ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คลิปวิดีโอซักคลิปหนึ่งจากแบรนด์ๆ หนึ่งจะมียอดวิวยอดแชร์ระดับปรากฏการณ์ แบบปล่อยออกมาเพียง 4 ชั่วโมงก็พุ่งผ่านหลักหนึ่งล้านวิวไปได้ แถมผ่านไปเพียงสามวัน ยังมีผู้ชมรวมมากกว่า 10 ล้านวิว และนับถึงตอนนี้มีคนแชร์ต่อมากกว่า 100,000 แชร์ คอมเม้นต์อีกมากกว่า 10,000 คอมเม้นต์ไปแล้ว นี่คือสถิติคร่าวๆ ของคลิป “เขาว่าลูกเราเป็นเด็กเวร” วิดีโอไวรัลที่กำลังมาแรงในช่วงเทศกาลวันแม่ปีนี้ ที่ “เบบี้มายด์” เจ้าตลาดผลิตภัณฑ์เด็ก ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาบน้ำเด็ก เป็นเจ้าของ
คลิปนี้เลือกหยิบประเด็นของ “เด็กเวร” ออกมาเล่า เด็กเวรในที่นี้หมายถึงเด็กๆ ที่ไปสร้างความปั่นป่วนทั้งในร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั่งในรถสาธารณะ ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายคนในโลกออนไลน์มีอารมณ์ร่วมกันมาก และพร้อมจะเข้าไปแชร์ความเห็นในทำนองที่ว่า เด็กพวกนี้ทำไมพ่อแม่ไม่สั่งสอน ปล่อยให้ออกมาสร้างความรำคาญให้คนอื่นในที่สาธารณะทำไม หรือเลยเถิดไปจนถึงว่า ถ้าดูแลลูกไม่ได้ก็ไม่ควรพาออกมาจากบ้าน! ฯลฯ
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นมุมมองจาก “คนอื่น” ที่ดูเหมือนเป็นผู้ถูกกระทำจากฝ่ายเด็กเวร แต่ในวิดีโอนี้เลือกที่จะชี้ให้ทุกคนเห็นเรื่องราวต่อไปว่า แม่ของเด็กที่ถูกมองว่าเป็นเด็กเวรนั้นมีความคิดความรู้สึกอย่างไร และใช้วิธีไหนบ้างในการดูแลลูกๆ ของตัวเอง ทั้งหมดนี้ในรายละเอียดต้องไปคุยกับ กุลวดี ดอกสร้อย Creative Director ของโอกิลวี่ ประเทศไทย ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์คลิปไวรัลคลิปนี้กัน
จุดเริ่มต้นของคลิป “เขาว่าลูกเราเป็นเด็กเวร”
โอกิลวี่ทำงานกับเบบี้มายด์มานาน พอใกล้จะถึงเทศกาลวันแม่ เราก็มีการพูดคุยกันว่า เราอยากพูดมุมไหนของแม่ดีที่จะแตกต่างไปจากที่เราเคยพูดมา และเป็นมุมที่แตกต่างไปจากคนอื่นด้วย อย่างการพูดเรื่องความเสียสละของแม่ก็ถูกพูดมาเยอะและหลากหลายแง่มุมแล้ว สำหรับเบบี้มายด์ positioning ของแบรนด์เราคือ ความเป็นแบรนด์ที่เข้าใจคุณแม่มากที่สุด เป็นเหมือน best friend ของแม่ ทีนี้เรามาเจอประเด็นของการที่คุณแม่ก็มีความกดดันในเรื่องอื่นๆ นอกจากความเสียสละที่ต้องดูแลและทุ่มเทเพื่อลูก การเลี้ยงลูกก็ยากอยู่แล้ว ยังมาเจอเรื่องกดดันภายนอกอีก โดยเฉพาะเรื่องที่ถูกพูดถึงในสังคมพอดีในช่วงนี้ ซึ่งแม่หลายคนถูกมองว่าทำไมไม่สั่งสอนลูกที่ออกมางอแง ออกมาแสดงความดื้อ หรือส่งเสียงดังในที่สาธารณะจนรบกวนคนอื่น อันนี้เป็นที่มาที่เราอยากจะทำวิดีโอซักตัวหนึ่งที่จะเป็นกำลังใจให้คุณแม่ นี่คือจุดเริ่มต้น
ตีโจทย์ให้แตกด้วยการรีเสิร์ชอย่างหนักหน่วง
ทั้งทางโอกิลวี่เองและทางเบบี้มายด์ใช้เวลาในการทำงานร่วมกันในขั้นตอนรีเสิร์ชเยอะมากค่ะ ทั้งการค้นคว้าข้อมูลในประเด็นนี้ มุมมองของคนในโลกออนไลน์ สิ่งที่พวกเขาแสดงความคิดเห็นกัน แล้วก็การไปพูดคุยกับคุณแม่ที่มีลูกในวัยกำลังซน อยู่ในช่วงรอยต่อของวัยที่พอจะเริ่มรู้เรื่องแล้ว พาออกไปนอกบ้านได้แล้ว เพื่อจะรับฟังจากปากคุณแม่ว่า เขาเคยมีประสบการณ์ในลักษณะนี้เองมั้ย หรือไปพบเห็นลูกคนอื่นเป็นอย่างนี้มั้ย หรือเพื่อนมาเล่าให้ฟังในประเด็นนี้ หรือไปเจออะไรในโซเชียลมีเดีย ทั้งหมดนี้เราอยากฟังความเห็นของทุกฝ่ายให้มากที่สุด จนในที่สุด เราเลือก 4 สถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงๆ คือสถานการณ์ของคุณแม่พาลูกไปในห้างสรรพสินค้า ในร้านอาหาร พาไปช้อปปิ้ง และนั่งอยู่ในรถสาธารณะ แล้วลูกเกิดงอแง ซน หรือดื้อ ขึ้นมา เอามาเล่าให้เห็นว่าก็มีเหตุการณ์ที่ทั้งแม่ทั้งลูกตกเป็นจำเลยของสังคมโดยเฉพาะในโลกโซเชียล ทั้งที่ยังมีอีกมุมของการที่แม่พยายามอย่างที่สุดในการจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า
ต้องอธิบายด้วยว่า จากการรีเสิร์ชของเรา เรายอมรับว่า พ่อแม่ที่ทำตัวไม่เหมาะสมก็มีอยู่จริง ไม่ใช่ว่าไม่มี แต่พ่อแม่ที่ทำถูกต้อง ดูแลลูกดีจริงๆ มักจะไม่ค่อยได้รับการพูดถึง แล้วเวลาที่เราเจอเด็กออกไปดื้อข้างนอกบ้าน สถานการณ์จริงมันคือความก้ำกึ่งระหว่างช่วงเวลาที่แม่ก็กำลังจัดการลูกของเค้าอยู่นี่แหละ แต่คนมาเห็นแค่นิดเดียว แล้วก็ตัดสินไปว่าทำไมปล่อยให้ทำอย่างนั้น ทำไมปล่อยให้ร้องโวยวาย ทำไมปล่อยให้ซน ซึ่งไม่มีใครเคยพูดถึงจุดนี้ว่า จริงๆ แล้วแม่ก็กำลังพยายามจัดการอยู่นะ ตรงนี้เราคิดว่าน่าสนใจ เพราะในความเป็นจริงยังมีพ่อแม่ที่พยายามดูแลลูกอย่างดีที่สุดอยู่จริงๆ และบางคนก็จัดการได้ดีมากด้วย
ฟีดแบ็คเปรี้ยงปร้าง!
ก็มีทั้งคนที่เข้าใจสถานการณ์นี้มากขึ้นและคนที่ยังไม่เข้าใจเหมือนเดิม ซึ่งเราคงไปแก้ตรงนั้นไม่ได้ หรือบอกให้ใครเข้าใจมากขึ้นตอนนี้ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เบบี้มายด์ทำตอนนี้ก็คือ เราอยากสื่อไปยังคุณแม่ที่ดูแลลูกอย่างดีที่สุดว่า เราเข้าใจคุณและเป็นกำลังใจให้นะ เพราะการเลี้ยงลูกซักคนมันไม่ใช่เรื่องง่าย หลังจากที่วิดีโอนี้เป็นกระแสขึ้นมา เราก็ได้เห็นคอมเม้นต์ที่หลากหลายมาก บางคนบอกว่า “ลูกฉันไม่เป็นแบบนี้” แต่ก็มีอีกหลายคนที่บอกว่า “ลูกซนมาก แต่ก็พยายามเต็มที่เวลาออกไปข้างนอก” ตรงนี้แสดงให้เห็นชัดเลยว่า ธรรมชาติของเด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่มีสูตรสำเร็จในการเลี้ยงลูกที่ใช้ได้กับทุกคนหรอก เด็กบางคนว่าง่าย ห้ามครั้งเดียวเข้าใจและหยุด จัดการได้อย่างรวดเร็ว บางคนห้ามสิบครั้งก็ยังดื้อ ต้องมีลูกล่อลูกชนแบบอื่น ต้องใช้เวลามากกว่าในการทำให้ลูกหยุดเสียงดัง
คอมเม้นต์หลากหลาย
คอมเม้นต์ที่น่าสนใจยังมีอีกหลายอัน เช่นมีคนบอกว่า “ทำไมต้องสอนกันในที่สาธารณะ ทำไมไม่สอนกันมาตั้งแต่ที่บ้าน” หรือ “ถ้าไม่พร้อมก็ไม่ต้องเอาลูกออกมาจากบ้านสิ” เราอยากบอกว่า จริงๆ คุณแม่หลายคนก็สอนลูกกันมาแล้วจากที่บ้าน จะบอกว่าไม่พร้อม บางทีก่อนออกจากบ้านก็คงเตรียมลูกมาพร้อมแล้วล่ะ ถ้าให้เปรียบเทียบ ก็เหมือนผู้ใหญ่อย่างเรา ที่เวลาเจอของเซลก็จะลืมไปเลยว่าสัญญากับตัวเองแล้วนะ ว่าจะหยุดช้อปปิ้งแล้ว ไม่ซื้ออะไรแล้ว แต่พอเจอของเซลตรงหน้าก็อดใจไม่ไหว เด็กก็เหมือนกัน แม่พูดตกลงกันมาดีแล้วก่อนออกจากบ้าน แต่พอไปเจอของเล่นใหม่ ไปนั่งร้านอาหารแล้วเจอกล่องไม้จิ้มฟันสีสวยๆ ก็อยากเอื้อมมือไปหยิบมาเล่น ทีนี้ถ้าจะให้เด็กอยู่แต่บ้านก็คงไม่ได้ เพราะเด็กต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมด้วย ต้องให้เค้าออกมาเรียนรู้โลกภายนอกด้วย เรียนรู้ว่าอะไรที่ทำได้ทำไม่ได้ข้างนอก ต้องมาเจอของจริง เรียนรู้โลกจริงๆ
อยากให้ผู้ชมได้อะไรกลับไปหลังจากชมวิดีโอนี้
อยากให้ทุกคนเปิดใจให้กว้างอีกสักนิด เห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้นอีกนิดหนึ่ง แน่นอนว่าเรามีสิทธิส่วนบุคคล แต่เด็กก็คือเด็กค่ะ เราต้องเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้และลองผิดลองถูก อย่าเพิ่งกล่าวโทษกันชนิดที่ไม่ต้องให้พ่อแม่พาออกจากบ้านอีกแล้ว ในขณะเดียวกัน เพราะโลกโซเชียลอาจจะทำให้เราเห็นอะไรเร็วและสั้นไปหน่อย แล้วทุกคนก็พร้อมที่จะออกมาแสดงความเห็นที่รุนแรงได้เต็มที่ ก็ต้องให้โอกาสคนเป็นแม่ สังเกตสักนิดหนึ่งก่อนว่าเขาได้สอนลูกอย่างไรไหมเมื่อลูกออกมาทำตัวไม่น่ารักในที่สาธารณะ เพราะไม่มีพ่อแม่คนไหนที่อยากให้ลูกต้องรบกวนใครข้างนอกอยู่แล้วค่ะ