รู้จัก Drop Point Plus ศูนย์บริการรับส่งพัสดุแบบ One Stop Service รวมทุกค่ายมาให้เลือกสรร


ต้องบอกว่าตอนนี้ตลาดอีคอมเมิร์ซได้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี การซื้อของออนไลน์กลายเป็นกิจกรรมอันดับต้นๆ ของคนไทยในการใช้อินเทอร์เน็ตไปแล้ว ซึ่งขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ตลาดโลจิสติกส์มีการเติบโตล้อไปกับตลาดอีคอมเมิร์ซด้วย

ทำให้ได้เห็นผู้เล่นในตลาดโลจิสติกส์ทั้งผู้เล่นในไทย และต่างชาติ ต่างตบเท้าเข้ามาแชร์เค้กในตลาดกันอย่างเนืองแน่น จากเดิมที่ “ไปรษณีย์ไทย” เป็นเหมือนพี่ใหญ่ในตลาด วันนี้ผู้บริโภคต่างมีทางเลือกอื่นๆ ทั้ง Kerry, DHL, TNT และอื่นๆ อีกมากมาย

ด้วยความที่มีผู้เล่นโลจิสติกส์หลายราย และแต่ละรายต่างมีจุดให้บริการเป็นของตัวเอง ทำให้ “เทิดไท แก้วพิชัย” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเก้ จำกัด ได้มองเห็นโอกาสในการเปิด Drop Point Plus (DPP) เป็นศูนย์ให้บริการด้านโลจิสต์แบบครบวงจร รวมผู้เล่นหลายค่ายอย่าง ไปรษณีย์ไทย, DHL , TNT และ CJ ไว้ในที่เดียว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภค

ศูนย์บริการครบวงจรแห่งแรกของไทย จากการพัฒนาโดยคนไทย

Drop Point Plus (DPP) เพิ่งเปิดให้บริการได้ 4 เดือนเท่านั้น อยู่ในช่วงทดลองการเปิดรับตัวแทนสมาชิกในการทำธุรกิจ จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจนี้มาจากการที่ “เทิดไท แก้วพิชัย” ได้ทำงานอยู่ในวงการไอทีมากว่า 16 ปี พร้อมกับได้ทำงานคลุกคลีกับชุมชนท้องถิ่นมาตลอด และได้เห็นการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซซึ่งมีการเติบโตควบคู่กับการขนส่งพัสดุ จึงมองว่าทำไมไม่ทำแพลตฟอร์มที่รวมการขนส่งแล้วให้คนในชุมชนดูแล

สาขาอ่อนนุช

“ในตลาดขนส่งพัสดุมีเบอร์ใหญ่ๆ แค่ไปรษณีย์ไทย และ Kerry นอกนั้นก็เป็นรายย่อยๆ จึงคิดว่าทำไมถึงมีแค่นี้ต้องมีทางเลือกมากกว่านี้ เลยดูว่ามีอะไรให้ทำบ้างเพื่อตอบสนองตลาดที่โตขึ้น จึงคิดว่ารวบระบบขนส่งที่เป็นเจ้าตลาด เจ้าหลักๆ มารวมกัน จากที่แต่ก่อนต่างคนต่างทำการตลาดแยกกัน แล้วดีไซน์ระบบขึ้นมาใหม่ ลูกค้าที่เข้ามาต้องเลือกได้ว่าจะใช้บริการใคร แทนที่จะให้ผู้ให้บริการเลือกเรา

โปรเจ็คนี้ได้เริ่มคิดค้นตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 เทิดไทได้วางระบบทุกอย่างเองหมด และมีโปรแกรมเมอร์ช่วยด้วย ใช้เวลา 3 เดือนจึงออกมาเป็นรูปเป็นร่างแล้วได้ทดลองทำตลาด ซึ่งตัวเทิดไทเป็นคนสงขลา จึงเริ่มเปิด DPP สาขาแรกที่หาดใหญ่ จ.สงขลา ด้วยพื้นที่มาตรฐาน 16 ตารางเมตร ต่อมาได้ขยายมาที่จ.บุรีรัมย์

ที่สำคัญคือ DPP เป็นบริการที่พัฒนาจากทีมคนไทย 100% ทำให้มีความเข้าใจคนไทยจริงๆ รู้ว่าคนไทยบางคนกลัวเทคโนโลยี และภาษาอังกฤษ จึงพัฒนาให้มีการใช้งานง่าย เฟรนด์ลี่ มีบริการให้ครบทั้งหมด หมดกังวลในการใช้งาน

เทิดไทเล่าต่อว่า พาร์ทเนอร์ใหญ่ที่อยากได้สุดคือ “ไปรษณีย์ไทย” เพราะจุดแข็งเยอะ ทั้งระบบโลจิสติกส์ ระยะเวลา พนักงาน จุดส่ง แต่มีจุดอ่อนเรื่องภาครับพัสดุระบบกึ่งราชการ มีระยะเวลาเปิดปิด วันเวลาต่างๆ และหาที่จอดรถยาก เลยคิดว่าถ้ามีบริการที่เข้ามาเสริมให้แข็งขึ้นก็คงจะดี และก็คุยกับพาร์ทเนอร์รายอื่นๆ เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกหลายๆ เจ้า

ทำให้จุดแข็งของ DPP คือเข้ามาแล้วเป็นจุด One Stop Service เลือกส่งพัสดุในประเทศ หรือต่างประเทศก็ได้ เลือกผู้จัดส่งได้ เพราะมีลูกค้าบางคนที่ไม่ใช้ไปรษณีย์ไทยเลยก็มี ก็เลยเลือกใช้บริการผู้ให้บริการอื่นๆ

Drop Point Plus (DPP) มีบริการอะไรบ้าง

ภายในศูนย์บริการ DPP เป็นเหมือนจุด One Stop Service ที่มีบริการหลัก 4 ด้านที่เรียกย่อว่า LPDE แบ่งได้ดังนี้

L หรือ Logistic เป็นการรวมทุกค่ายการขนส่งชั้นนำมาอยู่ในที่เดียวกันทั้งหมดทั้งไปรษณีย์ไทย, DHL , TNT และ CJ เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกใช้ตามใจชอบ จะส่งพัสดุในประเทศ หรือต่างประเทศก็ได้ โดยคิดค่าบริการตามจริงเหมือนไปใช้บริการที่ศูนย์ของแต่ละที่ ไม่มีการบวกเพิ่มแต่อย่างใด ทำให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และประหยัด นอกจากนี้ยังมีบริการรับพัสดุถึงที่สำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจและลูกค้า SME โดยไม่มีคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม P หรือ Pay Station เป็นบริการรับชำระค่าสินค้า และบริการในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะจ่ายบิล ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำค่าไฟ D หรือ Drop Point เป็นบริการ Click and Collect สั่งสินค้าออนไลน์แล้วสามารถไปรับสินค้าที่จุดต่างๆ ของ DPP ได้ โดยจะทำการร่วมมือกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายต่างๆ E หรือ E-Commerce ปัจจุบันได้มีการลงนามพัฒนาระบบขายประกันออนไลน์กับบริษัทประกันภัยในตลาดหลักทรัพย์ เรียกว่า Micro Insurance ซึ่งจะทำให้ DPP สามารถขายประกันได้ทุกรูปแบบที่ไม่ใช่ประกันชีวิต (Non Life) เช่น ประกันอัคคีภัย ประกันการเดินทาง และประกันการขนส่ง

รูปแบบการให้บริการจะแบ่งเป็น 2 โมเดล ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ โมเดลเล็กจะมีบริการจัดส่งพัสดุ และชำระบิล ส่วนโมเดลใหญ่จะมีบริการครบ LPDE

สาขาอ่อนนุช

โมเดลธุรกิจเพื่อชุมชน เน้นขยายด้วยแฟรนไชส์แบบป่าล้อมเมือง

ด้วยความที่เทิดไทเป็นคนสงขลา และได้ทำงานอยู่กับชุมชนมาโดยตลอด จึงเข้าใจว่าตลาดมีความต้องการอะไร แต่ไม่มีใครลงมาพัฒนาเป็นรูปธรรม เป็นการสร้างแพลตฟอร์มเเพื่อคนในชุมชน เหมือนเป็น Social Enterprise แบบกลายๆ ที่ให้คนในชุมชนชนมีรายได้

“ในตอนที่ศึกษาตลาดนั้นได้เริ่มจากการเดินเข้าไปหาพ่อค้าแม่ค้าในตลาด รู้ว่ามีปัญหาเรื่องการใช้เวลาในการรอส่งพัสดุนานมาก มีพ่อค้าแม่ค้าเข้านั่งเฝ้าในไปรษณีย์ไทยเป็นครึ่งวันก็มี ยิ่งช่วงเวลาพีคๆ ก็ไม่มีทางเลือกอื่น ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มลูกค้าในท้องถิ่นเยอะมาก ชุมชนขายทุเรียน หรือสินค้าอื่นๆ แต่ก่อนต้องรวมสินค้าขายรวมกันไปส่งในเมือง แต่บริการนี้ทำให้สะดวกขึ้น เป็นการไดเร็คเข้าหาลูกค้า”

เทิดไทมองว่าเริ่มธุรกิจจากในต่างจังหวัดก่อน เพราะในกทม.มีผู้เล่นที่มีศักยภาพเยอะ และคู่แข่งเยอะ จึงเริ่มต้นจากบ้านเกิดที่จังหวัดสงขลา แล้วขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ทำเลส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ชุมชน หรือตลาดต่างๆ

ปัจจุบันมีศูนย์ให้บริการที่คอยประสานงานจากศูนย์ใหญ่อยู่ 9 แห่งทั่วประเทศ เป็นศูนย์ที่คอยติดต่อประสานงานกับตัวแทนรายย่อยที่ปัจจุบันมีกว่า 140 สาขา มีการตั้งเป้า 600 สาขาในปีนี้ เป็นแฟรนไชส์ทั้งหมด 400 สาขา จากที่ตอนนี้มีแฟรนไชส์ราว 40%

ในการขยายธุรกิจนั้น DPP ยังได้พาร์ทเนอร์อย่าง Advice ร้านค้าปลีกด้านไอทีที่มีมากกว่า 400 สาขาทั่วประเทศ แต่เป็นจุดให้บริการ DPP กว่า 100 สาขา จุดเด่นของการจับมือกับ Advice คืออยู่ในทำเลที่ดี มีจุดแข็งด้วยการที่เป็นนักธุรกิจท้องถิ่นตัวจริง ทำให้เข้าใจตลาดรู้ว่าชุมชนต้องการอะไร เปิดให้บริการทุกวัน เป็นการช่วยในการทำตลาดด้วย

ส่วนที่กทม. สาขาแรกเปิดที่ซอยนวลจันทร์ โดยปัจจุบันมีสาขาในกทม. 6 สาขา และยังมีที่รอการยืนยันอีกกว่า 10 จุด โดยเทิดไทได้บอกว่ามีผลตอบรับค่อนข้างดี มีทราฟิกผู้ใช้บริการเฉลี่ยถึงวันละ 100 ชิ้น และเริ่มมีคนจองสิทธิ์เป็นแฟรนไชส์ในกทม. 100 กว่ารายแล้ว

สาขาหาดใหญ่

ลงทุนเริ่มต้น 29,990 บาท ก็เป็นเจ้าของธุรกิจได้

DPP จะขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์เป็นหลัก เน้นทำเลให้คนในชุมชนได้เป็นเจ้าของกิจการ ใครมีบ้านในทำเลดีๆ ในชุมชมแล้วมีพื้นที่ด้านหน้าก็สามารถเปิดจุดให้บริการ DPP ได้ หรือบางคนที่มีกิจการร้านซักอบรีด ร้านขายของชำอยุ่แล้ว แต่อยากเปิดเพิ่มก็ได้

จุดให้บริการ DPP ใช้พื้นที่มาตรฐานเพียงแค่ 16 ตารางเมตร มี 2 โมเดล โมเดลเล็กมีบริการจัดส่งพัสดุ กับชำระบิลต่างๆ และโมเดลใหญ่คือมีบริการ LPDE ครบวงจร

ส่วนการลงทุนของแฟรนไชส์มี 5 แพ็คเกจด้วยกัน เริ่มต้นที่ 29,900 บาท 59,900 บาท 99,900 บาท 199,000 บาท และ 299,000 บาท ความแตกต่างขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ เริ่มต้นเป็นจุดรับส่งพัสดุได้ เตรียมแค่มีคอมพิวเตอร์ที่ต่ออินเทอร์เน็ตได้ก็พอ

สาขาบุรีรัมย์

สำหรับเกณฑ์การเลือกทำเลที่ตั้งนั้น จะต้องเป็นพื้นที่อยู่ในชุมชน เข้าถึงได้ง่าย และผู้ให้บริการจะต้องมี Service Mind ชอบบริการ มีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ได้ โดยกำหนดให้แต่ละร้านมีรัศมีห่างกัน 2 กิโลเมตร

ส่วนรายได้นั้นจะมีการแบ่งรายได้ตามเปอร์เซนต์ ส่วนใหญ่จะเฉลี่ยอยู่ที่ 15% แต่การคืนทุนนั้นก็ขึ้นอยู่กับขนาดของร้าน ซึ่งจุดเด่นของ DPP อีกอย่างหนึ่งคือระบบรองรับได้ตลอด 24 ชั่วโมง จุดให้บริการจะเปิด 24 ชั่วโมงก็ได้ เพียงแต่การส่งของให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ตามรอบเวลาเท่านั้นเอง

ถึงแม้ว่าจุดให้บริการของ DPP จะอยู่ในต่างจังหวัดเสียส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ทิ้งตลาดในกทม.อย่างแน่นอน ซึ่งเทิดไทบอกว่าโอกาสในตลาดกทม.ยังมีอยู่มาก เพราะสินค้า หรือพ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่อยู่กทม.ทั้งสินค้า ในอนาคตก็ต้องทำตลาดในกทม.ด้วย แต่สิง่ที่สำคัญคืออยากได้กลุ่มผู้ประกอบการทั่วประเทศ หลากหลายอาชีพ และได้ช่วยเหลือชุมชนในการทำธุรกิจ

เทิดไทได้ทิ้งท้ายถึงความท้าทายของการทำ DPP ไว้ว่า “ตลาดโลจิสติกส์เติบโตสูง มีคู่แข่งเยอะ ถ้าเราสร้างระบบโลจิสติกส์แข่งกับตลาดได้ ถึงแม้เราไม่ใช่คนทำระบบเอง แต่ต้องทำเป็นกองทัพมดรวบรวบคนจากท้องถิ่นจับมือกัน สร้างสังคมกลุ่มนักธุรกิจท้องถิ่น จากที่เป็นลูกค้าก็เปลี่ยนเป็นเจ้าของธุรกิจเอง สุดท้ายแล้วผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์ เพราะได้รับริการที่โดนใจ สะดวกสบาย”

สาขาสตึก

สำหรับใครที่สนใจอยากร่วมลงทุนธุรกิจกับ DPP สามารถข้อมูลเพิ่มเติม www.droppointplus.com และ www.facebook.com/droppointplus โดยติดต่อจองสิทธิ์จากฝ่ายขายก็สามารถเปิดระบบได้ภายใน 24 ชั่วโมง