่างจากการใช้แท็กซี่ทั่วไป ทุกวันนี้แกร็บก้าวไปไกลกว่าแค่บริการ Transport แล้ว กับวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ ด้วยการก้าวขึ้นเป็น “Southeast Asia’s Everyday Super App” หรือการรวมบริการสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันที่หลากหลายไว้ในแอปเดียว แม้เป้าหมายดังกล่าว รวมถึงการทะยานขึ้นเป็น Regional App อย่างแท้จริงจะไม่ใช่เรื่องง่าย ไหนจะมีผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง GET (Go-Jek) คู่แข่งคนสำคัญจากอินโดนีเซียที่จะบุกตลาดไทยในเร็ววันนี้ ไหนจะต้องค้นหา Pain Point และนำเสนอบริการใหม่ๆ ให้ตรงใจผู้บริโภค แต่แกร็บมั่นใจว่าจะรับมือกับทั้งผู้บริโภคและคู่แข่งได้ พร้อมกับการปรับโฉมดีไซน์ของแอปให้สวยงามและใช้งานง่ายกว่าเดิม 

ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “เราต้องการเป็น All-in -One App เป็น One-Stop-Shop สำหรัับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค สิ่งที่เราต้องทำคือหา Pain Point ที่ีผู้บริโภคประสบพบเจอในทุกวันให้เจอ และให้บริการด้วยแนวทางที่เป็นไปได้ จะเห็นได้ว่าสิ่งที่แกร็บทำอยู่ทุกวันนี้ รวมถึงบริการใหม่ๆ  ที่เกิดขึ้น ได้  นั้น เพราะเราเชื่อว่า Imagination is a limit หรือ จินตนาการไม่มีขีดจำกัด และถึงจะมีคู่แข่งรายใหม่เข้ามา แต่เราก็จะก้มหน้าทำสิ่งที่เราทำอยู่แล้วให้ดีที่สุดต่อไป ทั้งการเติบโตไปพร้อมกับพันธมิตร การทำงานหนักมากขึ้น รับฟังเสียงผู้บริโภค ตลอดจนคอมเมนท์ต่างๆ รวมถึงการใส่ใจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนขับ”

เดินหน้าจับมือพันธมิตร หวังโตไปพร้อมกันด้วย GrabRewards

ธรินทร์ บอกว่า “การที่แกร็บจะเป็นซูเปอร์แอปฯ ได้นั้น เราจะโตคนเดียวไม่ได้ ถึงเราต้องการจะเป็นทุกอย่างของลูกค้าก็ตาม แต่ความจริงเป็นไม่ได้ เราจึงจำเป็นจะต้องอาศัยพันธมิตรซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และแกร็บรีวอร์ดสก็คือหนึ่งในแพลตฟอร์มนั้น”

“ความสุขพร้อมแจก แลกได้ตลอด” คือ คอนเซ็ปต์ของแกร็บ รีวอร์ดส เป็นแพลตฟอร์มสำหรับลอยัลตี้ โปรแกรมแบบ  O2O (Online to Offiline ) ในการดึงพันธมิตรที่มีชื่อเสียงจากหลากหลายอุตสาหกรรมมาร่วมมือ นับเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของแกร็บที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นไลฟ์สไตล์ แบรนด์  ประเดิมเฟสแรกด้วย 5 กลุ่ม ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม บันเทิง ช้อปปิ้ง ท่องเที่ยว และแกร็บ ไรด์ (แลกแต้มเป็นส่วนสดค่าโดยสาร) โดยมี 5 พันธมิตรหลัก คือ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ,ช้อปปี้,เอสแอนด์พี,เซโฟร่า และนกแอร์ รวมกับพันธมิตรรายอื่น ๆ เช่น การบินไทย,ไอฟลิกซ์,จูกซ์,บีอินสปอร์ต,โยเกิร์ต แลนด์, ไทยวิวัฒน์,แฟมิลี่มาร์ท, ดีแทค, อาฟเตอร์ ยู, สตาร์บัคส์, สปอติฟาย,เทสโก้ โลตัส, ท็อปส์ มาร์เก็ต, ลาซาด้า,อานตี้ แอนส์, มิสเตอร์ โดนัท,คริส ไฟเออร์ (สิงคโปร์แอร์ไลน์) เป็นต้น อีกรวมกว่า 30 ราย  เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในทุก ๆ  ด้านให้ครอบคลุมได้มากที่สุด

“เราปรับเปลี่ยนแนวคิดในการหาพันธมิตร จากแต่เดิมเน้นปริมาณ ร้านอาหารก็มีเยอะมาก แต่กลายเป็นว่าลูกค้าใส่ใจดีลไม่กี่ตัวเท่านั้นเอง เราจึงคัดสรรเฉพาะพันธมิตรที่มีชื่อเสียงและผู้บริโภครู้จักเป็นอย่างดี พูดชื่อมาแล้วไม่งง เราพยายามทำให้ดีลครอบคลุมทุกกิจกรรมที่ต้องทำทุกวันใน 7 กลุ่มหลัก โดยอีก 2 กลุ่มใหม่ที่จะให้บริการเพิ่มเติมเข้ามา คือ บริการ เช่น นวด,สปา และลิมิเต็ด เอดิชั่น (ดีลพิเศษในบางช่วงเวลา)”

สำหรับแผนการกระตุ้นให้เกิดการใช้แกร็บรีวอร์ดส นั้น ธรินทร์บอกว่า จะต้องนำเสนอสิทธิประโยชน์ทุกวันที่ชัดเจน มีวิธีการแลกแต้มที่ง่าย ไม่ซับซ้อน  ทุก 10 บาทที่ใช้บริการ ได้ 1 แต้ม และหากจ่ายด้วยแกร็บ เพย์ (Grab Pay) ได้แต้มเพิ่ม 3 เท่า โดยแบ่งลูกค้าออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ซิลเวอร์หรือสมาชิกทั่วไป ,โกลด์ และแพลตินัม ซึ่งการใช้จ่ายแต่ละครั้งจะได้แต้มสะสมไม่เท่ากัน

ตัวอย่างดีลพิเศษสำหรับแกร็บรีวอร์ดสที่น่าสนใจ เช่น เอสแอนด์ดีที่มีกว่า 500 สาขา มอบส่วนลดสูงสุด 33% หรือเซโฟร่าที่ปกติจะไม่ลดราคาบ่อย ๆ โดยจะจัดงานลดราคาเองสำหรับสมาชิกเพียง 3 ครั้งต่อปี ก็จะมอบสิทธิพิเศษที่สามารถใช้ได้ที่หน้าร้านทั้ง 7 สาขา และออนไลน์ สโตร์ ด้วย เป็นต้น

“ด้านผลประโยชน์ที่พันธมิตรจะได้รับ นอกจากจะช่วยกันขยายฐานลูกค้าแล้ว ยังจะได้ Brand  Visibility โดยพันธมิตรหลักจะปรากฎอยู่แถวบนของแกร็บ รีวอร์ดส ทำให้ผู้ใช้งานเห็นได้อย่างเด่นชัด รวมถึงสามารถเชื่อมโยงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคกับแบรนด์ได้อีกด้วย สำหรับเป้าหมายในอนาคตอาจเปิดให้จองตั๋วหนัง และจองตั๋วเครื่องบิน รวมถึงทำทุกอย่างได้เบ็ดเสร็จบนแกร็บ รีวอร์ดสเลย”

GrabExpress รุกโลจิสติกส์ ให้บริการส่งเร็วภายในวันเดียว

เพื่อตอบสนองเทรนด์โลจิสติกส์ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามความรุ่งเรืองของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งสมาคมอีคอมเมิร์ซแห่งประเทศไทยระบุว่าจะเติบโตขึ้น 25% ในปี 2018 นี้ แกร็บจึงตัดสินใจเปิดบริการแกร็บเอ็กซ์เพรสเพื่อรุกตลาด Logistics on Demand ในรูปแบบ Instant Delivery บริการรับส่งสินค้าหรือพัสดุภายในวันเดียว โดยใช้ระยะเวลาเร็วที่สุดภายใน 30 นาที

“ผู้บริโภคไม่อยากรอ ตอนนี้ดีมานด์ไปเร็วกว่าบริการที่ตลาดมีให้แล้ว เขาคาดหวังสูงขึ้นเรื่อย ๆเราก็ต้องตามให้ทัน จากเดิมได้รับสินค้าภายใน 2 วันโอเค 3 วันก็พอได้ แต่ตอนนี้ถ้าสั่งแล้วไม่ได้ในวันรุ่งขึ้นกลายเป็นเรื่องใหญ่”
แกร็บเอ็กเพรสให้บริการด้วยคอนเซ็็ปต์ปลอดภัย รวดเร็ว และไม่ยุ่งยาก ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีจุดเด่นที่สำคัญซึ่งเกิดจากการใช้กลยุทธ์ Segmentation คือ  ให้บริการด้วยรถ 3 ประเภท ได้แก่ จักรยานยนต์ (น้ำหนักสินค้าสูงสุด15 กก.) รถเก๋ง (น้ำหนักสินค้าสูงสุด 100 กก.) และรถกระบะ (น้ำหนักสินค้าสูงสุด 300 กก.) ตามคำความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย ตั้งแต่ส่งของชิ้นเล็กๆ กระทั่งย้ายบ้าน และขนาดของสินค้าหรือสิ่งของที่ต้องการจะส่งรวมถึงสามารถใช้บริการได้สูงสุด 10 คัน ในครั้งเดียว เหมาะสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ที่ต้องการส่งสินค้าให้ลูกค้าหลาย ๆ คน พร้อม ๆ กัน ส่งมากก็จะได้สิทธิประโยชน์มาก

ที่สำคัญคือระบบการยืนยันการรับส่งสินค้าด้วยภาพถ่าย เพื่อป้องกันปัญหาที่มักเกิดขึ้นจากการส่งสินค้าที่สภาพก่อนและหลังไม่ตรงกัน พร้อมกับติดตามด้้วยระบบจีพีเอสแบบเรียลไทม์ สร้างความมั่นใจ และคลายกังวลให้กับทั้งผู้รับและผู้ส่ง ขณะเดียวกันก็มีบริการประกันพัสดุสูญหายและเสียหายโดยร่วมมือกับซันเดย์ บริษัทประกันภัย โดยให้ความคุ้มครอง 5,000-10,000 บาท

ธรินทร์บอกว่าแกร็บเอ็กซ์เพรสนอกจากจะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในโลกอีคอมเมิร์ซได้ดีแล้ว ยังช่วยทำให้คนขับมีรายได้ระหว่างวันเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากงานหลักที่รับส่งผู้โดยสาร ในช่วงเช้าและช่วงเย็น

“ช่วงเวลา 10 โมงเช้า ถึงสี่โมงเย็น เป็นช่วงเวลา Off Peak ของพี่ ๆ วิน  แทนที่จะเอาเวลาไปนั่งเล่นหมากฮอสกัน ก็มารับงานแกร็บ เอ็กซ์เพรส อาจจะรับได้อีก 5-10 งาน ก็จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น”

เบื้องต้นให้บริการในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ก่อนและต่อจากนี้คือ พัทยา และนครราชสีมา ก่อนภายในสิ้นปี 2018 นี้จะเปิดบริการในอีก 14 เมืองที่เหลือ ได้แก่ ขอนแก่น หาดใหญ่ ภูเก็ต สมุย สุราษฎร์ธานี เชียงราย หัวหิน อุบลราชธานี อุดรธานี บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช และกระบี่

ทั้งนี้เดิมทีแกร็บเอ็กซ์เพรส เปิดให้บริการในชื่อของแกร็บ เดลิเวอรี่ (GrabDelivery) มาราวครึ่งปี แต่ไม่ได้มีฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ตรงจุด  สำหรับแกร็บ เอ็กซ์เพรสนั้นเปิดบริการแบบไม่เป็นทางการเมื่อมิถุนายน 2018 ที่ผ่านมา ก่อนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนกรกฏาคมนี้

GrabFood ไปได้สวย ขยายพื้นที่บริการไม่จำกัด

ขณะที่แกร็บฟู้ด ก็เติบโตราว 4-5 เท่า โดย 4-5 เดือน ที่ผ่านมาโตกว่า 440% และจากเดิมที่กำหนดส่งภายในระยะทางรัศมี 5 กิโลเมตร ก็เปลี่ยนเป็นไม่จำกัดระยะทาง เช่นเดียวกับไลน์ แมน (Line Man)  และมีร้านอาหารมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันมีมากกว่า 3,000 ร้านแล้ว หลังจากที่ควบรวมอูเบอร์อีทเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแกร็บฟู้ด ก็ให้บริการส่งฟรีอยู่สักระยะ ก่อนจะปรับโปรโมชั่นเป็นคิดค่าส่งครั้งละ   10 บาท ในขณะนี้ “ฟู้ด เดลิเวอรี่ เป็นโอกาสเติบโตของเอสเอ็มอี เพราะต่อไปร้านอาหารไม่จำเป็นจะต้องเน้นขยายสาขา ไม่ต้องลงทุนมาก มีแค่ครัวกลางก็สามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้นได้ เพราะผู้บริโภคนิยมสั่งอาหารเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบต้องการความสะดวกสบาย และต้องการหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด”

เตรียมปั้น Grab Daily ท้าชน Line Today

แม้ธนินทร์จะไม่ได้บอกอย่างชัดเจน แต่ก็คาดการณ์ได้ไม่ยากว่า แกร็บ เดลี่ จะเปิดหน้าท้าชนกับไลน์ ทูเดย์  (Line Today) แม้ยอดดาวน์โหลดของไลน์จะสูงกว่าแกร็บ อยู่หลายเท่า แต่แกร็บก็กำลังโตวันโตคืน  โดยเฉพาะการเตรียมเปิดพื้นที่สำหรับข่าวสารและสาระน่ารู้ประจำวัน ตลอดจนเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ให้กับพันธมิตรของแกร็บ  นอกเหนือไปจากเกม,การแนะนำร้านอาหาร คาเฟ่ แหล่งช้อปปิ้ง และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ   ที่ให้บริการแบบเบต้าอยู่ตอนนี้ เพื่อต่อยอดไปสู่แพลตฟอร์มสร้างรายได้จากค่าโฆษณา

ต่อไปจะเหมือนมี Sanook.com อยู่ในแกร็บ

ธนินทร์บอกสั้น ๆ ถึง เป้าหมายของการพัฒนาแกร็บ เดลี่ ในอนาคต

GrabMart และ GrabFresh ขออาสาช่วยช้อปปิ้ง

อีก 2 บริการใหม่ ที่จะเปิดให้บริการภายในไตรมาส 3  หรือราวต้นเดือนสิงหาคมนี้ ก็คือ แกร็บมาร์ท และแกร็บเฟรช โดยแกร็บมาร์ท จะเป็นผู้ช่วยในการเลือกจับจ่ายสินค้าที่ร้านสะดวกซื้อและนำส่งถึงประตูบ้านจากร้านสะดวกซื้อของ3 เชนใหญ่ ได้แก่ เซเว่น อีเลฟเว่น,แฟมิลี่ มาร์ท และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ภายใต้งบสูงสุดไม่เกิน 500 บาท

“แกร็บมาร์ทช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย และลดปัญหาการขัดจังหวะในการทำกิจกรรมต่าง ๆ  เช่น ขณะกำลังปาร์ตี้กับเพื่อนฝูง แล้วขนมและเครื่องดื่มหมด ก็ไม่ต้องมีใครเสียสละลงไปซื้อ แกร็บมาร์ทจะเน้นการสื่อสารสองทางที่ชัดเจน ทั้งภาพ ราคา และโปรโมชั่น ณ จุดขาย”

ด้านแกร็บเฟรชร่วมมือกับแฮปปี้เฟรช (HappyFresh) โดย Hooi Ling Tan ผู้ร่วมก่อตั้งแกร็บ ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg  ระบุว่าสินค้าอุปโภคบริโภค(Grocery) ถือเป็นยอดใช้จ่ายประจำครัวเรือนที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นจึงเป็นที่มาของการที่แกร็บลงทุนแฮปปี้ เฟรช ผู้ให้บริการช้อปปิ้งสินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์ซี่งมีฐานอยู่ที่อินโดนีเซีย โดยแฮปปี้ เฟรช จะเป็น Fully embeded ในแอปฯ ของแกร็บ

อย่างไรก็ตามส่ิ่งที่แกร็บจะต้องใส่ใจและให้ความสำคัญไม่ย่ิงหย่อนไปกว่าการนำเสนอบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ Pain Point ของผู้บริโภค ก็คือ ระบบและขั้นตอนการใช้งานต่าง ๆ ที่จะต้องแม่นยำ รัดกุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดต่างที่จะเกิดขึ้นตามมาในขณะใช้งาน ที่อาจจะกลายเป็น Pain Point ใหม่ บน Pain Point เดิมที่ต้องตามแก้ไขไม่จบสิ้น ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่าเดิม.